‘รองเมือง’พื้นที่นี้ 3 ดี
จากพื้นที่ปิด…สู่พื้นที่สร้างสรรค์ ด้วยพลังของคนในชุมชนร่วมพัฒนา ผ่านยุทธศาสตร์เมือง 3 ดี เป็น ‘รองเมือง..เรืองยิ้ม พื้นที่นี้มีสุข’
งาน “รองเมือง…เรืองยิ้ม ตอน ปทุมวัน…ปันยิ้ม” เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นบริเวณชุมชนรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยเกิดจาก สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) คณะกรรมการชุมชน อาสาสมัครชุมชน แกนนำเด็กเยาวชน และสโมสรพื้นที่นี้ดีจัง ร่วมกันจัดขึ้น
โดยมี ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมเปิดงาน และได้กล่าวบนเวทีว่า การพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ต้องเริ่มที่การพัฒนาคนในชุมชนให้รู้จักปัญหา ค้นหาศักยภาพ ค้นพบภูมิปัญญาและแนวทางที่จะพัฒนาจากทุนเดิมที่มีอยู่ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาการเรียนรู้ร่วมคิดร่วมทำ ตลอดจนนำยุทธศาสตร์ในการพัฒนาชุมชนที่ดีอย่าง “ยุทธศาสตร์เมือง 3 ดี” ซึ่งได้แก่ 1. สื่อดี สร้างคนในชุมชนรู้จักการทำสื่อที่ดีให้เกิดการสื่อสารระหว่างคนในชุมชน สร้างความสัมพันธ์ที่ดี ทำให้เกิดการร่วมกันคิดร่วมกันทำได้ 2. พื้นที่ดี การสร้างพื้นที่ดีจะทำให้คนในชุมชนมีโอกาสได้เข้ามาพัฒนาร่วมกัน อย่างเช่น ชุมชนรองเมืองแต่ก่อน เด็กในชุมชนไม่มีพื้นที่ทำกิจกรรม แต่เมื่อชุมชนร่วมกันคิดสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยให้เด็กในชุมชนได้เล่นได้ทำกิจกรรม จึงเกิดการพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ขึ้นได้ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ 3. ภูมิดี โดยแต่ละชุมชนล้วนมีประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา ความสามารถของคนในชุมชน เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในชุมชน และร่วมกันบูรณาการดูแลรักษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อเป็นเมือง 3 ดีที่สมบูรณ์แบบได้
“ในยุทธศาสตร์เมือง 3 ดี ได้มีการวางเป้าหมายในการผลักดันให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ในอีก 38 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเทศกาลรองเมืองครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งต้นแบบ ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชน ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทั้งกายภาพและสังคม การลดความขัดแย้ง ลดปัจจัยเสี่ยงและปัญหาในชุมชน นำไปสู่การพัฒนาชุมชนในหลายมิติ โดยในระยะต่อไป สสส.จะร่วมกับภาคีเครือข่ายฯ ทำงานเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน เพื่อขยายพื้นที่สร้างสรรค์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” ทพ.กฤษดา กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน รศ.ดร.โคทม อารียา ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการสร้างเมือง 3 ดี เป็นกระบวนการทำงานเชิงบวก เป็นการเปิดพื้นที่และโอกาสให้เด็กเป็นผู้ดำเนินการเอง เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเอง จนนำไปสู่การเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางให้เด็กเข้าถึงสื่อสร้างสรรค์ต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน ทำให้เกิดทักษะการใช้ประโยชน์จากสื่อ การเท่าทันสื่อ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายเมืองสื่อสร้างสรรค์
สำหรับพื้นที่รองเมือง ได้สร้างให้เด็กและชุมชนเห็นความสำคัญของอาหารเช้า ผ่านกระบวนการสื่อสร้างสรรค์ให้เด็กมีส่วนร่วมทำ “สารานุกิน” รวมถึงการพัฒนาให้เด็กและชุมชนได้ค้นหาของดีในชุมชนนำไปสู่การเห็นคุณค่า และความภาคภูมิใจในถิ่นที่อยู่ของตนเอง โดยสำรวจร้านอาหารที่อยู่รอบชุมชน ที่สะอาด ปลอดภัยและอร่อย ใช้ชื่อว่า “ร้านอาหารเรืองยิ้ม” นอกจากนี้ยังนำกระบวนการศิลปะเพื่อพัฒนาพื้นที่ชุมชนแออัดที่เก่า ให้กลายเป็นชุมชนที่สดใสด้วยศิลปะ ให้เกิดความสวยงามและน่าอยู่มากขึ้น กลายเป็น “กำแพงหัวลำโพงเรืองยิ้ม” และมีการพัฒนาต้นแบบสุขภาวะเพื่อให้เด็กและผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ย่านถนนรองเมือง มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข
“โครงการรองเมืองเรืองยิ้ม เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สะท้อนให้เห็นความตระหนักของสภาพปัญหาทั้งอดีต และปัจจุบันในชุมชน รวมทั้งความร่วมมือในการพัฒนาโดยให้เยาวชนได้มีสิทธิในการร่วมคิดร่วมทำ เพราะเด็กและเยาวชนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน จึงเปรียบเหมือนเป็นการเพิ่มศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยผ่านการทำกิจกรรมในพื้นที่สร้างสรรค์ และ เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นก็จะเป็นพลเมืองที่ช่วยพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตน และประเทศในอนาคตต่อไปได้” ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าว
มาที่อาสาสมัครคนเก่งอย่าง น้องบิว ศิริรัตน์ หนูดี แกนนำเยาวชน เปิดเผยว่า ตนได้เข้ามาร่วมเป็นอาสาสมัคร โดยเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเพื่อชุมชน อาทิ การทำสื่อชุมชน หนังสั้น โดยนำกระบวนการศิลปะมาใช้ในการพัฒนาชุมชน ด้วยการแต่งแต้มสีสันบนกำแพงตลอดทางเดินในชุมชน เป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพ นอกจากทุกกิจกรรมจะบอกเล่าถึงอัตลักษณ์ชุมชนแล้ว ยังแสดงถึงการเชื่อมโยงการเรียนรู้ กระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญของการลงมือทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน สร้างความภาคภูมิใจ และรักชุมชนของตนเอง
“ปัจจุบันเด็กและเยาวชนมีโอกาสคิดสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเอง และสังคมมากขึ้น การมีพื้นที่ให้ได้เรียนรู้ ทำให้เด็กได้ดึงศักยภาพและพลังสร้างสรรค์ออกมา พร้อมกับใช้ปัญญาความรู้เป็นเครื่องนำทางผ่านการเรียนรู้ที่หลากหลาย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อผู้ใหญ่คอยให้การสนับสนุน ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำพลังอันมหาศาลที่มีอยู่ในตัวเด็กและเยาวชนออกมาใช้เป็นพลังสร้างสังคมที่ดีงามต่อไปได้” แกนนำเยาวชน กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th