รณรงค์ลดใช้ภาชนะหมุนเวียนในเขตอุทยานแห่งชาติ
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
ภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมรณรงค์ลดการใช้ภาชนะหมุนเวียนในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยนำร่องนำปิ่นโตมาใช้แทนโฟมและพลาสติกใน 10 อุทยานแห่งชาติทางทะเลก่อน 500 เถา
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อม นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด(มหาชน) ร่วมกันรณรงค์การใช้ภาชนะหมุนเวียนในเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อประชาสัมพันธ์การลดปริมาณขยะพลาสติกและลดการเสียชีวิตของสิ่งมีชีวิตในเขตอุทยานแห่งชาติ โดย นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เพื่อให้แผนลดการใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวลงให้ได้ร้อยละ 50 ในปี 2563 ควบคู่กับรณรงค์ให้การท่องเที่ยวรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดขยะและสร้างขยะหรือพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งและการใช้วัสดุสำหรับทดแทนพลาสติกจากกิจกรรมท่องเที่ยว เช่น การใช้ถุงผ้า ขวดน้ำพกพา กล่องข้าวพกพา หลอดดูดน้ำจากวัสดุธรรมชาติ การใช้ผ้าเช็ดหน้า จึงร่วมกับภาคเอกชนดึงการใช้ปิ่นโตมาใช้ทดแทนโฟมและพลาสติกในเขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศนำร่อง 500 เถาแรก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทำจากเมลามีนสำหรับใช้ใส่อาหารและนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ขณะที่ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะนำร่องนำปิ่นโตไปใช้ทดแทนโฟมและพลาสติกในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล10 แห่งก่อน เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ , อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี , อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง , เกาะสมุย , เกาะพะงัน , เกาะเต่า เนื่องจากมีจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนมากนำข้าวกล่องขึ้นไปกินบนเกาะต่างๆ เพื่อลดใช้โฟมและพลาสติกลงด้วยการหันมาใช้ปิ่นโตแทน คาดว่า จะลดปริมาณขยะบนเกาะได้มาก สอดคล้องกับนโยบายการประกาศงดการนำโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเข้าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพราะก่อให้เกิดปริมาณขยะพลาสติกและโฟมมากกว่าปีละ 2 ล้านตัน โดยเฉพาะขยะพลาสติกถุงหูหิ้วใช้ครั้งเดียวทิ้งมากถึง 1.2 ล้านตันต่อปี
ปัจจุบันประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้าไปท่องเที่ยวและพักผ่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติมากขึ้นทุกปี ส่งผลให้เกิดขยะจากกิจกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้นเช่นกัน จึงจำเป็นต้องลดปริมาณขยะจากภาคการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวลงให้มากที่สุดด้วยการใช้วัสดุที่ทำจากธรรมชาติหรือวัสดุทดแทนโฟมและพลาสติกลงสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล