ระดมพลังสังคมเท่าทัน ต้าน พนันไม่ล้ำเส้นเสี่ยง

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจาก สสส.


ระดมพลังสังคมเท่าทัน ต้าน พนันไม่ล้ำเส้นเสี่ยง thaihealth


เชื่อว่าหลายคนคงยังไม่รู้ว่า  "โรคติดพนัน" ถือเป็นโรคที่องค์การอนามัยโลกได้จัดให้เป็นโรคทางจิตเวช ชนิดหนึ่ง


นั่นเพราะ "โรคติดพนัน" ถือเป็นกลุ่มความผิดปกติเกี่ยวกับจิต พฤติกรรม หรือพัฒนาการทางระบบประสาท ที่สำคัญ หลายคนที่เลิกไม่ได้ มักเกิดปัญหาในชีวิตตามมา เช่น ปัญหาสุขภาพจิต สุขภาพกาย หนี้สิน ครอบครัว การใช้ความรุนแรง อาชญากรรม ฯลฯ

รู้จักโรคติดพนัน



หากเราจัดระดับการพนันอาจพบได้ว่า มี 3 ระดับ ได้แก่ 1. Social Gambling การเล่นการพนันอย่างเหมาะสม คือ การเล่นเพื่อความบันเทิง ในส่วนนี้ รัฐสามารถจัดให้อย่างเหมาะสม 2. Problem Gambling การเล่นมากจนเกิดปัญหา ส่วน 3. Pathological Gambling โรคเสพติดการพนันตามที่องค์การอนามัยโลกบัญญัติ


ระดมพลังสังคมเท่าทัน ต้าน พนันไม่ล้ำเส้นเสี่ยง thaihealth


"การพนันเป็นการเสพติดพฤติกรรม เพราะการพนันสร้างความตื่นเต้นทำให้เรา ถลำลึกขึ้นเรื่อยๆ" ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน  ปี 2562 "สังคมเท่าทัน การพนัน ไม่ล้ำเส้นเสี่ยง" ที่จัดโดย สสส. ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย



"หลายคนอาจสงสัยว่าการพนันกับสุขภาพเกี่ยวข้องกันอย่างไร การพนันถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในด้านการเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสังคม  ซึ่งพิษภัยของการพนันนั้นส่งผลต่อสุขภาวะ โดยรวมในหลายมิติ"


ผู้จัดการกองทุนสสส. เอ่ยต่อว่า สสส. ริเริ่มแผนงานลดปัญหาจากการพนันมาตั้งแต่ ปี 2553 ประสานและเชื่อมโยงการทำงานกับทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายให้สังคมตระหนัก และร่วมกันจัดระเบียบการพนัน โดยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างเท่าทัน



โดยอีกเป้าหมายสำคัญคือการผลักดันขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายสาธารณะและมาตรการต่างๆ ที่จะต้องมีทิศทางไม่เพิ่มพื้นที่การพนัน รวมถึงส่งเสริมการพัฒนากลไกแก้ปัญหาจากฟากฝั่งภาคนโยบายเพื่อสร้างทางออก อีกหนึ่งแผนขับเคลื่อนสำคัญ สสส. สนับสนุนให้ตั้งกองทุนจากภาษีการพนันเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการป้องกันและลดปัญหาจากการพนัน และจัดให้มีบริการสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาติดการพนัน ทั้งตัวคนเล่นและคนใกล้ชิด



"ในระยะยาวเรามองว่าแผนงานนี้ควรแยกส่วนออกจาก สสส. โดยประเทศไทยควรมีการจัดเก็บภาษี และตั้งกองทุนจากภาษีจากการพนันต่างๆ มาใช้ประโยชน์ ทางสังคม และช่วยลดปัญหาสังคมด้านนี้ ซึ่งในต่างประเทศที่อนุญาตให้เล่นการพนัน ส่วนใหญ่จะมีบทบัญญัติควบคุมเข้มงวด หลายประเทศมีการตั้งคณะกรรมการ ลดผลกระทบจากการพนัน เพื่อสร้างสมดุลในสังคมไม่ให้ผู้ที่เล่นก้าวเลยไปสู่ภาวะเสี่ยงที่นำมาซึ่งผลกระทบมากมาย" ดร.สุปรีดาเอ่ย


ระดมพลังสังคมเท่าทัน ต้าน พนันไม่ล้ำเส้นเสี่ยง thaihealth


พนันบอล-หวยใต้ดิน ยังฮ็อตนำโด่ง


ข้อมูลจากฝ่ายวิชาการ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหา การพนัน (CGS) เปิดโผสถานการณ์พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย ประจำปี 2562 ว่า


จากการที่ CGS ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ดำเนินโครงการศึกษาและเก็บข้อมูลกับประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปทั้ง 77 จังหวัด รวม 44,050 ตัวอย่าง โดยพบว่าในปีล่าสุด  คนไทยยังคงมีประสบการณ์เล่นการพนันสูง ถึงร้อยละ 57 หรือประมาณ 30.42 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 1.49 ล้านคนเทียบกับปี 2560


"ในจำนวนนี้เป็นนักพนันหน้าใหม่  7 แสนกว่าคน แม้พบว่านักพนันส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วงวัยทำงาน แต่น่ากังวลใจที่เยาวชนอายุ 15-18 ปี เล่นการพนันประมาณ 7.33 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20.9 ของกลุ่มประชากรวัยนี้ ขณะที่เยาวชน อายุ 19-25 ปี เล่นการพนันประมาณ 3.05 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 46.3 ของกลุ่มเยาวชน และอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าห่วงใยคือ กลุ่มผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป เล่นพนันประมาณ 3.35 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 42.2 ของกลุ่มผู้สูงวัย โดยปัจจุบันอายุของเยาวชนไทยที่เริ่มเล่นพนันครั้งแรกต่ำสุด อยู่ที่ 7 ขวบ" รศ.ดร.นวลน้อย กล่าว



ส่วนการพนันยอดนิยม 5 อันดับแรกยังคงเหมือนกับผลสำรวจปีที่ผ่านๆ มา ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน  ไพ่ พนันทายผลฟุตบอล และไฮโล/โปปั่น/น้ำเต้าปูปลา ในส่วนพนันออนไลน์พบว่าคนไทยเคยเล่น ร้อยละ 7.4 หรือประมาณ 3.19 ล้านคน


แต่หากดูจากวงเงินที่หมุนเวียนในตลาดพนัน จะพบว่า พนันทายผลฟุตบอลมาเป็นอันดับ 1 มีวงเงินพนันหมุนเวียนมากถึง 160,542 ล้านบาท ตามมาด้วยหวยใต้ดิน 153,158 ล้านบาท และสลากกินแบ่งรัฐบาล 150,486 ล้านบาท


โดยผอ. CGS เสริมว่ากลุ่มเยาวชนและผู้สูงอายุกำลังเป็นกลุ่มที่หลายฝ่ายควรให้ความสนใจ เนื่องจากการพนันออนไลน์ที่กำลังเติบโตสามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ส่วนผู้สูงอายุปัญหานี้เป็นอีกเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม เพราะจากสถิติที่พบทั้งในประเทศไทย  รวมถึงในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีปัญหา ผู้สูงวัยติดการพนันเพิ่มขึ้น

พนันกับสมอง



ระดมพลังสังคมเท่าทัน ต้าน พนันไม่ล้ำเส้นเสี่ยง thaihealth


ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ยืนยันว่าการพนันเป็นการทำลายสมองและพัฒนาการของอนาคตของชาติ


"เราไม่เคยทำให้ถูกเข้าใจว่า การพนันเป็นเกมที่ทำลายสมองของเด็กและเยาวชนอย่างถาวร เพราะเด็กมีโอกาสในการพัฒนาสมองในช่วงอายุแรกเกิดถึง 20 ปี หากในช่วงนี้ เขาไปเล่นเกมการพนันสมองที่ทำงานหนักคือสมองส่วนกลาง แต่สมองที่ทำงานน้อยคือสมองส่วนหน้า ที่เป็นส่วนของการยับยั้งชั่งใจ เคยมีงานวิจัยพบว่าผู้ที่ติดการพนันส่วนใหญ่เคยมีประวัติเล่นหรือติดการพนันตั้งแต่เด็ก ซึ่งทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการติดสิ่งอื่นๆ ต่อไป"


ดร.ธีรารัตน์อธิบายต่อว่า แม้ปัจจุบันความตระหนักรู้เรื่องการพนันเพิ่มขึ้น ระดับหนึ่ง แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติมองว่าการพนันเป็นเรื่องปกติ และไม่ใช่ สิ่งผิดเหมือนอย่างสารเสพติด เหล้า หรือบุหรี่ โดยเฉพาะการเล่นไพ่ การเล่นหวย หรือสลากกินแบ่งคนไทยยังมีมุมมองว่า เป็นเรื่องธรรมดา


"การพนันไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะเป็นเรื่องของความเสี่ยง มีการวางเดิมพัน  และมีรางวัลเป้าหมาย ซึ่งในหลายประเทศมองว่า แม้แต่กีฬาอีสปอร์ตยังถูกจำกัด ในกลุ่มเกมการพนัน แต่การพนันที่กำลังเป็นปัญหาต่อเยาวชนมากขึ้น คือการพนันออนไลน์ เพราะมีความสะดวก ไม่ต้องแสดงตัวตน ในการเข้าเล่น แม้เป็นเด็กก็ได้ ทำให้คนโอกาสติดมากขึ้นถึง 5-10 เท่า สิ่งที่น่าตกใจ คือเด็กไทยเริ่มมีโอกาสให้เล่นการพนันได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะมีสื่อที่เข้าถึงมือเด็ก อย่างใกล้ชิดผ่านโทรศัพท์มือถือ"



ระดมพลังสังคมเท่าทัน ต้าน พนันไม่ล้ำเส้นเสี่ยง thaihealth

          


พนันในมิติรัฐ


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าในช่วงที่มีบทบาทในฝ่ายบริหารประเทศ เคยมีความกดดันจากหลายฝ่ายที่จะทำให้การพนันถูกกฎหมาย แต่ตนเองค่อนข้างมีความกังวลต่อผลกระทบสังคม โดยสิ่งที่กังวลคือการพนันหากถูกกฎหมายจะเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจทำให้ประชาชน มีความยับยั้งชั่งใจลดลงไปมาก


"ผมยังสังเกตว่า ปัจจุบันความพยายามที่ทำให้การพนันถูกกฎหมาย ยังไม่ได้ถูกคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพนัน แต่จะโทษไม่ได้ เพราะแต่ละหน่วยงานย่อมมีโจทย์เป้าหมายของตัวเอง การตัดสินใจเรื่องนี้ควรมีการมองรอบด้าน


ดังนั้นหน่วยงานวิชาการและภาคประชาสังคม ควรจะมีส่วนร่วมและเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญและมีบทบาทในการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับภาคนโยบาย"


ระดมพลังสังคมเท่าทัน ต้าน พนันไม่ล้ำเส้นเสี่ยง thaihealth


อีกหนึ่งความเห็นจากฝั่ง วิเชษฐ์  พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโสยอมรับว่า สื่อมีบทบาทในการทำให้คนไทยหันมาเล่นการพนันมากขึ้น รวมถึงการเล่นสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยหากดูจากตัวเลขจะพบว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนำส่ง รายได้เป็นอันดับหนึ่ง คือมากกว่า สามหมื่นล้านบาทเฉพาะปีนี้


"คำถามคือรัฐมีแนวนโยบายที่จะนำเงินรายได้เหล่านี้มาใช้ประโยชน์อย่างไร เพื่อลดผลกระทบกับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับ การพนันได้ เพราะรัฐมีรายได้จากส่วนนี้ไปเยอะ จะมีการกลับมาสู่ภาคประชาชนอย่างไร"


ที่สำคัญวิเชษฐ์ย้ำว่า สื่อควรมีนโยบายในการร่วมผลักดัน กระตุ้นให้สังคม รวมถึงภาคนโยบายมีแนวทางชัดเจนในการพัฒนากลไกหรือมาตรการเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้

Shares:
QR Code :
QR Code