รถกระบะบรรทุกคนได้แค่ 6 ขับเร็วเกิน 80 เสี่ยงอุบัติเหตุ

ที่มา :  เดลินิวส์


ภาพประกอบจาก สสส.


รถกระบะบรรทุกคนได้แค่ 6 ขับเร็วเกิน 80 เสี่ยงอุบัติเหตุ thaihealth


เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือภาคีเครือข่ายอาทิ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน (ศวปถ.) เปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ "ถอดรหัสโศกนาฏกรรมท้ายกระบะทำอย่างไรไม่ซ้ำรอยเดิม" โดยนำกรณีศึกษาอุบัติเหตุรถกระบะเสียหลักพลิกคว่ำทำให้นักศึกษาเทคนิคศรีสะเกษเสียชีวิตรวม 17 ราย


รถกระบะบรรทุกคนได้แค่ 6 ขับเร็วเกิน 80 เสี่ยงอุบัติเหตุ thaihealth


โดยนายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่าสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงถึง 24,000 รายต่อปี ในจำนวนนี้กว่า 60% มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่ากฎหมายกำหนดและกรณีที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาเทคนิคศรีสะเกษถือเป็นความสูญเสียที่ร้ายแรงเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 เพราะเป็นการใช้รถผิดประเภทนำรถกระบะมาบรรทุกคนและเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก เนื่องจากใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด


รถกระบะบรรทุกคนได้แค่ 6 ขับเร็วเกิน 80 เสี่ยงอุบัติเหตุ thaihealth

นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีหลายแง่มุมทั้งสาเหตุอุบัติเหตุจากข่าวที่ปรากฏชี้ให้เห็นพฤติกรรมเสี่ยงตั้งแต่การดื่มแล้วขับรถเร็ว แซงกระชั้นชิดและการบรรทุกท้ายกระบะจำนวนมากเพิ่มโอกาสในการพลิกคว่ำมากขึ้น ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตเมื่อพลิกคว่ำแบบเทกระจาดด้วยความเร็วสูงทำให้ผู้ที่นั่งมาในท้ายกระบะก็จะพุ่งออกมาปะทะกับวัตถุบนถนนทั้งพื้นถนน ขอบฟุตปาธ เสาไฟหรือแม้แต่กำแพงรั้วส่งผลต่อการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต


นพ.ธนะพงษ์กล่าวอีกว่า จากการศึกษาของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯโดยสอบถามผู้ที่นั่งท้ายกระบะจำนวน 200 คนใน เขต กทม.และปริมณฑลถึงความเสี่ยงในการนั่งท้ายกระบะพบว่า 50% หรือครึ่งหนึ่งรู้ว่าอันตรายแต่ไม่มีทางเลือก ขณะที่เกือบ 1 ใน 3 หรือ 30% เห็นว่าไม่เสี่ยงและไม่ได้อันตรายมากกว่าการนั่งในตำแหน่งอื่น นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯยังได้จำลองให้เห็นโอกาสพลิกคว่ำโดยเปรียบเทียบรถกระบะที่ไม่บรรทุกคนน้ำหนัก 1.5 ตัน จะมีความเสี่ยงในการพลิกคว่ำ 12% แต่ถ้าบรรทุกคน 10 คนหนักคนละ 60 กก. เสี่ยงต่อการพลิกคว่ำ 28% หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าและถ้าคนในท้ายกระบะยืนขึ้นจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำขึ้นไปอีก 4 เท่าเมื่อเทียบกับไม่มีการบรรทุกคน นอกจากนี้ผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกายืนยันความเสี่ยงที่ผู้โดยสารนั่งกระบะหลังจะเสียชีวิตมากกว่า ผู้โดยสารนั่งตอนหน้าที่คาดเข็มขัดนิรภัยถึง 8 เท่า


นพ.ธนะพงษ์ กล่าวว่า ทางออกในการแก้ปัญหาคือ รณรงค์ห้ามนั่งท้ายกระบะและกำหนดให้โฆษณารถกระบะต้องระบุความเสี่ยงของการนั่งท้ายกระบะและการนั่งใน spacecab ติดตั้งโครงยึดเกาะในกลุ่มที่จำเป็นต้องเข้มงวดให้บรรทุกไม่เกิน 6 คนและขับไม่เร็วเกิน 80 กม.ต่อชม. หน่วยงาน องค์กร โรงงานต่าง ๆ ต้องมีมาตรการกำกับดูแลไม่ให้มีการนั่งท้ายกระบะหรือถ้าจำเป็นควรมีเงื่อนไขด้านความปลอดภัยเช่น มีโครงยึดเกาะ ใช้ความเร็วตามกำหนด รถมีการตรวจสภาพพร้อมใช้ มีประกันภัย เป็นต้น นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีข้อกำหนดให้ทุกครั้งที่มีงานรื่นเริงโดยตั้งจุดตรวจป้องปรามเมื่อมีการบรรทุกท้ายกระบะเกิน 6 คน ตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์หากเกิดอุบัติเหตุควรมีการเจาะเลือดตรวจวัดภายใน 1-2 ชั่วโมง

Shares:
QR Code :
QR Code