รวมพลนักปั่น กลุ่มชาวนาออร์แกนิก “ปั่น+ปัน+ข้าว”
สสส. รวมพลคนจักรยาน 11 กลุ่มชาวนาออร์แกนิก ใน 7 จังหวัด จัดงาน “ปั่น+ปัน+ข้าว” "รองนายกฯยงยุทธ " ชวนสร้างประเพณีแบ่งปันใน “วันวาเลนไทน์” ให้ข้าวออร์แกนิกแก่ 11 องค์กรสาธารณกุศล ชูรักสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม-เพื่อนมนุษย์
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่สนามเขียว สุวรรณภูมิ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “ปั่น+ปัน+ข้าว” เนื่องในวันวาเลนไทน์ กล่าวว่า การปั่นจักรยานในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างเสริมสุขภาวะด้วยการออกกำลังกาย ยังสร้างเจตคติในการทำประโยชน์เพื่อสังคม ด้วยการสนับสนุนการปลูกข้าวอินทรีย์ของชาวนา 11 กลุ่ม จาก 7 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร สุรินทร์ นครสวรรค์ นครปฐม สุพรรณบุรี เพชรบุรี และพัทลุง โดยนักปั่นที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำข้าวไปบริจาคให้องค์กรสาธารณกุศลต่างๆ ที่มารับบริจาคที่สนามเขียวในวันนี้
“การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ไม่เพียงแต่จะสามารถสนับสนุนชาวนาอินทรีย์โดยตรง แต่ยังได้สนับสนุนองค์กรสาธารณกุศลซึ่งดูแลผู้ด้อยโอกาส 11 กลุ่ม เช่น บ้านบางแค บ้านปากเกร็ด ศูนย์สงเคราะห์ชาวไทยภูเขาเด็กพิการ มูลนิธิพระมหาไถ่ โรงพยาบาลสงฆ์ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ฯลฯ ด้วยการบริจาคข้าวให้องค์กรเหล่านี้ อีกทั้งเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ และการใช้จักรยานเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม”ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว
ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย กลุ่มบิ๊กทรี และ Bangkok Bicycle Campaign จัดกิจกรรม “ปั่น+ปัน+ข้าว” ขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นการชวนนักปั่น เพื่อนสนิท มิตรสหายมาแสดงความรัก ด้วยการปั่นจักรยานเป็นคู่หรือเป็นหมู่ เพื่อออกกำลังกาย (=รักสุขภาพ) เพื่อสนับสนุนชาวนาออร์แกนิกที่ปลูกข้าวปราศจากสารพิษ (=รักสิ่งแวดล้อม) และช่วยองค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส (=รักเพื่อนมนุษย์) ในโอกาสวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก
ทพ.กฤษดา กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันสสส.ถือโอกาสส่งเสริมการเพิ่มการมีกิจกรรมกายในวิถีชีวิตอย่างเพียงพอให้เหมาะสมตามช่วงวัย ในการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน ซึ่งมีปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม จากข้อมูลของกรมอนามัย เมื่อปี 2555 พบว่ามีแม่วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ถึง 131,400 คน สูงเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน รองจากประเทศลาว และพบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูงถึง 260,000 คน/ปี ส่งผลกระทบตามมามากมาย ทั้งเสียโอกาสเรียนหนังสือ ผลกระทบต่อสุขภาพทั้งของแม่และลูก ภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูครอบครัว และผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากร ดังนั้น กิจกรรมนี้ถือเป็นการส่งเสริมการใช้เวลาในวันแห่งความรักกับครอบครัว และคนรักอย่างมีสุขภาวะ และมีความสร้างสรรค์ ทั้งยังเป็นการสร้างจิตสำนึกในการช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อนและมีศักยภาพในการช่วยตัวเองได้น้อยกว่า ได้แก่ ชาวนา และผู้ขาดโอกาสทางสังคม
ที่มา: สำนักข่าวสร้างสุข