ระดมมาตรการทางกฎหมาย ยุติปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

หยุดทำร้ายกันสักทีได้ไหม

ระดมมาตรการทางกฎหมาย ยุติปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี  

          คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสมาชิก นำโดย นางยุวดี นิ่มสมบุญ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้จัดสัมนาเรื่อง มาตรการทางกฎหมายกับการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ในโอกาส วันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ในการที่จะเข้าถึงสิทธิต่างๆ เมื่อเกิดปัญหาความรุนแรง ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องได้มีความตระหนักในการที่ร่วมกันยุติปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ณ ห้อง 301 ชั้น 3 อาคาร ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต

 

          ในการสัมมนามี รศ.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 เป็นประธานเปิดงาน โดยมี  นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศาสนติ์ ,นายแพทย์ 10 วช. กรมสุขภาพจิต ,นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ผู้ทำงานด้านเด็ก ,พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี เลขานุการกรรมการธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสมาชิก และ นายปรีชา สรวิสูตร รองผู้อำนวยการสำนักกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมการเสวนา

 

          รศ.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ได้กล่าวเปิดงานว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรีที่เกิดขึ้นมีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นผลจากสังคมในอดีตที่ยกย่องบุรุษมากกว่าสตรี ที่มีกำหนดไว้ในประเพณีและกฎหมาย การถูกจำกัดสิทธิ ตลอดจนการจะใช้สิทธิของสตรีก็ต้องอาศัยบุรุษเป็นสื่อกลาง ทำให้อยู่ฐานะที่ต้องพึ่งบุรุษและจำยอมโดยปริยาย แม้ในสังคมปัจจุบันรูปแบบโครงสร้างสังคมไทยเปลี่ยนไปมากก็ตาม กล่าวคือ สตรีมีการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากบุรุษน้อยลง แต่ด้วยสภาพสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ที่ตีกรอบเอาไว้ก็ยังทำให้สตรีและเด็กตกเป็นเหยื่อความรุนแรงอยู่มาก และรูปแบบของการกระทำความรุนแรงก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งล้วนเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไม่ควรมองข้าม และต้องช่วยกันขจัดความรุนแรงเหล่านั้นให้หมดไป

 

          นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ผู้ทำงานด้านเด็กมานาน กล่าวถึงรูปแบบการกระทำความรุนแรงไม่ได้มีแค่เด็กและสตรี โดยมีผู้ชายในครอบครัวเป็นผู้กระทำความผิดเท่านั้น แต่ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ยังมีอีก 4 รูปแบบที่ไม่ควรมองข้าม ได้แก่ 1.ความรุนแรงเกิดขึ้นโดยเด็กกระทำต่อเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว และรุนแรงมากขึ้น 2. แม่วัยรุ่นกระทำต่อลูก เป็นวิกฤตใหม่ของสังคม ที่แม่วัยรุ่น 13-14 ปีเพิ่มขึ้น และยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้เกิดความเครียดแล้วไปลงกับลูก 3. การที่เด็กเป็นนกต่อ หรือเป็นแม่เล้า ชักชวนเด็กด้วยกันไปขายบริการ และ 4. อินเตอร์เน็ต เป็นสื่อรวดเร็วที่เรายังเข้าไปควบคุมได้ยาก ทำให้เด็กและวัยรุ่นเข้าไปดูข้อมูลที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย ก็ทำให้เกิดความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งกฎหมายที่มีอยู่ตามไม่ทัน และไม่สามารถนำมาใช้ เพราะผู้กระทำผิดเป็นเด็ก

 

          พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี เลขานุการกรรมการธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสมาชิก กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นตำรวจปฏับัติหน้าที่อยู่ต่างจังหวัดมาตลอด จะได้พบเห็นปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรีมามาก ได้มีโอกาสไปดูงานในหลายจังหวัด ได้พบเห็นภาพสะท้อนใจหลายครั้ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีมากกว่าที่เราเห็นตามสื่อต่างๆ มีเพื่อนคณะอนุกรรมการที่ไปประชุมที่ประเทศมาเลเชีย ได้รับข้อมูลมาว่า ประเทศที่การกระทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรีมากที่สุดอยู่ที่แอฟริกาใต้ ส่วนภูมิภาคเอเชียมี 2 ประเทศที่มีตัวเลขความรุนแรงมากที่สุดคือ พม่า และ ไทย ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าความรุนแรงของประเทศไทยที่เกี่ยวกับเด็กและสตรีมีมากมายมหาศาล

 

          นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศาสนติ์ นายแพทย์ 10 วช. กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า พรบ.ความรุนแรงในครอบครัวหลังจากประกาศใช้กลับพบว่ามีสถิติที่สตรีและเด็กถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้น แต่กลับมีผู้เข้าถึง พรบ.ฉบับนี้น้อยมาก โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงจากครอบครัว มีการเก็บข้อมูลว่าสิ่งที่ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวยังมีอยู่นั่นคือ ความลับเมื่อภรรยา หรือลูกถูกกระทำความรุนแรงจากสามี พ่อ จะทำให้ไม่กล้าที่จะร้องเรียนด้วยคิดว่าเป็นเรื่องในครอบครัว หรือกลัวว่าถ้าบอกไปแล้วสามีจะถูกจับ ทำให้ครอบครัวแตกแยก

 

          ถ้ารัฐสามารถทำให้เขาเข้าใจได้ว่าสิ่งนี้คือสิทธิ ที่เขาสามารถจะกระทำได้ เพื่อให้ความรุนแรงยุติ นอกจากผู้เป็นเหยื่อเข้ามาขอรับการบริการแล้ว ทุกภาคส่วนต้องมามีบทบาท เริ่มจาก ชุมชน โรงพยาบาล สาธารณชุมชน และโรงเรียน เพราะเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้กับเหยื่อมากที่สุด ที่จะทำให้ความลับหมดไป และเหยื่อเข้าถึง พ.ร.บ.ฉบับนี้มากที่สุด อีกประเด็นหนึ่ง ได้แก่ กระบวนการช่วยเหลือที่สำคัญ คือ การแยกแยะความผิด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการศาลเสมอไป เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องรู้วิธีการแยกแยะผู้กระทำความรุนแรง ใน 3 ระดับ คือ อยู่ในระดับที่อบรม ตักเตือนได้ หรืออยู่ในระดับที่ต้องเข้ารับการบำบัด และกลุ่มสุดท้ายหนักสุด จะต้องเข้าสู่กระบวนการศาล ซึ่งใน 2 ระดับแรกจะช่วยให้สถานภาพทางครอบครัวยังดำรงอยู่ได้

 

          นายปรีชา สรวิสูตร รองผู้อำนวยการสำนักกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวบังคับใช้ได้ผล คือ เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือแม้แต่เจ้าหน้าของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เอง มีความเข้าอกเข้าใจกฎหมายฉบับนี้มากน้อยเพียงใด และเนื่องจากพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นสิ่งใหม่ เราจะสามารถหยิบเอาสิ่งใหม่นี้ไปทำให้เกิดจิตสำนึกในการปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างไร เพราะเราเสียงบประมาณในการอบรมเจ้าหน้าที่มากมาย แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจหรือนำไปใช้ไม่ได้เท่าที่ควรก็เปล่าประโยชน์ ที่จะทำให้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีหมดไป

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

update 04-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย :  อภิชัย วรสิทธิ์ขจร

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code