รองนายกฯ ชมสุรินทร์ ต้นแบบจัดการตนเอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
'รูปแบบกระบวนการ เหล่านี้หากเราสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ในทุกชุมชนขยายออกไปมากๆ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมงานที่หน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ' พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย
ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานสิบกว่าปี ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนทั่วประเทศร่วมเปลี่ยนแปลงชุมชนตนเอง ผ่านการสนับสนุนด้านการเรียนรู้ ให้เครื่องมือทางความคิดและการสร้างกระบวนการ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาและส่งเสริมสุขภาพด้วยตนเองในพื้นที่ และยังเน้นผลักดันให้ชุมชนใช้ทุนและศักยภาพที่มีของตนเองเป็นเครื่องมือและกลไกในการขับเคลื่อน จนหลายชุมชนเกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรม และการดำเนินงานยังขยายผลไปด้านอื่นๆ อาทิ สิ่งแวดล้อม การยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนให้ดีขึ้น จนสามารถนำไปสู่การเป็นชุมชนน่าอยู่ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
"สุรินทร์" เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนโครงการจาก สสส. จากจังหวัดที่ได้ชื่อว่าห่างไกลทั้งการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขของรัฐและความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาวะมาเป็นเวลานานอดีต ดินแดนที่มีชื่อเสียงด้านการเลี้ยงช้างและข้าวหอมมะลิเลื่องชื่อแห่งนี้ เคยประสบปัญหารุมเร้าด้านสุขภาพมากมาย เคยได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีสถิติการบริโภคแอลกอฮอล์สูงสุดอันดับต้นๆ ของประเทศ ต่อเนื่องไปถึงปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน การบริโภคยาสูบ สารเสพติด และพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ รวมถึงปัญหาสุขภาพทั้งจากโรคระบาดและโรคไม่เรื้อรังต่างๆ ที่นับวันจะทวีความรุนแรง
แต่จากการเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายชุมชนสุขภาวะของ สสส. มาตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันสุรินทร์กำลังเดินสู่เส้นทางใหม่ด้วยการสร้างเสริมสุขภาพของตัวเอง และรุกหน้าสู่เป้าหมาย "ชุมชนสุขภาวะ" จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นชุมชนต้นแบบเกรดเอ ที่กำลังเป็นชุมชนตัวอย่างที่กล้าลุกขึ้นมา "เปลี่ยน" โดยมีกลไกความสำเร็จคือความเข้มแข็งของผู้นำ และความร่วมมือของคนในชุมชน วันนี้ จ.สุรินทร์มีโครงการที่ยังคงขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่ทั้งสิ้นกว่า 274 โครงการ โดยเป็นโครงการที่สามารถขยายผลต่อการสร้างสุขภาวะในชุมชนทั้ง 222 แห่ง สถานศึกษาและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 79 แห่ง องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ 17 แห่ง สถานพยาบาล 8 แห่ง และสถานประกอบการ 2 แห่ง
มีตั้งแต่การทำงานผ่านกลไก "ประชาสังคมสุรินทร์สร้างสุข" ที่กำหนดยุทธศาสตร์ชัดเจน ผ่านการขับเคลื่อนร่วมกับศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานตอนล่าง ที่ทำให้วันนี้ ชาว "สุรินทร์" สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์และค่านิยม "คนสุรินทร์กินสุรา" มาสู่วิสัยทัศน์ใหม่ "สุรินทร์สร้างสุข วัฒนธรรมสร้างสุข ลดปัจจัยเสี่ยง" ขณะเดียวกันยังเกิดโครงการต้นแบบหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการเปลี่ยนค่านิยมงานบุญปลอดเหล้าลดทำผิดกฎหมาย 69% ต้นแบบกลไกป้องกันอุบัติเหตุ 365 วัน ส่งเสริมค่านิยมรักการอ่าน และตำบลสุขภาวะอีกหลายแห่ง เป็นต้น
ล่าสุดเพื่อติดตามและรับฟังการดำเนินสร้างเสริมสุขภาพด้านต่างๆที่ชุมชนและภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ร่วมกับสสส. เมื่อวันที่ 6-7 กรกฏาคม 2559 ที่ผ่านมา จึงได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 'การทำงานสร้างเสริมสุขภาพ จ.สุรินทร์' ขึ้น โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุน สสส. เป็นประธาน คณะทำงาน สสส.ตลอดจนภาคีเสริมสร้างสุขภาพของ สสส.ที่เข้าร่วมในเวทีแลกเปลี่ยนดังกล่าว ยังลงพื้นที่ดูงาน ศึกษาพื้นที่ต้นแบบ จากสถานที่จริงในพื้นที่บ้านสำโรง ต.ท่าสว่าง และพื้นที่บ้านกันโจรง ต.กระหาด
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ ครั้งนี้ ทำให้พบว่ามีการดำเนินงานหลายส่วนที่เกิดผลเป็นรูปธรรมหลายโครงการ ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ นำไปปรับใช้และถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกตื่นตัว เช่น การเปลี่ยนค่านิยมจากงานบุญเปื้อนเหล้าให้เป็นงานบุญปลอดเหล้าในงานกาชาดสร้างสุข งานช้างปลอดภัย จ.สุรินทร์ โดยกล่าวว่าการเปลี่ยนค่านิยมในงานประเพณีเป็นเรื่องที่ยากต้องอาศัยระยะเวลาและความต่อเนื่องในการทำงาน แต่ปัจจุบันจังหวัดสามารถลดสถิติความรุนแรงและการกระทำผิดกฎหมายได้กว่า 69% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งปัจจัยความสำเร็จสำคัญล้วนเกิดจากการมีผู้นำที่เข้มแข็งและความร่วมใจของคนในชุมชน
"จากการที่เราไปดูไม่ว่าจะเป็นชุมชนน่าอยู่ที่บ้านสำโรง ต.ท่าสว่าง สิ่งที่ได้เห็นคือมีการร่วมมือกันแก้ปัญหาและพัฒนาตัวเองในชุมชน ที่สำคัญคือต้องมีผู้นำที่ดี สองคือคนในชุมชนให้ความร่วมมือ ผ่านสภาผู้นำชุมชนที่จัดตั้งขึ้น และรู้จักหาองค์ความรู้ความร่วมมือจากเครือข่ายวิชาการ หรือสสส.มาเสริม ส่วนกรณีการแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนที่บ้านกันโจรง ต.กระหาด มีการดำเนินงานโดยตั้งอนุกรรมการในพื้นที่เข้ามาร่วมแก้ปัญหา เวลาเกิดอุบัติเหตุก็มีเจ้าหน้าที่ลงไปดูพื้นที่เกิดเหตุเพื่อนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุแท้จริงและแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง ซึ่งรูปแบบกระบวนการเหล่านี้หากเราสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ในทุกชุมชนขยายออกไปมากๆ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมงานที่หน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ รับผิดชอบอยู่แล้วได้อีกด้วย"
ดร.ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การทำงานสร้างเสริมสุขภาพใน จ.สุรินทร์ประกอบด้วยงานเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหา และลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ผ่านบทบาทการเชื่อมประสานภาคีทุกภาคส่วน และขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนงานเชิงรับ หรือการเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ริเริ่มงานสร้างเสริมสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่โดยการใช้ทุนและศักยภาพในชุมชนเอง อันได้แก่ การจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านการจัดการขยะชุมชน และการสร้างชุมชนให้น่าอยู่ผ่านกลไกสภาผู้นำชุมชน สร้างความยั่งยืนในการจัดการปัญหาของพื้นที่ได้จริง โดยกล่าวว่าสุรินทร์เป็นจังหวัดตัวอย่างที่นำเอาชุดความรู้จากพื้นที่อื่นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับพื้นที่ตัวเอง และมีความสำเร็จในเรื่องความเข้มแข็งผู้นำ การขบคิดวิเคราะห์ในแต่ละปัญหา
"ที่นี่เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีรูปธรรมการทำงานขับเคลื่อนด้านสุขภาพที่ประสบความสำเร็จ โดยสามารถแก้ปัญหาหนึ่ง สรุปบทเรียนและขยับไปสู่การแก้อีกปัญหาต่อไปได้ ด้วยกลไกความเข้มแข็งตรงนี้ เพราะเขามีความเข้มแข็ง เขารวมตัวกันได้ เขาเรียนรู้ และใจกว้างเมื่อถอดบทเรียนยังเปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้กับพื้นที่อื่น และสามารถขยายไปจนเกิดเป็นศูนย์เรียนรู้ สามารถนำชุดความรู้ไปบรรจุหลักสูตรในมหาวิทยาราชภัฏสุรินทร์ได้" ดร.ทพ.สุปรีดากล่าว