รณรงค์เตรียมร่างกายต่อกร ‘โรคมะเร็ง’

ที่มา : แนวหน้า


 


รณรงค์เตรียมร่างกายต่อกร 'โรคมะเร็ง' thaihealth


แฟ้มภาพ


4 กุมภาพันธ์ของทุกปี สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (Union for International Cancer Control, UICC) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) ได้กำหนดให้เป็น "วันมะเร็งโลก" หรือ "World Cancer Day" เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของโรคมะเร็ง


นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย ล่าสุดพบผู้ป่วยรายใหม่ 112,392 คนต่อปี และมีแนวโน้มการเจ็บป่วยและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น โรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชาย 5 อันดับแรก ได้แก่  มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่วนมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศหญิงไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ วันมะเร็งโลก กำหนดขึ้นทุกวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี โดย UICC และ WHO เพื่อให้คนทั่วโลกร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้กับโรคมะเร็ง โดยมีเป้าหมายที่จะลดความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง โดยมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ครั้งแรกปี 2551


นายแพทย์วีรวุฒิ  อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า  สำหรับประเทศไทยสถาบันมะเร็งแห่งชาติเป็นองค์กรหลักที่จัดกิจกรรมรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเนื่องในวันมะเร็งโลกมาอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2559 – 2561 UICC ได้กำหนดหัวข้อหลักในการรณรงค์ว่า “We can. I can.” เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังแห่งความร่วมมือของแต่ละภาคส่วนในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง โดยจุดเน้นที่สำคัญของ “We can” คือพวกเราในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน สามารถดำเนินการด้านต่างๆ อาทิ ผลักดันนโยบาย สร้างแรงบันดาลใจ ลงมือปฏิบัติตามแผน สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดี สนับสนุนการเข้าถึงการรักษาโรคและการให้บริการอย่างเป็นธรรม เร่งผลิตบุคลากรที่รอบรู้เรื่องโรคมะเร็ง สร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็ง ผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงให้เห็นผล สนับสนุนการลงทุนด้านการควบคุมและป้องกันโรคมะเร็ง และร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้


ในขณะที่ “I can” เป็นบทบาทของปัจเจกบุคคลในการร่วมต่อสู้กับโรคมะเร็งมีจุดเน้นที่สำคัญ เช่น คนปกติทั่วไปสามารถเลือกใช้ชีวิตที่ลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง เชื่อมั่นว่าการตรวจพบโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาหายขาดได้ ให้กำลังใจและช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในส่วนของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งแล้ว ก็สามารถดูแลตนเองและมีชีวิตอยู่กับโรคอย่างมีคุณภาพดั่งเช่น คนปกติ แบ่งปันประสบการณ์และให้ความหวังแก่ผู้ป่วยมะเร็งรายอื่น ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของทั้ง 2 ส่วน ดังกล่าว จะช่วยให้สังคมโลกสามารถแก้ปัญหาโรคนี้ได้อย่างเป็นระบบ

Shares:
QR Code :
QR Code