รณรงค์ปชช.ทราบค่าความดันโลหิต ป้องกันการเกิดโรค

ที่มา : สำนักโรคไม่ติดต่อ/ สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค


รณรงค์ปชช.ทราบค่าความดันโลหิต ป้องกันความเสี่ยงการเกิดโรค  thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมควบคุมโรค รณรงค์ให้ประชาชนทราบค่าความดันโลหิต เพื่อให้ตระหนักและป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นจากประมาณ 3.9 ล้านราย เป็นกว่า 5.5 ล้านราย เหตุจากปัจจัยการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป พร้อมขับเคลื่อนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการวัดค่าความดันโลหิตได้ง่ายมากขึ้น แนะโรคดังกล่าวป้องกันได้ เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรม


นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลกกำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของภาวะความดันโลหิตที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมาก โดยปี 2561 ทางสมาพันธ์ฯได้ใช้คำขวัญเพื่อการรณรงค์ที่ว่า “Know Your Numbers” หรือ “ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่” โดยให้ความสำคัญกับการให้ประชาชนทราบค่าความดันโลหิตของตนเอง นำไปสู่การป้องกันโรคความดันโลหิตสูง


สถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากอดีต โดยข้อมูลจาก ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประเทศไทยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556 – 2560) อัตราป่วยโรคความดันโลหิตสูงต่อประชากรแสนคน เพิ่มขึ้นจาก 12,342 (จำนวน 3,936,171 ราย) เป็น 14,926 (จำนวน 5,597,671 ราย) โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น  การรับประทานที่มีรสเค็มจัด หรือทานของทอดมากเกินไป ขาดกิจกรรมทางกายหรือขาดการออกกำลังกาย และ มีปัจจัยเสี่ยงจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่         


ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคมุ่งมั่นรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ความรู้และสร้างความตระหนักและสนับสนุนให้ประชาชนมีความฉลาดรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะด้านบริโภคอาหารที่เหมาะสม และ  การออกกำลังกาย โดยปีนี้ กรมควบคุมโรคพยายามให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ อายุมากกว่า 35 ปี ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีภาวะอ้วน สามารถเข้าถึงการวัดความดันโลหิตให้มากขึ้น เพื่อทราบค่าความดันโลหิตของตนเองและตระหนักถึงอันตรายของภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ขณะนี้ กรมควบคุมโรคมีการขับเคลื่อนให้เกิดการวัดความดันโลหิตที่บ้านและยังมีโครงการวัดความดันโลหิตที่ธนาคารที่เป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการวัดความดันโลหิตลดช่องว่างและความยุ่งยากของการเดินทางไปตรวจวัดที่สถานพยาบาล         


นายแพทย์ขจรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคความดันโลหิตสูงนั้น เป็น “ฆาตกรเงียบ” ที่ซ่อนเร้นในร่างกาย หากขาดการตรวจคัดกรองจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และโรคหลอดเลือดสมอง แต่โรคความดันโลหิตเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ง่ายๆ ด้วยหลัก คือ “3 อ 2 ส” อ.-อาหาร คือ ทานอาหารแต่พอดี งดทานอาหารหวาน มัน เค็มจัด อ.-ออกกำลังกาย โดยออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วันหรืออย่างต่ำสัปดาห์ละ 150 นาที อ.-อารมณ์ คือ ทำจิตใจให้แจ่มใส  ส.-ไม่สูบบุหรี่ และ ส.-ลดการดื่มสุราเบียร์และเครื่องดื่มมึนเมา ที่สำคัญ ควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ เพื่อให้ทราบระดับของตนเองและป้องกันโรค โดยทางสมาพันธ์ความดันโลหิตโลกกำหนดค่าความดันโลหิตที่เหมาะสม คือ ตัวบน (ค่าความดันขณะหัวใจบีบตัว:Systolic) ไม่ควรเกิน 120 ค่าตัวล่าง (ค่าความดันขณะหัวใจคลายตัว:Diastolic) ไม่ควรเกิน 80 หรือที่นิยมกล่าวคือ ไม่เกิน 120/80  สิ่งที่ควรทำเป็นประจำเพื่อประเมินสุขภาพ คือ การชั่งน้ำหนัก และการวัดรอบเอว เป็นต้น หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Shares:
QR Code :
QR Code