รพ.สต.มุ่งสร้างนวัตกรรมสุขภาพ นำร่อง 300 แห่ง


โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. คือ การที่ชุมชนได้เป็นเจ้าของอย่างสมบูรณ์การสร้างความเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพ ถือเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าสิ่งก่อสร้าง โดยการยกระดับสถานีอนามัยทั่วประเทศ 9,000 แห่ง ทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขครั้งสำคัญ เพราะ รพ.สต. ในอนาคต จะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของการปฏิรูประบบสาธารณสุข


รูปแบบการดูแลรักษาพยาบาลของ รพ.สต. นั้น มีรั้วตำบลเป็นรั้วของโรงพยาบาล เตียงที่บ้านผู้ป่วยคือเตียงของโรงพยาบาล มีทีมสหวิชาชีพ อาทิ พยาบาลวิชาชีพหรือเวชปฏิบัติ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทันตาภิบาล นักกายภาพ และอื่นๆ รวมถึง อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ร่วมกันดูแลสุขภาพของคนในตำบลที่รับผิดชอบ ดูแลคนไม่ใช่แค่ดูแลโรค โดยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจึงใกล้ชิดทั้งกายและใจกับชาวบ้าน เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ คือ ยกระดับสุขภาพให้ดีขึ้นกว่าปกติ เช่น สนับสนุนกิจกรรมการออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ทำลายสุขภาพ และการป้องกันโรคทั้งในบุคคลและชุมชน


เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมชี้แจงการดำเนินงาน “โครงการสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งทางสุขภาพ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างโรงพยาบาลใหญ่ และ รพ.สต. เพราะการทำงานเชื่อมประสานกันระหว่าง 2 ส่วนนี้ถือว่ามีความสำคัญ รพ.สต.ในอนาคตจะมีการปรับบทบาทของผู้ให้บริการแบบตั้งรับ หรือ ชี้นำด้านสุขภาพประชาชน ไปเป็นผู้ให้ข้อมูล ทำหน้าที่ประสานทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อลดการเจ็บป่วย สร้างการดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เอื้อต่อสุขภาพที่ดี


ในอนาคตจะได้เห็นภาพของการพัฒนาชุมชนแบบใหม่ที่เต็มไปด้วยภูมิปัญญาของท้องถิ่น ประชาชนมีขีดความสามารถในการตัดสินใจและแก้ปัญหาที่กระทบต่อสุขภาพของตนเองและชุมชนได้มากขึ้น โดยมี รพ.สต. ที่จะมีพี่เลี้ยงเป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ช่วยกันดูแล เพราะเชื่อว่าไม่มีใครที่รู้ปัญหาภายในชุมชนดีเท่าคนในชุมชนเอง เมื่อคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมวางทิศทางการแก้ไข ปัญหาก็จะเริ่มหมดไป


นพ.บรรพต พินิจจันทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมโนรมย์แลกเปลี่ยนความเห็นในเวทีว่า ศักยภาพของคนในชุมชนมีพอ แต่ขาดการฝึกฝน เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การเข้ามาฝึกงานที่โรงพยาบาลจังหวัดที่ผ่านมา ยังไม่ต่อเนื่องและไม่ตรงกับความต้องการ ทำให้เมื่อถึงสถานการณ์จริง ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้  แต่ในอนาคต การทำงานต้องทำแบบ “คิดไป ทำไป คิดไป ทำไป” คือ ลงมือทำ แล้ววิเคราะห์เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาได้ในอนาคต


“ขณะนี้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างจังหวัดและชุมชน มีการเรียนรู้ร่วมกัน และให้ชุมชนเป็นผู้วางแผน คิดในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ และกำหนดกิจกรรมด้วยตัวเอง โดยใช้การสื่อสารที่สะดวกรวดเร็วให้เป็นประโยชน์ ทั้งโทรศัพท์ อีเมล หรือการใช้เว็บแคม เพื่อเพิ่มความสะดวกและลดภาระของโรงพยาบาลใหญ่ลง”


ด้าน นพ.สมชาย ภานุมาสวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราษีไศล กล่าวว่า จากเดิมที่สถานีอนามัย เป็นแค่ทางผ่านเพื่อขอใบส่งตัวไปโรงพยาบาลใหญ่ ทำให้เกิดความแออัดขึ้นในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งบางครั้งเป็นเพียงโรคเล็กๆ น้อยๆ เช่น ไข้หวัด แต่ปัจจุบันก็มีการตรวจคัดกรอง ซึ่ง รพ.สต. มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นจากการฝึกฝน เรียนรู้ และการให้คำปรึกษาจากแพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งสุดท้ายช่วยให้ระบบโดยรวมดีขึ้น


“การทำงานร่วมกันระหว่าง รพ.สต.กับโรงพยาบาลประจำจังหวัด จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี มีการติดต่อสื่อสาร พูดคุย เมื่อมีผู้ป่วยในพื้นที่ จึงเป็นเหมือนด่านสกัดก่อนที่น้ำจะทะลักเข้ามารวมกันในโรงพยาบาลใหญ่ เมื่อน้องในพื้นที่สามารถทำงานได้ ก็จะเริ่มสร้างความไว้ใจต่อชุมชนและขยายงานต่อไปในเรื่องอื่นๆ ได้”


สำหรับโครงการสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งทางสุขภาพฯ จะมี รพ.สต.เข้าร่วมเริ่มต้น 300 แห่งทั่วประเทศ โดยจะมีการสนับสนุนนวัตกรรมการพัฒนาสุขภาวะของชุมชน ไปสู่การพึ่งตนเองภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะแบ่งหัวข้อด้านต่างๆ ที่เข้าไปสนับสนุนความเข้มแข็ง อาทิ การดูแลสุขภาพชุมชนภายใต้แนวคิดเวชศาสตร์ครอบครัว การร่วมจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินและการส่งต่อ การใช้ภูมิปัญญาชุมชนด้านการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย ผู้พิการ การส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และเยาวชน การอนามัยแม่และเด็ก การคุ้มครองดูแลสุขภาพจิตชุมชน การคัดกรองโรคและการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย การสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพลดความเสี่ยงลดโรค การจัดการกองทุนสุขภาพตำบลพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน การคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อสุขภาพชุมชน และประเด็นสุขภาพอื่นๆ


แนวทางการสร้างความเข้มแข็งครั้งนี้ จะมีการจัดสรรงบประมาณและบุคลากรเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมทั้งจัดตั้ง “แหล่งเรียนรู้นวัตกรรมระบบสุขภาพชุมชน” ในตำบลที่มีนวัตกรรมสุขภาพดีเด่น โดยสิ่งที่ได้รับทุกพื้นที่คือการเปิดเวที เปิดโอกาสในการเรียนรู้ และสร้างความเข้มแข็งในการทำงานเพื่อกำเนิดชุมชนเข้มแข็ง ที่มีสุขภาพดีต่อไปนับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของงานดูแลรักษาสุขภาพคนไทยภายใต้การบริหารงานของ รพ.สต.


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code