รวมพลังชุมชนท้องถิ่น ดูแลผู้ป่วยโควิด-19
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
มาตรการการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยวิธีแยกกักตัวที่บ้าน และการแยกกักตัวในชุมชน ถือเป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงประสานกับชุมชนท้องถิ่น จัดตั้ง Community Isolation เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยโควิด-19
ความรุนแรงของไวรัสกลายพันธุ์ "เดลต้า" ที่สามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย ทั้งยังทำร้ายสุขภาพมากยิ่งกว่าโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ นาทีนี้ ส่งผลให้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มเกินกำลังที่จะรับมือมากขึ้น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ต้องเผชิญปัญหาความไม่สมดุลของจำนวนผู้ป่วย มากล้น แต่ไม่มีเตียงหรือหมอให้รักษา การกักตัวที่บ้านหรือในชุมชนจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
"คู่มือการแยกกักตัวที่บ้าน" คู่ใจคนรักษาตัวอยู่บ้าน
ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายสลัมสี่ภาค และภาคีเครือข่ายต่างๆ พัฒนาแกนนำ สร้างต้นแบบชุมชน 33 ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และปทุมธานี ตามมาตรการดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้านและที่ชุมชน รวมถึงได้ขยายแนวทางดังกล่าวไปยังเครือข่ายร่วมสร้างสุขชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภาคีสุขภาพของ สสส. ในองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นกว่า 600 แห่ง เพื่อสนับสนุนมาตรการแยกกักตัวที่บ้าน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวถึงเตรียมความพร้อมชุมชนว่า สสส. หนุนมาตรการรัฐ โดยการนำมาตรการการดูแลผู้ป่วยโดยวิธีแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) มาเป็นทางเลือกสำคัญที่เข้ามาช่วยดึงผู้ติดเชื้อในระดับสีเขียวออกจากสถานพยาบาล แล้วไปรับผู้ป่วยอาการหนักได้มากขึ้น นอกจากนี้ สสส. ร่วมมือกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช. จัดทำ "คู่มือการแยกกักตัว ที่บ้าน (Home Isolation)" โดยรวบรวมข้อมูลจากทีมแพทย์และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเร่งสร้างความเข้าใจให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน เพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนในการรักษาตัวอยู่บ้าน โดยเชื่อมร้อยระบบประสานการติดตามโรคของหน่วยบริการปฐมภูมิอย่างใกล้ชิด
ท้องถิ่น ถึงคราวรวมพลังรับมือวิกฤติ
เมื่อโควิด-19 ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในเมืองหลวง พร้อมพื้นที่สีแดง และสีแดงเข้มเริ่มแผ่ขยายทั่วประเทศไทย ดังนั้น ภารกิจฉุกเฉินสำคัญยิ่งเวลานี้ที่ปฏิเสธไม่ได้ของแต่ละชุมชน-ท้องถิ่น คือการต้องลุกขึ้นมา "ตั้งรับ" ภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้การขับเคลื่อนและสนับสนุนโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. จึงมาร่วมระดมไอเดีย เพื่อมองหาแนวทางหรือมาตรการรองรับ ไปถึง การพัฒนารูปแบบการจัดตั้งชุมชนดูแลผู้ป่วย โควิด-19" ที่เรียกว่า Community Isolation ฉบับเร่งด่วน ผ่านกิจกรรมการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการปรับแผนปฏิบัติการเพื่อรับมือการระบาดของโควิด-19 ผ่านทางระบบออนไลน์ โดยงานนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 600 แห่ง รวม 2,268 คนที่เข้าร่วม
สมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่าย ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้ท้องถิ่นมีประสบการณ์การรับมือกับการระบาดที่แตกต่าง กันไป บางพื้นที่มีการระบาดค่อนข้างกว้างขวางและเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ท้องถิ่นจึงต้องวางมาตรการจำกัดวงการระบาด ทั้งการคัดกรองคนเข้าออกพื้นที่อย่างเข้มงวด มีการเตรียมสถานที่สำหรับกักตัวผู้ที่มีความเสี่ยงสูง การส่งต่อผู้ป่วย ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาล รวมถึงการบริหารจัดการวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่
แต่สิ่งที่มีเหมือนกันทุกพื้นที่ คือความ ร่วมมือกันในการพัฒนาศักยภาพในการจัดการปัญหาผ่านความร่วมมือของ 4 องค์กรหลัก คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ท้องที่ คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรชุมชนหรือภาคประชาสังคม และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ ซึ่งทุกพื้นที่ต้องรับมือกับสถานการณ์อย่างจริงจังและเข้มงวด เพื่อจำกัดวงการระบาดทั้งในส่วนที่จะนำเข้ามาและในส่วนที่จะนำออกไป
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อม และการรับมือกับวิกฤติการระบาดของเชื้อ โควิด-19 ในระลอกนี้ว่า แผนสุขภาวะชุมชนร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่าย (ศวภ.) ได้ออกแบบชุดกิจกรรมเพื่อการควบคุมโควิด-19 ใน 5 ประเด็นคือ 1.ติดตามข้อมูลคนเข้าออก/ผู้ติดเชื้อ/กลุ่มเสี่ยง 2.การสื่อสารกระบวนการ ได้แก่ การรายงานตัว และการรับวัคซีน 3.การดูแลตนเองในระบบชุมชนให้กับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน (Community Isolation) ซึ่งประกอบไปด้วย สถานกักกันโรคท้องที่ (Local Quarantine / Home Quarantine) และระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) 4.การสนับสนุน รับ-ส่งตัว และ 5.การฟื้นฟูด้านต่างๆ ในทุกมิติ
ซึ่งที่ผ่านมามองว่าเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ มีความเข้มแข็งและได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากในการปรับตัวให้สอดรับ กับสถานการณ์ที่รวดเร็ว สามารถปรับแผนปฏิบัติงานในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี แต่ในการรับมือสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ชุมชนท้องถิ่น ต้องเตรียมความพร้อมและมีมาตรการรองรับ
สำหรับไฮไลท์สำคัญของเวทีกิจกรรมการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการปรับแผนปฏิบัติการเพื่อรับมือการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ยังได้นำหลายบทเรียนและประสบการณ์การรับมือมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันของ อปท.กว่า 600 แห่ง
คอรุม ตั้งรับด้วย "ทีมเวิร์ค"
"คนที่มาจากพื้นที่เสี่ยง 13 จังหวัดสีแดง จะต้องกักตัวทุกคน ส่วนคนที่อยู่นอกเหนือจากจังหวัดเหล่านั้น หากประสงค์จะกักตัวที่บ้าน เราจะมีการตรวจสอบดูว่าเขาประกอบอาชีพอะไร มีการตรวจเช็กไทม์ไลน์ของเขาอย่างชัดเจนว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงหรือไม่ หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ก็ต้องกักตัวตามมาตรการในการเข้ามาพื้นที่เช่นกัน จะไม่อนุญาตให้กักตัวที่บ้านเด็ดขาด"
เสียงบอกเล่าของ ผจญ พูลด้วง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่ พื้นที่ตำบลคอรุม เป็นอีกหนึ่งพื้นที่มีการวางระบบรองรับการเดินทาง กลับภูมิลำเนา โดยเฉพาะการเปิดจุดกักตัว ซึ่งเกิดจากข้อตกลงของแต่ละหมู่บ้านร่วมกัน เพื่อรองรับและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมกับอำนวยความสะดวกแก่คนในพื้นที่ที่ เดินทางกลับมา ซึ่งขณะนี้มีผู้แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับมาในพื้นที่เรื่อยๆ โดยส่วนใหญ่เป็นพี่น้องที่ไปใช้แรงงานที่กรุงเทพฯ โดยทางตำบลได้กำหนดมาตรการให้ผู้ที่จะกลับมาต้องแจ้งล่วงหน้ากับ อบต.หรือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ตัวเองอย่างน้อย 3 วัน เพื่อการเตรียมความพร้อมและอำนวยความสะดวกในการดูแล
ในด้านการเลือกใช้สถานที่กักตัวของชุมชน หรือ Local Quarantine (LQ) ในช่วงแรกให้แต่ละหมู่บ้านดำเนินการเอง แต่เมื่อมีคนเดินทาง มากักตัวมากขึ้นทำให้ยากต่อการจัดการ ปัจจุบันจึงเหลือ LQ อยู่ในตำบลคอรุม 5 แห่ง ในพื้นที่ 5 จุด ประกอบด้วย 1. วัดป่าแต้ว รับประชาชนหมู่ที่ 4 หมู่ที่ 9 จำนวน 10 คน, 2. วัดบางนา หมู่ที่ 12 รับประชาชน หมู่ที่ 7 หมู่ที่ 12 จำนวน 10 คน, 3. วัดคลองกล้วย รับประชาชนหมู่ที่ 8, 10,11 จำนวน 10 คน, 4. อาคารเอนกประสงค์หมู่ 5 รับประชาชนหมู่ 5 จำนวน 10 คน และจุดที่ 5. วัดขวางชัยภูมิ รับประชาชน หมู่ 1,2,3, 6 จำนวน 10 คน ซึ่งช่วยทุ่นกำลังในการบริหารจัดการ ซึ่งหากผู้ที่ไม่มีอาการก็จะได้รับการตรวจหาเชื้อ 2 ระยะด้วยกัน คือ ตรวจทุก 7 วัน หากไม่ติดเชื้อก็สามารถกลับบ้านได้
ล่าสุดคอรุมได้ระดมกำลังทุกภาคส่วนเข้ามา ช่วยกันจัดการเตรียมการเปิดโรงพยาบาลสนามอำเภอพิชัย แห่งที่ 4 ณ วัดขวางชัยภูมิ สามารถรองรับ ได้ 100 เตียง โดยจะรับผู้ป่วยจาก รพ. ที่อาการดีแล้ว มาพักรักษาตัวต่อ ช่วยให้ รพ. จังหวัด มีเตียงคอยรองรับผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤติ เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว จะมีแพทย์คอยควบคุม ขณะที่ รพ.สต. อสม.จะทำงานในการดูแลผู้ป่วยภายใต้การดูแลของแพทย์ ส่วน อบต.จะรับผิดชอบในการดูแลสถานที่ ทีม อปพร. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีหน้าที่ดูแลเฝ้าระวัง โดยมีเวรยามที่ชัดเจน
ทุ่งกระเต็น พลิกบทเรียนเก่า ปรับกลยุทธ์ใหม่
จากประสบการณ์การรับมือการระบาดของเชื้อโควิด-13 ในพื้นที่มาถึง 3 ระลอก ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งกระเต็น อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ สามารถเรียนรู้และ นำประสบการณ์มาปรับใช้ได้ทันกับการระบาดที่ หนักหน่วงขึ้นในระลอกนี้ อิสริยา จิตสุภาพ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งกระเต็น ระบุถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ว่า จังหวัดบุรีรัมย์มีนโยบายที่ชัดเจน จากระดับจังหวัดไปสู่อำเภอ ซึ่งในระดับพื้นที่ เราเรียกประชุม รพ.สต. ท้องถิ่น ท้องที่ ร.ร.ชุมชน และอปท. ในส่วนของนโยบาย LQ เพื่อการกักตัว และดูแลประชาชนไม่ให้มีการ ติดเชื้อหรือแพร่เชื้อโควิด-19 เข้าสู่ชุมชน
"หลังจากการได้ทำงานร่วมกันกับ สสส.สำนัก 3 ทำให้เรามี 4 องค์กรหลัก (ท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานในพื้นที่และองค์กรชุมชน) ที่เหนียวแน่น มีความเข้าใจกัน ทำให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง"
สำหรับผู้ที่ต้องการเข้ามาในพื้นที่ต้องแจ้งให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านรับทราบ เมื่อมาถึงพื้นที่จะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 หากพบเชื้อก็ส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล หากไม่พบก็ต้องไปกักตัวตามสถานที่กักตัว หรือ LQ ที่จัดเตรียมไว้ให้ ส่วนการกักตัวที่บ้านนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นนโยบายของจังหวัด
"ในตอนแรก อบต.ทุ่งกระเต็นและ อบต.หนองกี่ ได้จัดทำ LQ ร่วมกันที่วัดใหม่สระขุด เพราะเป็นตำบลที่มีรอยต่อติดกัน แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่หนักขึ้นในขณะนี้จึงได้มีการขยาย LQ ไปอีกวัด คือวัด สามัคคีศรัทธาธรรม เราจะเรียกว่าโซนนอก โซนใน ซึ่งผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสามารถเลือกได้ว่าจะกักตัวที่โซนไหน ที่ใกล้บ้าน และมีความสะดวก ทั้งตัวเอง และญาติพี่น้องก็ได้เบาใจ"
ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งกระเต็น ให้ข้อสังเกตถึงการเลือกใช้สถานที่เพื่อเป็น LQ ว่า ไม่ควรเลือกสถานที่ราชการ เนื่องจากว่า อบต.ทุ่งกระเต็น เคยใช้ รพ.สต.เป็นสถานที่กักตัว ซึ่งผู้ที่กักตัวกลายเป็นผู้ติดเชื้อ ทำให้จำเป็นต้องปิด รพ.สต. ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้ตามปกติ จึงเป็นบทเรียนสำคัญว่า พื้นที่ LQ จะต้องไม่เป็นหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานที่ให้บริการประชาชน
ในเรื่องอาหารการกิน ชาวบ้านมีการปรับตัวหันมาซื้อขายออนไลน์กันในพื้นที่ เป็นการส่งเสริมวิสาหกิจในชุมชนไปในตัว ขณะเดียวกันคนในชุมชนก็เกิดการปรับตัวเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไปโดยอัตโนมัติ
บ้านพอเพียง ลดภาระรัฐ จัดการตนเอง
ที่ตำบลพิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ขณะนี้ยังมีผู้เดินทางกลับมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกคนที่เข้าพื้นที่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยการตรวจโควิดด้วยชุดทดสอบแบบรวดเร็ว (Rapid test) และหากผลเป็นบวกจะส่งต่อโรงพยาบาลทันที แต่หากผลเป็นลบ จะต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ในบ้านพอเพียง ซึ่งจะหมุนเวียนกันไป "ทุกคนไม่รอเป็นภาระของทางราชการเพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือ การควบคุมคนที่มาจากต่างพื้นที่ตามมาตรการให้ได้ ทุกคนจึงต้องเป็นหูเป็นตา เพื่อไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่"
บัญชา ศรีชาหลวง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิมาน อ.นาแก จ.นครพนม เล่าต่อว่า มีการเตรียมความพร้อมสถานที่รับคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงเพื่อกักตัว หรือสถานกักกันโรคท้องที่ โดยปรับโฮมสเตย์บ้านพอเพียงจำนวน 13 หลังของชุมชนเป็นสถานที่กักตัว และระหว่างที่กักตัวจะมีทีมแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตรวจเก็บตัวอย่างทุก 5 วันผลจากการดำเนินการทำงานที่บูรณาการระหว่างกัน ส่งผลให้สถานการณ์ที่พิมานขณะนี้ไม่น่าห่วง เพราะความตื่นตัวของคนในชุมชนที่ร่วมด้วยช่วยกัน
เร่งเดินหน้าสร้างความเข้าใจ
อีกหัวใจสำคัญในการทำงาน คือต้องสื่อสารข้อมูลถึงกันและกัน เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสาร นโยบาย มาตรการต่างๆ ให้ภาคีเครือข่าย ได้รับรู้ข้อมูลเท่าทันกัน เพื่อนำมาสู่การร่วมกัน ทำงานดูแลพี่น้องประชาชนให้ไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงสร้างทัศนคติที่ถูกต้องต่อคนในพื้นที่ว่า การจัดศูนย์กักตัวไม่ได้นำเชื้อเข้าสู่ชุมชน
พงษ์ศักดิ์ สมประสงค์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า มีการจัดเตรียมสถานที่กักตัว ของชุมชน เช่น วัด อาคารเอนกประสงค์ของชุมชน ซึ่งการใช้วัดแต่ละชุมชนเป็นสถานที่กักตัว ทำให้เกิดความระแวงหวาดกลัวของคนในชุมชน บางพื้นที่ไม่กล้าใส่บาตรพระ จึงต้องเร่งเดินหน้าสร้างความเข้าใจให้คนในชุมชนไปพร้อมกันด้วย
เช่นเดียวกับที่ทุ่งกระเต็น อิสสริยา เอ่ยว่า การสื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่มีความกังวลกับผู้ที่เข้ามากักตัว ว่าอาจจะนำเชื้อเข้าสู่ชุมชนนั้น จะเป็นหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึง อสม.เป็นผู้ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยในช่วงแรกเกิดความไม่เข้าใจจนไม่สามารถสร้าง LQ ได้ แต่เมื่อสื่อสารอย่างต่อเนื่อง ผ่าน Facebook ของตำบลที่มีผู้ติดตามจำนวน 2,000 คน ก็สามารถสร้างความเข้าใจจนมีมติตั้ง LQ ในพื้นที่ขึ้นมาได้