รวม 10 ชนเผ่าเชียงรายเป็นหนึ่งเดียว
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ไทยรัฐ
ครูบาหนุ่ม แห่งสำนักปฏิบัติธรรมดอยสันกู่ พระธาตุ 12 ราศี ได้หลอมรวม 10 ชนเผ่าชาติพันธุ์ให้เป็นหนึ่งเดียว เอา ”บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน มาเป็นศูนย์กลางสร้างความศรัทธาคนในพื้นที่ ให้ความรู้เป็นอาชีพแทนเครื่องรางของขลัง
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 60 ผู้สื่อข่าวเผยว่า ที่สำนักปฏิบัติธรรมดอยสันกู่ พระธาตุ 12 ราศี ที่ตั้งอยู่บนดอยในหมู่ที่ 1 ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย มีเจ้าสำนักที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า ครูบาหนุ่ม หรือพระครูบาน้อยศุภณัฐ นาคเสโน วัย 32 ปี ฉันท์เจหรือมังสวิรัติมื้อเดียว โดยเป็นสำนักปฏิบัติธรรมฯ ใช้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ใช้รูปแบบ ”บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน) เป็นที่ตั้งของศูนยพืชสมุนไพรทางเลือก ศูนย์เรียนรู้เชิงนิเวศน์ และศูนย์วัฒนธรรม 10 ชนเผ่า ที่ชาวชนเผ่าชาติพันธุ์ใช้เป็นสถานที่ร่วมกิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรมของแต่ละชนชาติพันธุ์ โดยมีหลายหน่วยงานร่วมสนับสนุนงบประมาณอุดหนุนรวมทั้งเงินที่ได้รับบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา
นางแสงจันทร์ บุตรดี ผญบ.หมู่ 1 บ้านหล่ายงาว ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น เปิดเผยว่า เดิมพื้นที่ตั้งสำนักปฏิบัติธรรมดอยสันกู่ พระธาตุ 12 ราศี เป็นไร่สวนของชาวบ้านในหมู่บ้าน ก่อนนี้จะมีพระธุดงค์มาปักกลดนั่งวิปัสสนาเป็นประจำ ต่อมาได้ปรึกษาชาวบ้านช่วยกันบริจาคที่ดินบริเวณดังกล่าวสร้างเป็นสำนักสงฆ์ เพื่อให้พระสงฆ์ได้มาปฏิบัติธรรมมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน ต่อมามีผู้ศรัทธาได้บริจาคเงิน และมีความประสงค์ต้องการสร้างพระธาตุ เป็นจุดศูนย์รวมทางกิจกรรมด้านศาสนา จึงได้นิมนต์เชิญ ”ครูบาหนุ่ม” หรือพระครูบาน้อยศุภณัฐ นาคเสโน ซึ่งเคยมาธุดงค์บ่อยครั้งมาประจำเป็นเจ้าสำนักในเวลาต่อมา
ครูบาหนุ่ม หรือ พระครูบาน้อยศุภณัฐ นาคเสโน กล่าวว่า นอกจากกิจของสงฆ์ที่ปฏิบัติเป็นกิจวัตร ยังมีกิจกรรมที่ทางสำนักฯ ได้ทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นทั้งสถานปฎิบัติธรรม และเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านศาสนา ศูนย์วัฒนธรรมชนเผ่าชาติพันธุ์ที่มีถึง 10 ชนเผ่า ศูนย์เรียนรู้ยาสมุนไพรรักษาโรคทางเลือก โดยมีงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิ สสส.อปท.และเงินบริจาคของ ปชช.โดยให้มีตัวแทน หน่วยงาน กรรมการของหมู่บ้านมาดำเนินการขับเคลื่อนดูแลกิจกรรมดังกล่าวเป็นรูปแบบ ”บวร”
ครูบาหนุ่ม เผยอีกว่า ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้มีพระสงฆ์และเณรประจำ 14 รูป มีเด็กชาวชนเผ่าที่พ่อแม่ยากจนนำมาอุปถัมภ์รวม 6 ชีวิต เพื่อให้มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน และช่วยงานกิจกรรมของสำนักรวมทั้งงานทั่วไปตามวัยของเด็ก โดยสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้ไม่มีการปลุกเสกเครื่องรางของขลังให้บูชาหรือจำหน่าย แต่มีวิชาความรู้ให้ศึกษาเรียนรู้นำไปใช้เป็นอาชีพหาเลี้ยงชีพและครอบครัวได้ โดยทางสำนักฯ จะมี จนท.ที่เชี่ยวชาญจากหน่วยงานมาเปิดครอสสอนเป็นช่วงๆ และจะมีนักเรียนและปชช.ที่สนใจจะเดินทางมาเรียนรู้เป็นรูปแบบหมู่คณะ ขณะเดียวกันก็ได้ให้พระเณรรวมทั้งเด็กที่อาศัยอยู่ที่นี่ ทำผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ทั้งอาหาร เครื่องของใช้ประจำวัน รวมทั้งสมุนไพร โดยมี จนท.สาธารณสุขอำเภอ และหมอสมุนไพร รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญมาควบคุมดูแลการผลิต จำหน่ายเป็นรายได้โดยจะนำเป็นกองทุนดูแลเด็กด้อยโอกาสให้ได้เรียนหนังสือ บางส่วนมอบสนับสนุนซื้ออุปกรณ์ให้ทางโรงเรียนที่ต้องการ ส่วนหนึ่งก็จะนำมาใช้จ่ายในสำนักฯ
ครูบาหนุ่ม กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันผู้คนมักจะไม่ค่อยจะเข้าวัด ห่างไกลศาสนา โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ สำนักฯ แห่งนี้มีความตั้งใจจะนำคำสอนของศาสนามาเป็นจุดศูนย์รวมโดยใช้หลักการพึ่งพาอาศัยกัน ”บวร” โดยไม่แยกเชื้อชาติชนเผ่า จัดกิจกรรมร่วมให้เกิดเป็นความผูกพันธ์ สร้างความเท่าเทียม ให้อาชีพ ให้ความรู้ ให้ควาเอื้ออาทรต่อกัน โดยใช้สำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้เป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะทำให้ทุกชนเผ่าอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน