“วัดเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ในสิ่งที่ดี จึงทำให้ชาวบ้านเกิดความศรัทธา ที่สำคัญวัดต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชน ปลอดจากอบายมุข ใครที่เข้ามาในวัดจะนำสิ่งเสพติดทั้งหลายเข้ามาในวัดไม่ได้”
จากคำกล่าวของ “พระครูสิทธิสารโสภณ” วัดสระชัย ต.หนองกง จ.ขอนแก่น ทำให้เห็นว่า ที่วัดสระชัยแห่งนี้เป็นวัดปลอดเหล้า ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่วัดและโรงพยาบาลน้ำพองทำร่วมกัน เพื่อให้ชาวบ้าน ต.น้ำพอง เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“พระครูสิทธิสารโสภณ” กล่าวว่า ในอดีตเวลาที่วัดมีงานบุญงานศพ หรืองานอะไรก็ตาม จะมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจับกลุ่มดื่มเหล้ากันเป็นประจำ ซึ่งขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่ต้องการให้คนลดละเลิกอบายมุข ดังนั้นวัดจะต้องเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาทำความดี จึงได้ริเริ่มโครงการ “วัดปลอดเหล้า” ร่วมกับโรงพยาบาลน้ำพอง ด้าน นางศศิธรณ์ นนทะโมลี พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการโรงพยาบาลน้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า จากที่มีโครงการเครือข่ายแพทย์ชนบทเพื่อลด ละเลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของโรงพยาบาลที่เห็นว่า แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของกว่า 60 โรค และสร้างปัญหาให้ เยาวชน ครอบครัว และสังคมตามมาอีกมากมาย ซึ่งโรงพยาบาลควรมีส่วนร่วมสำคัญในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ประกอบกับขยะที่เราเห็นในหมู่บ้านและตามวัดก็คือ ขวดเหล้าเบียร์ และสถานที่ที่ชาวบ้านดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดคือ วัด เพราะมีงานบุญ และงานต่างๆ จึงได้ริเริ่มโครงการ “วัดปลอดสุรา” ขึ้นมา สำหรับวัตถุประสงค์ของการทำงานในครั้งนี้ คือ เพื่อแก้ไขปัญหาสุราในชุมชน ด้วยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยขับเคลื่อนผ่านองค์กรศาสนา ส่งเสริมให้วัดเป็นพื้นที่ปลอดสุรา รวมทั้งลดจำนวนผู้บริโภคสุราในชุมชน ร่วมถึงการสร้างและขยายพื้นที่ปลอดสุรา
การดำเนินงานโดยใช้วัดเป็นสถานที่ปลอดสุรา และในเวลาเดียวกันเป็นสถานที่แก้ไขปัญหาสุรา สำหรับวัดที่เข้าร่วมโครงการนำร่องได้แก่ วัดหนองกง โดยมีพระราชปริยัติโสภณ รองเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น เป็นผู้ดูแล และวัดสระชัย โดยมีพระครูสิทธิสารโสภณ เจ้าคณะอำเภอน้ำพอง เป็นผู้ดูแลโครงการ
พระครูสิทธิสารโสภณ กล่าวว่า พระในวัดจะเป็นผู้ตั้งกฎกติกากันเอง โดยมีกฎข้อห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในและบริเวณใกล้เคียงวัด และหากมีการฝ่าฝืน ในเบื้องต้นจะเป็นการตักเตือน หากไม่เชื่อฟังจะมีการใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาช่วย อีกทั้งจะขอความร่วมมือเจ้าภาพที่จะมาจัดงานในวัดห้ามมีการเลี้ยงหรือขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด
“วัดจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชาวบ้าน ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจอีกทางหนึ่ง ที่ให้ชาวบ้านหันมาทำความดี ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขต่างๆ ซึ่งจะมีการทำประชาคมหมู่บ้านว่า ชาวบ้านต้องการให้วัดเป็นอย่างไร จะสร้างศีลธรรมให้กับลูกหลานได้อย่างไร แล้วจึงกำหนดมาเป็นแนวทางปฏิบัติกัน” พระครูสิทธิสารโสภณ กล่าว
นางศศิธร กล่าวว่า สาเหตุที่เราเลือกเชิญวัดมาร่วมโครงการ เนื่องจากเห็นว่า เวลาที่พระท่านพูดอะไรก็ตามชาวบ้านจะให้ความเชื่อถือมากกว่าแพทย์ หรือพยาบาล สำหรับการทำงานทางโรงพยาบาลจะต้องทำงานร่วมกันกับวัด ทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้หาข้อมูลความรู้ โดยทางวัดจะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่างๆ โดยเน้นไปที่ความสำคัญของลูกหลานในหมู่บ้าน
ที่ผ่านมาชาวบ้านน้ำพองให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะพวกเขาเหล่านั้นเห็นโทษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่อยากให้ลูกหลานตกเป็นเหยื่อของน้ำเมาอีกต่อไป
นอกจากนี้ โรงพยาบาลน้ำพองยังได้จัดโครงการ 5 โครงการ เพื่อเป็นการบูรณาการแก้ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างครบวงจร ได้แก่ 1.โครงการวัดปลอดสุรา 2. โครงการครอบครัวอบอุ่น 3. โครงการเครือข่ายอุบัติเหตุ 4.โครงการโรงเรียนคุณธรรม และ 5. โครงการจัดการประชุม การณรงค์ของการทำงานเรื่องแอลกอฮอล์และอื่นๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทั้ง 5 โครงการมีความสอดคล้องกัน
และเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ อ.น้ำพอง มีวัดปลอดสุราให้เป็นตัวอย่างที่ดีกับพื้นที่ต่างๆ ได้ โดยในอนาคตจะมีการนำข้อมูลไปใช้เพื่อการพัฒนาระบบ และการนำกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยการบูรณาการร่วมกับโครงการหมู่บ้านต้นแบบลดเสี่ยง ลดโรค
การทำงานของโรงพยาบาลน้ำพอง เป็นตัวอย่างที่ดีโดยใช้ความศรัทธา ความเชื่อของชาวบ้านที่มีต่อศาสนาเข้ามาช่วยในการทำงานบวกกับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และการใช้กฎหมายเข้าร่วม จึงทำให้ชาวบ้านน้ำพองมีความสุขจนถึงทุกวันนี้ โดยที่ไม่เห็นลูกหลานในชุมชนตกเป็นเหยื่อของน้ำเมาอีกต่อไป
ที่มา : สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สคล.