รณรงค์งดบุหรี่จากอดีตสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

เรื่องโดย กฤดินันท์ เปลื้องวารี


รณรงค์งดบุหรี่จากอดีตสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 thaihealth


แฟ้มภาพ


          “บุหรี่” นับว่าเป็นตัวการร้ายทำลายสุขภาพ     และเป็นภัยคุกคามของคนในประเทศ เนื่องจากบุหรี่ทำให้เกิดโรคมะเร็งถึง    12   ชนิด    รวมถึงโรคหัวใจ    โรคเส้นเลือดสมอง   โรคถุงลมโป่งพอง     และเบาหวาน ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง และทุกอวัยวะแก่ก่อนวัยอันควร  ฯลฯ    มีคนไทย   1   ล้านคนที่มีชีวิตอยู่แต่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่เกิดจากบุหรี่     และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยถึงปีละ    50,000   คน    เฉลี่ย    140    คนต่อวัน    ผู้สูบบุหรี่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร    อายุสั้นลงโดยเฉลี่ย    12   ปี    และจะป่วยหนักประมาณ   2   ปี   ก่อนเสียชีวิต 


            เมื่อเร็วๆ นี้    ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.)     ร่วมกับ   ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ    สนับสนุนโดย     สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)    จัดประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ    ครั้งที่ 16     เรื่อง “บุหรี่ : ภัยคุกคามต่อความมั่นคง   มั่งคั่ง ยั่งยืน”    ที่ โรงแรมมิราเคิล   แกรนด์    คอนเวนชั่น   กรุงเทพฯ  


               สำหรับการเสวนาในหัวข้อ    “ภูมิปัญญาและนวัตกรรมในการเลิกบุหรี่ในยุคไทยแลนด์  4.0” นั้น        วรรณี   อัมระนันท์   หัวหน้างานจิตเวช    เล่าว่า    ในยุคแรกๆ   เทคโนโลยีหรือสื่อออนไลน์ยังล้าหลังและไม่สามารถเข้าถึงตัวบุคคลได้    ทำให้การรณรงค์    “ลด ละ เลิก”     บุหรี่เป็นไปได้ยาก    ดังนั้นการเลิกบุหรี่ของผู้คนในยุคนั้นต้องเริ่มต้นจากตัวเองและความรัก    เช่น     ความรักในครอบครัวหรือกำลังใจจากผู้คนรอบข้างเป็นสำคัญ  


              ด้าน สุขฎิพจน์    พรศรี     ผู้ช่วยพยาบาล    เล่าว่า     ยุคที่สองสื่อเริ่มเข้ามาช่วยส่งเสริมการรณรงค์มากขึ้น     จึงได้ริเริ่มคิดนวัตกรรมการรณรงค์งดบุหรี่ที่เป็นต้นแบบอย่างชัดเจนมากขึ้น   คือ    “สายตรวจงดสูบบุหรี่”     โดยใช้รถจักรยานยนต์ขับเคลื่อนสื่อ    ทั้งเครื่องเสียง    ประชาสัมพันธ์    วิทยุ   เพื่อแนะนำวิธีเลิกบุหรี่      ซึ่งนวัตกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนจาก    สสส.    และภาคีเครือข่ายงดบุหรี่   รวมไปถึงได้คิดนวัตกรรมด้านอื่นๆ    เพื่อที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมการรณรงค์    อาทิ   ผ้าขาวม้าเลิกบุหรี่    ลงโรงเลิกบุหรี่     ผูกเสี่ยวเลิกบุหรี่     บิณฑบาตเลิกบุหรี่    บ้านปลอดบุหรี่     ผ้ายันต์เลิกบุหรี่   โดยขับเคลื่อนไปยังหมู่บ้าน ชุมชนเล็กๆ หรือสถานที่สำคัญ      เพื่อประชาสัมพันธ์และพร้อมแนะนำการรณรงค์         “ลด   ละ    เลิก”    บุหรี่ให้แก่ประชาชน 


รณรงค์งดบุหรี่จากอดีตสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 thaihealth


แฟ้มภาพ


                ขณะที่  ปาณปิยวรรณ วงศ์แสนสี  ผู้ช่วยพยาบาล     เล่าเสริมว่า     สำหรับในยุคที่สาม   ยังเป็นเรื่องยากที่สื่อออนไลน์เข้าถึงตัวบุคคล    จึงได้เริ่มคิดนวัตกรรม    “รถโมบายเลิกบุหรี่”   ขึ้น    เพื่อนำสื่อบุหรี่มาเสนอตามชุมชนต่างๆ     ที่สื่อออนไลน์ไม่สามารถเข้าถึงได้       ซึ่งภายในรถยนต์ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ที่สามารถเข้าถึงสื่อได้ง่าย     พร้อมให้ความรู้เกี่ยวผู้ที่สนใจ     และให้คำปรึกษากับผู้ที่ต้องการจะเลิกบุหรี่     รวมไปถึงการนำเสนอโทษของบุหรี่ให้แก่เยาวชนได้รู้     ซึ่งได้รับความสนใจจากเยาวชนเป็นจำนวนมาก 


รณรงค์งดบุหรี่จากอดีตสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 thaihealth


แฟ้มภาพ


                 มาถึงในยุคปัจจุบัน    4.0    ปิดท้ายด้วย    รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา    คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ    เล่าให้ฟังว่า     จากสถิติความนิยมโทรศัพท์มือถือในสังคมไทยยุค 4.0  พบว่า    ผู้คนใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 1 เครื่องต่อ 1 คน    และผู้คนในปัจจุบันใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือมากเป็นพิเศษ     ด้วยยุคที่เปลี่ยนไป    ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การปฏิรูปประเทศสู่ยุคนวัตกรรม    ด้วยแนวคิดการรณรงค์  ลด ละ เลิกบุหรี่ สู่    “โมบายแอปพลิเคชันเลิกบุหรี่”    สามารถสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องลงพื้นที่     โดยจะเน้นนำระบบออนไลน์มาใช้ในการศึกษาทั้งภาคประชาชนและบุคลากร     เช่น     แอปพลิเคชั่น     “​คลินิกฟ้าใส”     ​สำหรับบุคลากรทางการแพทย์    ใช้วิเคราะห์ข้อมูลการให้บริการในคลินิกฟ้าใสทั่วประเทศแบบ     real-time    โดยได้รับการสนับสนุนจาก    สสส.   รวมไปถึง    แอปพลิเคชัน     “ไทยไร้ควัน”       สำหรับผู้ที่ต้องการจะเลิกบุหรี่    ซึ่งสามารถถ่ายภาพ    บันทึกความทรงจำดีๆ     ผ่านแอปพลิเคชัน     เพื่อเตือนสติไม่ให้กลับไปสูบบุหรี่อีก  


                “อนาคตจึงอยากจะทำให้ข้อมูลจาก     สสส.      คลินิกฟ้าใส     และหน่วยงานที่ทำงานด้านบริการเลิกบุหรี่ทั้งหมดเข้ามาเป็นแอปพลิเคชันเดียวกัน      จุดประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้รวดเร็วมากขึ้น    และเข้าถึงผู้คนที่สนใจเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น”     รศ.นพ.สุทัศน์    กล่าว 


                 เห็นได้ว่าจากการพัฒนาในแต่ละยุคสมัย      ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมการเลิกบุหรี่มากมาย    จนมาเข้าสู่ในยุค    4.0     ที่สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทต่อผู้คนมากขึ้น     ทำให้การประชาสัมพันธ์เข้าถึงผู้คนได้รวดเร็วและเป็นจำนวนมากในเวลาอันสั้น     นำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วยพื้นที่ไร้ควัน 


 


 


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code