รร.บ้านป่าสัก ขจัดปัญหาอ่านไม่ออกด้วย ‘บันไดนักอ่าน’
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เด็กไทยอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับเด็กไทย ในยุคปัจจุบัน เพราะจากข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า สถานการณ์การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ปี 2555 เด็ก ป.1 อ่านไม่ออก 5.71% เขียนไม่ได้ 7.63% ซึ่งปัญหานี้จะส่งผลถึงความสามารถและทักษะของเด็กเมื่อโตขึ้นได้ ทั้งความสามารถด้าน การเรียนรู้ ความฉลาด/ความรอบรู้ทางสุขภาพ (Health literacy)
จากตัวเลขดังกล่าวบางคนอาจจะมองว่าไม่ได้มากมายอะไร แต่ในทางกลับกันและในทางปฏิบัติ ตัวเลขเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ณ เวลานี้ไม่ควรมีเลยมากกว่า
และจากปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของนักเรียนนี้ ทำให้หลายโรงเรียนที่มีปัญหาได้พยายามหาวิธีการแก้ไขปัญหานั้น โดยที่ โรงเรียนบ้านป่าสัก ต.น้ำปาย อ.แม่จริม จ.น่าน ซึ่งเป็นโรงเรียนการศึกษาภาคบังคับ มีนักเรียนตั้งแต่ ชั้นป.1 ถึง ป.6 รวม 61 คน แต่ผลการทดสอบการอ่านระดับ เขตพื้นที่การศึกษาอยู่ในระดับต่ำ ยังไม่น่าเป็นที่พอใจ คุณครูทั้งโรงเรียนตระหนักถึงปัญหานี้ จึง ได้ร่วมกันคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหา การอ่านของนักเรียน ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรม "บันไดนักอ่าน" ขึ้นมา
นางนัฑวิภรณ์ จันต๊ะพรมมาผอ.โรงเรียนบ้านป่าสัก บอกว่า เมื่อเราทราบว่าผลการอ่านของนักเรียนโรงเรียนเราอยู่ในระดับต่ำ คุณครูจึงได้ใช้กระบวนการ พีแอลซี (PLC) หรือชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community) เพื่อหาวิธีแก้ปัญหา โดยเริ่มจากคุณครูทุกคนจะมาล้อมวงคุยกันตอนเช้า ทำให้ทราบถึงสาเหตุของปัญหา แล้วนำมาสู่การแก้ไขด้วยการช่วยกันออกแบบนวัตกรรม ช่วยกันทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาการอ่านของเด็ก เกิดเป็น "บันไดนักอ่าน" ซึ่งเป็นบันทึกนักอ่านแจกให้แก่นักเรียนทุกคนคนละหนึ่งเล่ม เป็นเหมือนสมุดพกที่นักเรียนจะมีติดตัว เพราะเราตั้งเป้าหมายร่วมกันว่า ลูก ๆ ทั้ง 61 คนต้องอ่านออก เขียนได้ 100% เมื่อจบออกจากโรงเรียน เนื่องจากคุณครูได้ช่วยกันดูคำศัพท์พื้นฐานของแต่ละระดับว่ามีอะไรบ้าง แล้วนำมาแทรกไว้ในบทอ่านในบันไดนักอ่าน โดยดูควบคู่ไปกับแบบเรียนและสื่อ อื่น ๆ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์แก่นักเรียน
"อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดนวัตกรรมบันไดนักอ่าน คือ เราสังเกตเห็นว่า เด็กชอบเล่นเกม ติดมือถือกันมาก จึงทำให้มาคิดว่าต้องทำอะไรให้เด็กวางมือถือลงบ้าง แต่ขณะเดียวกันเด็กก็ควรได้เล่นด้วยเป็นการเรียนป็นเล่น เราก็ใช้บันไดนักอ่านมาเป็นเกมให้เด็กแข่งกันอ่านเพื่อไต่บันไดขึ้นไป หลังจากทดลองใช้บันไดนักอ่านประมาณ 1 เทอม เราได้เห็นพัฒนาการของเด็กดีขึ้นอย่างชัดเจน จนทำให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อเด็กผ่านกระบวนการนี้จบ ป.6 จะต้องอ่านออกเขียนได้ 100% แน่นอน" ผอ.นัฑ วิภรณ์ กล่าวพร้อมกับอธิบายวิธีการใช้บันทึกบันไดนักอ่านว่า เราจะให้เด็กทุกคนนำบันทึกบันไดนัก อ่านกลับไปอ่านที่บ้าน อ่านให้ผู้ปกครองฟัง แล้วผู้ปกครองจะต้องเซ็นชื่อรับทราบ เมื่อกลับมาถึงโรงเรียนคุณครูก็จะทำการทดสอบอีกครั้ง ซึ่งวิธีการนี้นอกจากจะเป็นการฝึกพัฒนาการในการอ่านของเด็กแล้ว ยังเป็นตัวเชื่อมให้ผู้ปกครองรับรู้ว่าโรงเรียนทำกิจกรรมอะไรบ้างด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่เห็นจากโรงเรียนบ้านป่าสัก คือ การที่คุณครูทั้งโรงเรียนมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในการร่วมกันแก้ไขปัญหาของนักเรียน เป็นโรงเรียนเล็กแต่คุณภาพไม่เล็ก ที่เป็นอย่างนี้ได้ ผอ.นัฑวิภรณ์บอกว่า เพราะการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นหลักในการดำเนินกิจกรรมของโรงเรียน คือ มองปัญหาของเราเอง ครูล้อมวงคุยกันทุกวันสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน ให้ครูรักเด็ก เด็กรักครู เด็กเก่งช่วยเหลือเด็กอ่อน ไม่แข่งขันกัน เอื้ออาทรต่อกัน พี่สอนน้อง จากที่เคยคิดว่าต่างคนต่างอยู่ไม่ใช่หน้าที่ ตอนนี้ครูมาคิดด้วยกันรับผิดชอบร่วมกัน โดยยึดหลักว่าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จริง ๆ แล้วผลที่ได้ คือ พัฒนาการของเด็กที่เห็นได้ชัดเจน