รพ.จุฬาฯ มุ่งพัฒนาการรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
"โรคหลอดเลือดสมอง" เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ การดูแลผู้ป่วยเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการสามารถทำได้โดยเพิ่มการเข้าถึงบริการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด หรือการทำ thrombectomy
อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินและให้การรักษา แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นไม่ได้มีอยู่ทุกโรงพยาบาล และไม่ได้อยู่ประจำที่โรงพยาบาลตลอดเวลา ในต่างประเทศได้มีการพัฒนาระบบรับปรึกษาโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางไกล (Telestroke system) ที่มีความเฉพาะในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคสมอง ขาดเลือดในระยะเฉียบพลัน แต่เทคโนโลยีเหล่านั้น มีราคาสูง และอาจไม่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายโรคหลอดเลือดสมอง เครือข่ายที่ 1 ในเขต 13 จากการประเมินเบื้องต้น พบว่าโรงพยาบาลลูกข่ายแต่ละแห่งมีศักยภาพ ในการให้บริการที่แตกต่างกัน ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงได้จัดระบบการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบและอุดตันในระยะเฉียบพลัน (Stroke fast track) ที่มีแนวทางปฏิบัติชัดเจนและรวดเร็ว โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางไกลด้วยระบบ Telestroke ด้วยการนำความเชี่ยวชาญของศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหลอดเลือดสมอง รับปรึกษาทางไกลจากโรงพยาบาลที่ยังไม่สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโรคหลอดเลือดสมองด้วยยาละลายลิ่มเลือดผ่านทาง real time video telestroke เพื่อเพิ่มปริมาณผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาได้ทันภายในเวลาที่กำหนด รวมทั้งรับส่งต่อเพื่อทำ thrombectomy ผลการรักษาพบว่าในช่วง 6 เดือน มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับการส่งต่อมายังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จำนวน 87 ราย ในจำนวนนี้ 35 รายเป็นการส่งต่อในระยะเฉียบพลันเพื่อให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือเพื่อการทำ thrombectomy โดยการให้คำปรึกษาผ่าน telestroke system และมีผู้ป่วย 20 ราย ที่เข้ากระบวนการ drip and ship คือให้การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดที่โรงพยาบาลต้นทาง และส่งต่อมายังโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพื่อการประเมินและรักษาต่อ หลังการรักษาพบว่ามีผู้ป่วยถึง 61 % ที่มีผลลัพธ์ที่ดีไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นในการ ดำเนินชีวิต ส่งผลให้ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้รับรางวัลผลงานดีเด่น Best Practice สาขาโรค ไม่ติดต่อ ในผลงานเรื่อง "การพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลเครือข่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคสมองขาดเลือดในระยะเฉียบพลันด้วยระบบการรับปรึกษาด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศทางไกล (Telestoke system) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์"จากกระทรวงสาธารณสุข ในการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan Sharing) ครั้งที่ 4 ปีงบประมาณ 2560
ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร กล่าวว่า "โครงการนี้แสดงให้เห็นว่าระบบเครือข่ายที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางไกล เป็นนวัตกรรมที่ช่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ช่วยให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันเข้าถึงบริการและได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐานได้ มากขึ้น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้พัฒนาและเป็นต้นแบบของการรักษา และน่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโรงพยาบาลอื่นๆ ในประเทศได้"ชนิดของโรคหลอดเลือดสมอง
-โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) เป็นชนิด ที่พบได้บ่อยที่สุด มีสาเหตุเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือด ทำให้เลือดและออกซิเจนไม่สามารถไหลเวียนไปที่สมอง ปัจจัยที่ทำให้หลอดเลือดสมองตีบ คือ ภาวะคอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
-โรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic Stroke) หรือที่รู้จักอีกชื่อหนึ่งว่าภาวะเส้นเลือดในสมองแตก เกิดขึ้นได้น้อยกว่าชนิดแรก แต่ความรุนแรงนั้นไม่แพ้กัน สาเหตุมักเกิดจากความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง และความผิดปกติของหลอดเลือดสมองได้อีกด้วย
อาการที่สำคัญ คือ ชาบริเวณ แขน ขา ใบหน้า หรือบริเวณข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย, สับสน มีปัญหาทางการสื่อสาร พูดไม่เข้าใจ, เห็นภาพซ้อน ตามัว (เพียง ข้างเดียว), เวียนศีรษะหรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ, วิงเวียน ทรงตัวไม่อยู่ บางรายอาจเป็นลมหมดสติ
หากมีอาการดังที่กล่าวข้างต้น ให้รีบจัดการส่งตัวผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์โดยทันที