‘รพ.ชุมแพ’ เจ๋งใช้กม.มาช่วยแก้ปัญหาน้ำเมา
ปัญหาแอลกอฮอล์ได้กลายเป็นปัญหาระดับโลก แต่ในขณะเดียวกันการแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขในระดับชุมชน”โรงพยาบาลชุมแพ”จังหวัดขอนแก่น เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของหน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่ที่ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยใช้กฎหมายเข้ามาควบคุมการดื่มของเยาวชน รวมทั้งร้านค้า จนได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่”ต้นแบบที่ไม่มีการขายเหล้าปั่น”
นางสาวธาดาวรรณ ภูมาตนา เจ้าพนักงานเภสัชกรรมชำนาญงาน(หัวหน้างานยาเสพติด) โรงพยาบาลชุมแพ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น และในฐานะผู้ประสานงานโครงการเครือข่ายแพทย์ชนบทเพื่อลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรงพยาบาลชุมแพ อธิบายถึงสถานการณ์การดื่มสุราของอำเภอชุมแพ กล่าวว่า จากข้อมูลที่ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำรวจความชุกการดื่มสุราในจังหวัดขอนแก่นปี 2552 พบว่า ผู้มีอายุ 20 ปี ขึ้นไปดื่มมากถึง 47.0 % ส่วนอายุ 15-19 ปีดื่มมากถึง 21.9 % ซึ่งก่อนที่ยังไม่มีโครงการนี้เกิดขึ้น ยอมรับว่าการดื่มสุราของอำเภอชุมแพยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน สุราสามารถเข้าถึงได้ง่าย ประกอบกับในอำเภอชุมแพมีร้านค้า ร้านขายของชำที่จำหน่ายสุรามากกว่า 1,200 แห่ง แต่จากข้อมูลของกรมสรรพสามิตในพื้นที่ปี2555 มีผู้ประกอบการมาขอใบอนุญาตจำหน่ายสุราเพียง 968 ราย
นางสาวธาดาวรรณ ยังบอกอีกว่า ทางโรงพยาบาลชุมแพ โดยการนำของ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.โรงพยาบาลชุมแพและประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ( สสส.)ผ่านทางโครงการเครือข่ายแพทย์ชนบทเพื่อลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สานต่อแก้ไขปัญหาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และที่สำคัญคือ การเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เช่น สถานที่ราชการสวนสาธารณะ วัด โรงเรียน โรงพยาบาล รพ.สต. โรงแรม ปั๊มน้ำมัน ร้านค้า/ร้านชำ ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าส่ง สถานเริงรมย์ ผับ บาร์ ร้านเกมส์หอพัก หมู่บ้านและวัดต้นแบบ ทั้งหมด 1,400 แห่ง ทั่วอำเภอชุมแพ ซึ่งสถานที่ทั้งหมดนี้ได้ถูกจัดระเบียบและพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง และไม่จำหน่ายสุราให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี มีสติ๊กเกอร์ประชาสัมพันธ์กำหนดเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างชัดเจน
“ประชาชนในอำเภอชุมแพปฏิบัติตามกฎหมายได้กว่า 80% และเรื่องที่น่าภูมิใจ คือ ในอำเภอชุมแพไม่มีการจำหน่ายเหล้าปั่น เพราะความร่วมมือของเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายที่เห็นถึงปัญหา จึงได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการทุกร้านไม่ให้ขายเหล้าปั่นอย่างเด็ดขาด ทั้งที่กฎหมายควบคุมเหล้าปั่นยังไม่มีอำเภอชุมแพจึงถือเป็นต้นแบบของการงดขายงดดื่มเหล้าปั่นได้เป็นอย่างดี” นางสาวธาดาวรรณกล่าว
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจของโรงพยาบาลชุมแพที่เข้ามาหนุนเสริมให้เกิดพฤติกรรมลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือโครงการ ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนักเรียนกลุ่มเสี่ยงิ โดยมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการ400 คน จาก11 โรงเรียน ในจำนวนนี้มีเยาวชนดื่มสุราทั้งหมด292 คน แต่จากการร่วมกิจกรรมทำให้พบว่า เยาวชนสามารถเลิกดื่มสุราได้ 226 รายและลดการดื่ม 66 ราย และเยาวชนที่ดื่มเป็นประจำจะได้รับการบำบัดทางการแพทย์ นอกจากนี้ยังได้มีการจัด”คลินิกสีขาวโรงพยาบาลชุมแพ”ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงเรียนและโรงพยาบาล เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาขอรับบริการและคำปรึกษาเรื่องปัญหาสุรา ที่ผ่านมาจากการดำเนินงานพบว่า มีผู้ติดสุรา ถูกคัดกรองและเข้ารับการบำบัดรักษาทั้งผู้ดื่ม ผู้ติดสุรา สามารถลด ละ เลิกสุราได้ไม่ต่ำกว่า 50% ทั้งนี้โรงพยาบาลชุมแพยังมีการสร้างค่านิยมใหม่ในเด็กและเยาวชน เช่น การประกวดเรียงความ”ทุกข์จากสุรา” เสียงตามสายในโรงเรียน สอดแทรกพิษภัยและมุมมองด้านวิชาการหน้าเสาธง ฯลฯ
มาตรการที่จะแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์ให้ได้ผลนั้น กลไกจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐ ที่จะมีบทบาทบังคับใช้กฎหมายให้ได้ผล รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการแก้ไขปัญหาโดยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในชุมชน ดังเช่นกรณี การห้ามขายเหล้าปั่นได้สำเร็จ ไปพร้อมกับการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในพื้นที่ให้ตระหนักถึงพิษภัยของแอลกอฮอล์ อีกทั้งยังรวมไปถึงการบำบัดรักษา ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวประสบความสำคัญโดยปราศจากข้อโต้แย้งของคนในชุมชน
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย