รวมพลังรับมือภัยพิบัติ
จากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่ชาวไทยประสบปัญหากับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว หลายพื้นที่ขาดการเตรียมพร้อมรับมืออย่างเห็นได้ชัด เพราะในพื้นที่ขาดความตื่นตัว เรียนรู้ ตระหนักที่จะรับมือกับภัยธรรมชาติที่นับวันใกล้ตัวมากขึ้น วันที่ 5-5-55 นับเป็นวันดีอีกหนึ่งวันที่มีการเตรียมพร้อมจากกลุ่มภาคีเครือข่ายอย่าง Thai flood กลุ่มจิตอาสาอีกหนึ่งกลุ่มที่เชื่อว่าจะเป็นที่รู้จักกันดีในยามมหาอุทกภัยเมื่อปีที่แล้ว โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.และถือโอกาสใช้วันดีเดย์จัดงานวันรวมพลังรับมือภัยพิบัติ (National Disaster Preparedness Day 2012) ขึ้น โดยให้ทุกภาคส่วน รัฐ เอกชน ประชาสังคม ชุมชน ร่วมมือรวมพลังในการรับมือกับภัยพิบัติ แลกเปลี่ยนบทเรียน ความรู้ ประสบการณ์ ส่งต่อนวัตกรรม เครื่องไม้เครื่องมือ เตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นจริงตั้งแต่พื้นที่ภูเขาจรดท้องทะเล ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส.กล่าวว่า สสส.เริ่มมีนโยบายการจัดการภัยพิบัติมาตั้งแต่ปี 2547 หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิขึ้นในประเทศไทย และพยายามศึกษาโดยพบว่าประเทศไทยมีลักษณะที่อยู่ในสภาวะที่ไม่พร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติ อาจด้วยความที่ไทยอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จึงไม่เคยหล่อหลอมวิธีการป้องกันรับมือภัยพิบัติอย่างชัดเจนมากนัก ระบบของรัฐเองก็ยังไม่พร้อมเต็มที่ เราก็คิดว่าหลังการตื่นตัวจากเหตุสึนามิ จึงชวนคนไทยเปลี่ยนโหมด และเริ่มเข้าใจว่าเราเริ่มเผชิญกับภัยพิบัติอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านั้นก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายนัก จนกระทั่งในปี 2553 และ 2554 ที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ จึงเริ่มมีการตื่นตัวขึ้นอีกครั้งระหว่างนั้นก็มีการพัฒนาระบบ องค์ความรู้ โดยเฉพาะภาคประชาชนให้มีความพร้อมและมี่ความเชื่อมโยงมากขึ้น โดยในภาคประชาชนจำเป็นต้องเชื่อมเครือข่าย องค์ความรู้ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน เมือง และประเทศ โดยทุกระดับต้องเตรียมพร้อม ซึ่งงานวันนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพิ่มองค์ความรู้ และพัฒนาเชื่อมโยงเครือข่ายเติมความพร้อมให้สังคมไทยในการรับมือภัยพิบัติมากขึ้น โดย สสส.เองก็สนับสนุนให้กลุ่ม Thai floodเป็นหนึ่งในผู้ประสานงานกลาง ในการเชื่อมไปยังทุกภาคส่วน โดยใช้ระบบสารสนเทศต่างๆ
“หลังสึนามิคลายตัวไป ระบบที่เราหวังพัฒนาก็ยังไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ อย่างที่เขียนไว้ในกระดาษ ขณะเดียวกันความตื่นตัวหายไป จนกระทั่งเราตื่นตัวจากภัยพิบัติในครั้งหลังๆ จากน้ำท่วมปี 53 , 54 ก็เกิดการตื่นตัวครั้งใหญ่ ระหว่างนั้นก็มีการพัฒนาระบบ องค์ความรู้ โดยเฉพาะภาคประชาชนให้มีความพร้อมและเชื่อมโยงมากขึ้น อุปสรรคการพัฒนาระบบและพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล ชุมชน ท้องถิ่นเมืองเริ่มตั้งแต่การรับรู้ตื่นตัว อย่างที่บอกว่าเราสงบมานาน และตื่นตัวไม่วูบวาบเหมือนกับในต่างกับประเทศที่อยู่ในภัยพิบัติ ที่มีอยู่ในวัฒนธรรมอย่างญี่ปุ่น นอกจากนั้นการมีความรู้ต้องยอมรับว่าเราไม่มีความรู้สะสมไว้เหมือนชาติที่เผชิญเหตุประจำ มันไม่ใช่ความรู้ที่นำเข้าสากลได้ทั้งหมด ต้องนำเข้าความรู้จากสถานการณ์จริงที่ไทยเผชิญและพยายามเชื่อมโยงเครือข่ายให้เป็นระบบ สสส.เองก็เป็นหน่วยเล็กๆ ที่พยายามจะช่วยกระบวนการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเรียนรู้เหล่านี้ให้มากขึ้น” ดร.สุปรีดากล่าว
ขณะที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นับเป็นอีกหน่วยหนึ่งของสถาบันการศึกษาที่ช่วยปกป้องชุมชนในช่วงวิกฤติภัย โดย ดร.คมสัน มาลีสี รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ฉายภาพให้ฟังถึง “ลาดกระบังโมเดล” ที่ใช้ในการจัดการภัยพิบัติให้ฟังว่า สถาบันฯ ได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังทำงานร่วมมือกับ 61 ชุมชนในพื้นที่รอบสถาบันฯ เพื่อกำหนดแผนรับมือน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ โดยมี 5 มาตรการในการดำเนินการคือเริ่มจากการสำรวจ ตั้งรับ เฝ้าระวัง ดูและและฟื้นฟู โดยทุกกระบวนการเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันและชุมชนในพื้นที่ สิ่งสำคัญคือการรับรู้ในพื้นที่ของตนเองว่ามีจุดเสี่ยง จุดเคลื่อนตัวของภัยพิบัติในพื้นที่ไหนอย่างไรบ้าง โดยเราพยายามผลักดันให้ในชุมชนทำแนวระดับอ้างอิง สามารถตรวจเช็คระดับน้ำในพื้นที่ของตนเองได้ พื้นที่หน้าตัดของระดับน้ำที่มีความเสี่ยง ขณะที่สถาบันเองก็จะมีการวิเคราะห์กราฟน้ำขึ้นลงเพื่อคอยแจ้งเตือนประชาชนด้วยอีกระดับหนึ่ง
ดร.คมสัน มาลีสี
นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้จัดการโครงการรวมพลังรับมือภัยพิบัติ สสส.บอกว่า องค์ความรู้ที่นำมาแลกเปลี่ยนวันนี้สามารถนำไปกระจายและบอกต่อชุมชนได้ โดยเบื้องต้นอยากชวนมองไปที่ภัยอื่นๆ เช่น โลกร้อน พายุ แผ่นดินไหวร่วมด้วย โดยทางโครงการฯ จะรวบรวมองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเครือข่ายต่างๆ เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaiflood.com และช่องทางการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ เพื่อตอกย้ำให้เกิดความตระหนักในการสร้างรูปแบบการรับมือกับภัยพิบัติแบบต่างๆ ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายให้ทำงานบนฐานข้อมูลเดียวกัน โดยในวันรวมพลังรับมือภัยพิบัตินี้ ได้จัดทำแผนที่ความเสี่ยง (DisasterHazard Mapping) และแผนที่ศักยภาพมนุษย์ (Human Mapping) ในรูปแบบดิจิตอลไฟล์เพื่อนำมาต่อยอดเพิ่มเติมข้อมูลจากประสบการณ์ทำงานของภาคส่วนต่างๆ ทั้งนี้จะนำร่องด้วยโครงการแผนที่ชุมชนผ่านการจำลองแผนที่หากเกิดภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ ว่าประชาชนในชุมชนจะรวมกันอยู่ในจุดใด และจะรวมศูนย์ความช่วยเหลือไว้ในบริเวณใดบ้าง ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและจะบรรจุลงในโปรแกรมกูเกิลเอิร์ท ที่ http://teamthailand.kapook.com/ซึ่งหากเกิดภัยพิบัติขึ้น หน่วยงานราชการและอาสาสมัครสามารถส่งต่อความช่วยเหลือไปได้ทันที
ในปีนี้กับคำถามว่าน้ำจะท่วมไหม? อาจจะมีหลายคำตอบบ้างก็ยืนยันว่าไม่ บ้างก็บอกว่าไม่แน่ แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร ความพร้อมคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้ภัยพิบัติที่มาเยือนกลายเป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติ และเราก็จะอยู่กับธรรมชาติได้อย่างไม่เดือดร้อน
เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th