รณรงค์สวมหมวกกันน็อค 100%
ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดโครงการปีแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100% โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายโสภณ ซารัมย์ รมว.มนาคม พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. และนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธอบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมงาน
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกล่าวรายงานว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุลำดับต้นของการเสียชีวิต บาดเจ็บและพิการของคนไทย โดยเฉพาะผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ร้อยละ 40 ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ ในช่วงเทศกาลมีผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงถึงร้อยละ 80 หรือเฉลี่ยผู้เสียชีวิตจากการขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ประมาณวันละ 24 คน แม้สถิติตัวเลขการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะมีแนวโน้มลดลง จากปี 2547 ที่มียอดสูงถึง 14,000 คน ในปี 2552 ลดลงเหลือ 11,000 คน แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่น่ากังวลเพราะ 12 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตเป็นเด็กและเยาวชน
นอกจากนี้ ยังมีผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแต่ละปีมากกว่า 1 แสนคน ที่สำคัญต้องกลายเป็นคนพิการปีหนึ่งถึง 3,000 คน โดยเฉลี่ยทุก 2 ชั่วโมงจะมีผู้พิการเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากมีพฤติกรรมเสี่ยง ที่สำคัญคือการไม่สวมหมวกนิรภัย ความสูญเสียเมื่อคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจเพราะอุบัติเหตุทางถนนปีละ 2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.8 ของจีดีพีประเทศ ทางศูนย์อำนวยการปลอดภัยทางถนนตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาจึงดำเนินนโยบาย ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนตามที่รัฐบาลกำหนดเป็นเป้าหมายและแนวทาง โดยจัดทำโครงการปีแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100% มีเป้าหมายให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยเพื่อความ ปลอดภัยของตัวเอง ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบให้ปีนี้เป็นปีแห่งการรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย 100%
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่งว่า 2 ปี ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อ เนื่องเพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและป้องกันไม่เกิดการสูญเสีย องค์การสหประชาชาติได้กำหนดว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาระดับโลกสมควรที่ ทุกประเทศจะร่วมมือแก้ไข และกำหนดให้ช่วงทศวรรษตั้งแต่ปี คศ. 2011 – 2020 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้ช่วงดังกล่าวเป็นทศวรรษความปลอดภัยทางถนนโดยมีเป้า หมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 หรือ มีอัตราการตายไม่เกิน 10 คนต่อประชากรไม่เกิน 1 แสนคน
ซึ่งการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวมีปัจจัยหลายด้าน ประกอบด้วยพฤติกรรมของทุกคนที่ต้องช่วยกันพัฒนาด้านความพร้อมของผู้ขับขี่ ต้องมีความรู้ มีสมรรถนะในการขับขี่รถยนต์ด้วยความปลอดภัย ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดและสร้างความเรียนรู้ความปลอดภัยในสถาน ศึกษา ปัจจัยที่สอง การทำงานในโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งทางบก ทั้งเรื่องของผังเมือง ถนน มีการปรับปรุงจุดที่มีอุบัติเหตุซ้ำซากให้เกิดความปลอดภัยสำหรับผู้เดินทาง ปัจจัยที่สามที่ได้ดำเนินการคือสมรรถนะของยานพาหนะ โดยเฉพาะมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารของยานพาหนะ รถตู้ รถนักเรียน รวมทั้งได้กำหนดมาตรฐานและการควบคุมกำกับที่มีคุณภาพให้เกิดความปลอดภัยและ เชื่อมั่นให้กับประชาชน เพราะอุบัติเหตุหลายครั้งเป็นผลที่เกิดมาจากการดัดแปลงยานยนต์หรือรถ ประดิษฐ์เองที่มีสภาพไม่ปลอดภัย และปัจจัยสุดท้ายคือการบังคับใช้กฎหมาย มีการกวดขันอย่างเคร่งครัดสร้างความเข้มแข็งให้เจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการ ทศวรรษความปลอดภัยทางถนน วางแนวทางที่จะพัฒนาภายใน 10 ปี คือการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย การลดพฤติกรรมเสี่ยงจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขับขี่ยานพาหนะ การแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง จุดอันตราย การปรับพฤติกรรมการใช้ความเร็ว การยกระดับมาตรฐานยานพาหนะให้ปลอดภัย การพัฒนาสมรรถนะผู้ใช้รถใช้ถนน การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ และว่าแม้เราจะมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ แต่ปัจจุบันมีผู้ขับขี่ที่สวมหมวกนิรภัยเพียงร้อยละ 60 ส่วนผู้โดยสารสวมเพียงร้อยละ 30 เจ้าหน้าก็ไม่สามารถกวดขันบังคับใช้ตามกฎหมายได้ จึงต้องรณรงค์ให้มากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง นอกจากนี้รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามกฎหมาย และจะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาร่วมรณรงค์สวมหมวกนิรภัย การประสานภาคเอกชนผลิตหมวกนิรภัยในราคาที่เหมาะสม
“การสูญเสียที่เกิดขึ้นจำนวนมากเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของตัวเราเอง ซึ่งผมมั่นใจว่าถ้าสามารถทำให้ทุกคนตระหนักก็จะทำให้เกิดการตื่นตัว ให้ความร่วมมือกับการรณรงค์ ซึ่งการเริ่มต้นจากการสวมหมวกนิรภัยจึงหวังว่าจะได้รับความร่วมมือทุกฝ่าย”
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้รับมอบหมวกนิรภัยจากผู้แทนภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน พร้อมมอบให้กับทูตรณรงค์และผู้แทนกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ เด็ก เยาวชน ภาคแรงงานและกลุ่มมอเตอร์ไซด์รับจ้าง เพื่อเป็นการประกาศวาระการเริ่มต้นการรณรงค์สวมหมวกนิรภัยทั่วประเทศ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า