ระดมทุกภาคส่วนสร้างมหานครแห่งสุขภาพ

ระดมทุกภาคส่วนสร้างมหานครแห่งสุขภาพ

การเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบันที่เด็กใช้ชีวิตส่วนใหญ่กับการเรียน และการอยู่ในโลกเทคโนโลยีจนแทบไม่มีเวลาออกกำลังกาย อีกทั้งพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มพลังงานสูงแต่คุณค่าโภชนาการต่ำ จนเป็นเหตุให้มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนในวัยผู้ใหญ่ ทำให้เจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และหลอดเลือด รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นๆ

พ.ญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โดยเครือข่ายคนไทยไร้พุง ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดทำโครงการ มหานครแห่งสุขภาพ ขึ้นเป็นโมเดลต้นแบบใน 4 สำนักงานเขตนำร่อง ได้แก่ บางรัก ราชเทวี ภาษีเจริญ และหนองแขม โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้เป็นพื้นที่สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการมีโภชนาการที่เหมาะสมและส่งเสริมให้เด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่หันมาออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น โดยดึงหน่วยงานภาครัฐ เอกชน บริษัท ห้างร้าน วัด โรงเรียน และเครือข่ายภาคีต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการแลสุขภาพอย่างยั่งยืน โดยจัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการมหานครแห่งสุขภาพ เพื่อให้ความรู้เบื้องต้นพร้อมเตรียมความพร้อมแก่บุคลากรหน่วยงานผู้แทนองค์กร จากหลายภาคส่วนต่างๆ

รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในชุมชนเมืองมีอัตราการเกิดโรคติดเชื้อมากกว่าสังคมชนบทเป็น 2 เท่า นอกจากนี้ ในแต่ละพื้นที่ยังมีปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้นการดำเนินงานต้องมีการวางแผน เพื่อให้กิจกรรมแต่ละอย่างสอดคล้องวิถีชีวิตในแต่ละชุมชนเพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงและยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการออกกำลังกายและทำกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชน แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน โดย สสส.จะเข้ามาให้การสนับสนุนในเรื่องของการวางยุทธศาสตร์การปรับปรุงพื้นที่สาธารณประโยชน์เพื่อใช้ในการทำกิจกรรมร่วมกัน

สำหรับการดำเนินโครงการในโรงเรียนจะมีการเพิ่มชั่วโมงการออกกำลังกายหรือจัดกิจกรรมทางกายให้มากขึ้น มีการรณรงค์ให้ร้านอาหารในโรงเรียนลด หวาน มัน เค็ม และไม่จำหน่ายน้ำอัดลม ขนมขบเขี้ยวแก่เด็ก ร้านอาหารภัตตาคารจะผลักดันให้มีการชูเมนูสุขภาพเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน ในห้างสรรพสินค้ามีการจัดมุมจำหน่ายอาหารพลังงานต่ำ ส่งเสริมการออกกำลังกาย และลานอเนกประสงค์จะส่งเสริมให้คนในชุมชนออกกำลังร่วมกัน เป็นต้น

โครงการมหานครแห่งสุขภาพนี้เป็นการพัฒนาสุขภาพและเสริมสร้างความรู้ทางโภชนาการแก่ชาวกรุงเทพฯ เพื่อให้สามารถเลือกบริโภคอาหารอย่างถูกต้องเหมาะสม ส่งผลให้ร่างกายห่างไกลจากโรคอ้วนลงพุง และยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมการออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง โดยจะปลูกฝังตั้งแต่ระดับชุมชนในทุกๆ ภาคส่วน เพื่อเป็นรากฐานสุขภาพอันแข็งแกร่งให้ กทม.เป็นเมืองของคนสุขภาพดี ไร้พุง และมีอายุยืนยาว โดยในเบื้องต้นได้มีการคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบใน 4 สำนักงานเขต เนื่องจากมีความพร้อมมากกว่าเขตอื่นๆ ทั้งการมีส่วนร่วมของหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะดำเนินการไปพร้อมๆ กันทั้งการประชาสัมพันธ์ รณรงค์ และสร้างพื้นที่ในโรงเรียน สวนสาธารณะ สถานประกอบการเอกชน ห้างสรรพสินค้า ในทั้ง 4 เขต คำนึงถึงความพร้อมและปัญหาในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก คาดว่าอีก 3 ปี จะได้เห็น กทม.เป็นต้นแบบมหานครสุขภาพให้กับประเทศอื่นๆ

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code