‘รร.จุฬาภรณ์ฯ’ พลิกเกมส์สู่กีฬาท้าต่อย’Smart Punching Bag’
ที่มา : แนวหน้า
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เด็กมัธยมปลาย 'รร.จุฬาภรณ์ฯ'พลิกเกมส์สู่กีฬาท้าต่อย'Smart Punching Bag'นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงการออกกำลังกายในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นไว้ว่า ในช่วงอายุ 15-17 ปี เด็กผู้ชายจะออกกำลังกายเพื่อให้เกิดกำลัง ความแข็งแรง รวดเร็ว และความอดทน ส่วนผู้หญิงจะเน้น การออกกำลังกายประเภทที่ไม่หนักแต่ทำให้ ร่างกายแข็งแรงและเสริมสร้างรูปร่าง ในขณะที่ ช่วงอายุ 18-35 ปี จะเป็นการออกกำลังกาย เพื่อฝึกให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของร่างกาย แต่ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใดกิจกรรมการ ออกกำลังกายควรมีความหลากหลายเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อให้ครบทุกส่วนของร่างกาย
การออกกำลังกายนั้นมีประโยชน์ แต่หากทำซ้ำๆ นานๆ ก็กลายเป็นความ เบื่อหน่ายได้ วัยรุ่นนักคิด 3 คนที่รวมตัวกัน ในนามทีม "Smart Kids F T J" นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เล็งเห็นปัญหานี้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อที่นี่เป็นโรงเรียนประจำ ส่งผลให้การออกกำลังกายเป็นไปตามตารางที่กำหนดไว้ ขาดความตื่นเต้นสนุกสนาน จึงได้ร่วมกัน พัฒนาเกมส์หยอดเหรียญผสานกับกีฬาต่อยมวย จนเกิดเป็นผลงาน "Smart Punching Bag" ที่สามารถคว้า รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริม สุขภาพ THAIHEALTH INNO Awards ในระดับมัธยมศึกษา ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไปครอบครองได้
นายรชานนท์ บุญพุทธ "ต่อ" สมาชิกทีม "Smart Kids F T J" กล่าวว่า ทางโรงเรียนสนับสนุนให้นักเรียนออกกำลังกายโดยการเล่นกีฬาเป็นประจำ แต่จากการเก็บข้อมูลพบว่า นักเรียนที่เล่นกีฬามากกว่า 1 ชนิดมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ที่เหลือเป็นการเล่นกีฬาเพียงชนิดเดียว ส่งผลให้เพื่อนนักเรียนกลุ่มนี้เบื่อการออกกำลังกายง่ายขึ้น
"ในโรงเรียนมีอุปกรณ์กีฬาหลายชนิดให้นักเรียนได้เลือกเล่น แต่มีอยู่หลายชนิดที่นักเรียนไม่นิยม อย่างเช่น กระสอบทราย ทั้งที่ การต่อยมวยเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้ ผู้เล่นเหนื่อยได้เร็วกว่ากีฬาอื่นๆ ช่วยบริหารระบบหัวใจและหลอดเลือด สร้างความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ และสร้างความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อด้วย แต่เมื่อวิเคราะห์อีกครั้งก็พบว่าเพื่อนนักเรียนนิยมเล่นเกมส์ punching ตาม ห้างสรรพสินค้าทั้งที่ต้องเสียเงิน เพราะสนุกจากการได้วัดแรงต่อยของตนเอง จึงเป็นจุดเริ่มต้น ของผลงาน Smart Punching Bag ที่นำกระสอบทราย มาพัฒนาร่วมกับเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือน เพื่อ สร้างความน่าสนใจและกระตุ้นให้นักเรียนหันมา ออกกำลังกายด้วยการต่อยมวยมากยิ่งขึ้น"
นวัตกรทีม Smart Kids F T J ได้นำ เครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนติดตั้งบนตัวกระสอบทราย โดยกระจายจุดรับแรงสั่นสะเทือนไว้ทั่วตัวกระสอบ พร้อมติดตั้งโปรแกรมที่สามารถแสดงผลลัพธ์ที่ได้จากการออกกำลังกายแบบจำเพาะเจาะจง ใน Mode ต่างๆ ช่วยให้ผู้เล่นเห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
"Smart Punching Bag มีโปรแกรมการเล่น 2 แบบ คือ แบบธรรมดา (Normal mode) ที่ผู้ชกสามารถชกกระสอบไปเรื่อยๆ และหยุดได้เมื่อต้องการ โดยผลรวมของคะแนน จะได้จากความแรงของการชกในทุกๆ หมัด และแบบ Punches Gaming mode ผู้ชกจะกลายเป็นผู้เล่น เริ่มชกจาก level 1 คะแนนเริ่มต้นเป็น 0 โดยโปรแกรมจะจับเวลานับถอยหลัง 5 นาที ผู้เล่นต้องชกให้เท่ากับหรือมากกว่าแต้มที่โปรแกรมกำหนดไว้ หากทำได้จะสามารถเล่นต่อใน level ถัดไป แต่หากทำคะแนนได้ไม่ถึงที่กำหนดจะถือว่า gameover ต้องไปเริ่มต้นเล่นใหม่ ซึ่งใน mode นี้ ผู้เล่นจะได้ออกกำลังกายหนักขึ้น ได้สนุกกับการแข่งขันกับตนเองและผู้อื่นได้ สามารถวัดผลสุขภาพได้ชัดเจน ได้แก่ จำนวนและความแรงของหมัด ความยืดหยุ่นคล่องตัวของร่างกายโดยดูจากเวลาที่ใช้ และ ปริมาณของแคลอรีที่เผาผลาญไปจากการชก "นายกลวัชร สายสวรรค์ "เจฟฟรี" เล่าถึงกระบวนการและจุดเด่นของนวัตกรรมที่คิดค้น
ในขณะที่ นายธีรกานต์ โชควัฒนพรชัย "ฟิล์ม" สมาชิกคนที่ 3 ของทีม Smart Kids F T J อธิบายเพิ่มเติมว่า Smart Punching Bag นำไปทดสอบในโรงเรียนจุฬาภรณ์ฯ โดยติดตั้งอุปกรณ์ไว้ที่โรงยิม รวมถึงสวนสาธารณะที่คนนิยมไปออกกำลังกาย เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่บนตัวกระสอบเพื่อให้ได้รับผลที่ถูกต้องแม่นยำตามที่กำหนดไว้ ในโปรแกรม เป็นการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานในแต่ละวัน จำนวนผู้ที่มาใช้งานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงช่วงอายุและเพศของผู้ใช้ด้วย
"อุปกรณ์ซึ่งมีลักษณะเป็นกล่อง สี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่ติดตั้งอยู่ด้านบนของ กระสอบทราย จะมีปุ่มสำหรับกดเลือก Mode ที่ต้องการ และป้อนข้อมูลส่วนตัวของผู้เล่น ได้แก่ เพศและอายุ เมื่อชกไปเรื่อยๆ หน้าจอ แสดงผลลัพธ์ที่ได้จากการชก ผู้เล่นจึงได้รับ ความสนุกสนาน สามารถกระตุ้นให้ผู้ใช้ออกกำลังกายหนักขึ้น และผู้ใช้ยังสามารถแข่งขันกับตนเองและเพื่อนได้ ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาจากกระสอบทรายและเป็นหุ่นคน และทำให้เกิดสัญญาณเสียง และการแสดงผลด้วยเสียง เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายไปยัง ผู้พิการทางสายตา ให้มีโอกาสได้ออกกำลังกาย โดยการต่อยมวย รวมถึงจะบันทึกข้อมูลสำหรับ ทำงานวิจัยในอนาคตเพื่อออกแบบเครื่องมือที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพได้ดียิ่งขึ้นต่อไป"