“ระบบตรวจสุขภาพแรงงาน” ใหม่ หวังช่วยแรงงานไทยทำงานปลอดภัยได้จริง
เป็นนิมิตหมายที่ดีไม่น้อย เมื่อภาครัฐและสังคมหันมาใส่ใจคุณภาพชีวิตแรงงานด้านความปลอดภัยอย่างจริงจัง หลังเหตุการณ์โศกนาฎกรรมเพลิงไหม้ โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม เมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมา คร่าชีวิตคนงานไปถึง 188 ราย บาดเจ็บกว่า 400 ราย และยังตราตรึงในความทรงจำของใครหลายคนจวบทุกวันนี้ จนกลายเป็นที่มาของ “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” 10 พฤษภาคม ของทุกปี
ที่บอกว่าเป็นเรื่องดี เนื่องจากในงาน “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ปี 2556” กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ส่วนแยกตลิ่งชัน) จับมือกับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมผลักดันแผนพัฒนาระบบตรวจสุขภาพแรงงานแบบใหม่ ให้คุ้มทุนกับค่าใช้จ่ายตรวจสุขภาพที่ต้องเสียไป หลังวิจัยพบใช้งบพุ่งแต่สุขภาพพนักงานไม่รุ่ง โดยขอเวลาพัฒนาระบบที่ว่านี้ 2 ปี เพื่อใช้นำร่องกับ 50 องค์กรต้นแบบรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน aec ภายในปี 2558 นอกจากนี้ ยังผนึกพลังเร่งสร้างต้นปแบบงานความปลอดภัยตามกฎหมาย ผ่านการลงนามความร่วมมือ “สร้างต้นแบบงานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน” ด้วย
ทั้งนี้ ช่วงเวลาเปิดงานอย่างเป็นทางการ เผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แจงถึงความพร้มในการยกระดับความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการ โดยระบุว่าที่ผ่านมารัฐพยายามสร้างรากฐานด้านความปลอดภัยของแรงงาน และขณะนี้รอเพียงการสานต่อจากภาคธุรกิจและสังคมที่จะหยิบนำไปปรับใช้ให้เกิดรูปธรรม
“ครบรอบ 2 ทศวรรษของการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ กระทรวงแรงงานเองได้พัฒนางานด้านความปลอดภัยในการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านมาตรฐานกฎหมาย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงงานงาน กล่าว
เผดิมชัยกล่าวต่อว่า ปัจจุบันเรามีพร้อมทั้งระเบียบวาระแห่งชาติ แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี ปี 2550 พระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อีกทั้งยังจัดตั้งกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อระดมทุนสำรองให้ผู้ประกอบการกู้ยืมนำไปสนับสนุนให้สถานประกอบการพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยให้มีมากขึ้น นอกจากนี้ ยังจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อันเป็นหน่วยงานที่จะช่วยให้รัฐดำเนินงานในด้านดังกล่าวให้ประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น
ส่วนเหตุที่ต้องรื้อระบบตรวจสุขภาพของแรงงานและพัฒนาขึ้นใหม่นั้น ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. เผยข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งกระตุกแนวคิดการสร้างความปลอดภัยในที่ทำงานแก่ผู้ใช้แรงงานให้เดินได้อย่างถูกทางมากขึ้น โดยสถานการณ์การตรวจสุขภาพแรงงานไทยในสถานประกอบการล่าสุด พบ 3 ปัญหาสำคัญ คือ 1.สถานประกอบการมีค่าใช้จ่ายการตรวจสุขภาพพนักงานประจำปีที่ค่อนข้างสูง เพราะใช้โปรแกรมตรวจสุขภาพแบบเหมารวมไม่ได้ตรวจตามความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานและช่วงอายุที่เหมาะสม 2.ผลการตรวจสุขภาพประจำปี ไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลสุขภาพของพนักงาน และ 3.ไม่มีการบริหารจัดการ หรือขาดการติดตามผลการตรวจสุขภาพของพนักงานในระดับบุคคล เช่น การบันทึก ติดตามผล ตลอดจนแนวโน้มความเสี่ยงของการเกิดโรค
“ทุกวันนี้ สถานประกอบการทั่วประเทศเสียค่าตรวจสุขภาพของพนักงานปีละเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท แต่กลับใช้ผลตรวจสุขภาพนี้ไม่เต็มที่เพราะตรวจไปตามหน้าที่ที่กฎหมายระบะไว้เท่านั้น แต่ไม่ได้นำผลที่ได้มาปรับปรุงคุณภาพอะไร ด้านหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้ดูอย่างจริงจังว่าแรงงานไทยมีคุรภาพชีวิตที่ปลอดภัยจริงหรือไม่ เท่ากับเสียเงินเปล่า พนักงานก็เสียเวลาด้วย” นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. เสริมถึงปัญหาที่ทำให้แรงงานไทยทำงานอย่างไม่ปลอดภัยแบบแท้จริง
จากการสอบถาม นพ.ชาญวิทย์เพิ่มเติมทำให้ทราบด้วยว่า แนวคิดการพัฒนาระบบตรวจสุขภาพแรงงานแบบใหม่ที่เหมาะสมกับแรงงานไทยทุกประเภทไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาต่อจิ๊กซอว์ให้มีประสิทธิภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นและเสริมส่วนที่ขาดเข้าไป อย่างไรก็ดี เจ้าตัวคาดว่าความร่วมมือกันครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาระบบตรวจสุขภาพแรงงานไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปประเมินร่วมกับมาตรการและนโยบายทางกฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ต้องอาศัยข้อมูลด้านสุขภาพของแรงงาน 30-40 ปีเป็นฐาน (ที่ผ่านมาไทยเก็บไว้เพียง 1-2 ปีเท่านั้น) เพื่อพัฒนากลยุทธ์สร้างตนแบบงานที่มีความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจที่ดีได้ไม่ยาก
และเป็นเรื่องน่ายินดีที่เบื้องต้นมี 50 องค์กร อาทิ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กลุ่มบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง และนิยมอุตสาหกรรมอมตะนครยินดีเข้าร่วมโครงการเพื่อดูแลความปลอดภัยของแรงงานให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว
“เมื่อกฎหมายเอื้อแล้ว การขับเคลื่อนระบบการตรวจสุขภาพแรงงานแบบใหม่นี้คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป จากนี้ สสส.จะร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะจัดสร้างระบบตรวจสุขภาพต้นแบบขึ้น โดยจะเน้นให้ตรงกับความเสี่ยงในการทำงานหรือโรคที่อาจเป็นจากการประกอบอาชีพ และมองเรื่องจิตวิทยาและสังคมการทำงานเข้าไปด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาคนไม่ให้ความสนใจแต่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเรื่องสังคมการทำงานในองค์กรมาก ถ้าไม่มีความไว้วางแล้วเขาพร้อมลาออกทันที อย่างไรก็ดี การมีระบบตรวจสุขภาพแรงงานที่ดีย่อมช่วยให้ประหยัดงบ เพิ่มศักยภาพแรงงาน ลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นเพราะมีการป้องกันเบื้องต้นไว้ก่อน” ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส.กล่าว
ด้าน ดร. ชัยยุทธ ชวลิตนิธิกุล คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หัวเรือใหญ่ของการขับเคลื่อนระบบตรวจสุขภาพแรงงานแบบใหม่ของไทย เปรยว่า สิ่งที่อยากทำไปพร้อมๆ กับการออกแบบระบบตรวจสุขภาพแรงงานใหม่ ที่จะเน้นการตรวจจากความเสี่ยงในการทำงาน เสี่ยงตามอายุและเพศ ก็คือการ “สร้างศูนย์เสริมสุขภาพในโรงงานอุตสาหกรรม”
“เท่าที่คุยกับหมอชาญวิทย์และวิเคราะห์กันทำให้เรารู้ว่าทรัพยากรบุคคลในแต่ละโรงเรียนมีศักยภาพมากพอ ทีเราจะเลือกหยิบมาใช้สร้างศูนย์ที่ว่าผ่านการตั้งเป็นคณะกรรมการดูแล เพื่อให้เขาได้ค้นหาปัญหาของตัวเอง และเมื่อเจอแล้ว ก็หาวิธีจัดการบรรเทาความเสี่ยงในการทำงานนั้นๆ ได้ หรือไม่ก็สามารถจัดระบบการตรวจสุขภาพของสถานประกอบการเสียใหม่ให้เหมาะกับองค์กรของตนเอง ทั้งนี้ คาดว่าระบบตรวจสุขภาพแรงงานใหม่นี้จะใช้เวลา 2-3 ปี ในการพัฒนา”
ท้ายนี้ ดำรงค์ เปรมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ส่วนแยกตลิ่งชัน) ฝากบอกว่า สิ่งที่ภาครัฐ ภาควิชาการ และ สสส. จับมือกันทำอยู่นี้ ไม่ได้เป็นการไปเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการแต่อย่างใดแต่หากเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และยังได้กำไรเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงาน อันจะมีผลไปถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นของสถานประกอบการ และเมื่อจัดทำสำเร็จเป็นคู่มือจะไม่มีการแจกฟรีเด็ดขาด แต่จะคัดเลือกมอบให้แก่องค์กรที่ตั้งใจอยากให้พนักงานมีความปลอดภัยในการทำงานจริงๆ เท่านั้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์