รณรงค์เลิกถวายบุหรี่พระ
แนะพุทธศาสนิกชนเลิกถวายบุหรี่แด่พระภิกษุสงฆ์ ผลสำรวจเผย การที่ผู้นำศาสนาสูบบุหรี่ ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในเยาวชนได้
ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ได้กำหนดสถานที่ปลอดบุหรี่ไว้จำนวนมาก ศาสนสถานถือเป็นสถานที่หนึ่งที่ห้ามสูบบุหรี่ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปสู่การรณรงค์ให้ศาสนสถานเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่
โดย ศจย.และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.) ร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ม.อัสสัมชัญร่วมศึกษาเรื่องพฤติกรรมและความคิดเห็นต่อการสูบบุหรี่ของผู้นำศาสนา : กรณีศึกษาพระและผู้นำทางศาสนา ในกลุ่มตัวอย่างผู้นำทางศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม 905 ตัวอย่าง พบว่า ผู้นำศาสนาเกินครึ่ง หรือร้อยละ 52.7 ระบุว่า เคยสูบบุหรี่/ยาสูบมาก่อน และร้อยละ31 ยังคงสูบบุหรี่ โดยร้อยละ 57.2 ของกลุ่มตัวอย่างที่ยังสูบบุหรี่ระบุว่า คิดอยากจะเลิกสูบยาในเร็วๆ นี้ โดย 3 ใน 4 ระบุว่า การที่ผู้นำศาสนาสูบบุหรี่ ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบในเยาวชนได้
ดร.นพดล กรรณิกา ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน (เอแบคโพลล์) กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มตัวอย่างที่ยังสูบบุหรี่ ร้อยละ 95 ระบุว่า สูบในเขตศาสนสถาน โดยกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 85.3 เห็นด้วย หากจะรณรงค์ไม่ให้ศาสนิกชนถวาย/ให้บุหรี่/ยาสูบแก่ผู้นำทางศาสนา โดยส่วนใหญ่ระบุว่าการสูบบุหรี่ต่อหน้าสาธารณชนไม่เหมาะสม และยังไม่เห็นด้วยในการถวายบุหรี่/ยาสูบของศาสนิกชน โดยร้อยละ 55.1 เห็นว่า ผู้นำศาสนาควรจะปฏิเสธหากศาสนิกชนนำบุหรี่/ยาสูบมาถวาย
ด้าน นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ผู้นำศาสนาควรเข้ามาแสดงบทบาทนำในการแก้ปัญหาสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุของการป่วยและเสียชีวิตที่สำคัญที่สุดของคนไทย ปีละกว่า 48,000 คน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด