รณรงค์คัดแยกขยะ ทิ้งหน้ากากอนามัยถูกวิธี

ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์


รณรงค์คัดแยกขยะ ทิ้งหน้ากากอนามัยถูกวิธี thaihealth


แฟ้มภาพ


ในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในตอนนี้ ขยะติดเชื้อเกิดเพิ่มขึ้นในสถานพยาบาล สถานที่กักตัว หรือสถานที่ตรวจคัดกรอง เป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีการรณรงค์ประชาชนคัดแยกทิ้งหน้ากากอนามัยถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยจากเชื้อโควิด


ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัย CEWT (Circular Economy for Waste-free Thailand) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ระบุถึงแนวทางการดำเนินการของมหาวิทยาลัยที่บูรณาการความรู้จากสำนักวิชาต่างๆ โดยเป็นการทำงานร่วมกันของอาจารย์และนักศึกษา ทำให้เกิดการพัฒนาโครงการ เครื่องมือ และวิธีการ เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมในเรื่องการจัดการขยะ


ในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในตอนนี้ ขยะติดเชื้อเกิดเพิ่มขึ้นในสถานพยาบาล สถานที่กักตัว หรือสถานที่ตรวจคัดกรอง ทั้งจากผู้ป่วยติดเชื้อ และจากแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องดูแลผู้ป่วยเหล่านั้น นอกจากนี้ยังมีขยะอีกส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในครัวเรือนและที่สาธารณะ จากการที่ประชาชนทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยไม่ได้คัดแยกจากขยะทั่วไป เพื่อนำไปกำจัดอย่างปลอดภัย ดังนั้นการจัดการขยะติดเชื้อในช่วงระยะเวลาของการระบาดโควิด-19 จึงเป็นประเด็นที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความร่วมมือกัน โดยเฉพาะการคัดแยกและทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกต้อง


สำหรับขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลนั้น กรมอนามัยคาดการณ์ว่าจะสูงถึงวันละ 2.85 กิโลกรัมต่อผู้ป่วย 1 คน เป็นขยะที่มาจากตัวผู้ป่วยเอง และอุปกรณ์ป้องกันตัวของแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วย ทั้งนี้ ในการระบาดรอบที่ผ่านมากรมอนามัยได้ประมาณการว่ามีขยะติดเชื้อจาก โควิด-19 สะสมรวมอย่างน้อย 4,500 ตัน ลองคำนวณดูว่าปริมาณขยะติดเชื้อสะสมรวมถึงปัจจุบัน จะเพิ่มขึ้นมากขนาดไหนเมื่อดูจากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมที่มีมากถึง 158,675 ราย (ข้อมูลถึง 10 มิถุนายน 2564) ซึ่งโจทย์นี้เป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาการเชิงคำนวณ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างแบบจำลอง ที่สามารถใช้ในการพยากรณ์ปริมาณขยะติดเชื้อ จากโรคระบาดในอนาคต


สำหรับโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขยะติดเชื้อที่มาจากหอผู้ป่วยโควิด-19 ในระลอกที่ 3 นี้ คิดเป็นกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณขยะติดเชื้อทั้งหมด นั่นหมายความว่าในช่วงการระบาด จำนวนขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวจากการติดตามข้อมูลด้วยระบบ D-Germ ที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิจัย CEWT ร่วมกับอาจารย์และนักศึกษาในสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยระบบ D-Germ ได้ถูกนำร่องใช้งานในโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และโรงพยาบาลประจำอำเภออีก 2 แห่งในจังหวัดเชียงรายช่วยให้โรงพยาบาลสามารถติดตามขยะติดเชื้อแต่ละประเภทได้ ไปจนถึงการกำจัด ทำให้มีความมั่นใจได้ว่า ขยะติดเชื้อทุกถุงถูกจัดการอย่างถูกต้องและปลอดภัย ตลอดกระบวนการ


ข้อมูลจากวิศวกรเครื่องกล ประจำโรงงานเตาเผาขยะติดเชื้อมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ระบุว่า ขยะติดเชื้อที่ถูกรวบรวมมาจากโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงรายจะถูกนำมาเผาทำลายที่เตาเผา โดยห้องเผาไหม้ที่ 1 จะมีอุณหภูมิ 700-900 องศาเชลเชียส และควันจะถูกเผาต่อในห้องเผาไหม้ที่ 2 ที่อุณหภูมิ 900-1,100 องศาเชลเชียสตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ ทำให้แน่ใจได้ว่าไม่มีการแพร่กระจายของเชื้ออย่างแน่นอน


นอกจากนี้ โรงงานเตาเผาและศูนย์วิจัย CEWT ยังได้ทำงานร่วมกับอาจารย์และนักศึกษาสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ร่วมรณรงค์ความร่วมมือของนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ตอกย้ำวิธีการทิ้งอย่างถูกต้อง คือ การทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ให้บรรจุใส่ถุงหรือภาชนะให้มิดชิด เพื่อให้พนักงานเก็บขยะมีความปลอดภัยในการทำงาน ลดความเสี่ยงของการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ดำเนินการตั้งจุดรับหน้ากากอนามัยใช้แล้ว เพื่อให้บุคลากรและนักศึกษาคัดแยกมาทิ้งอย่างปลอดภัย


ผศ.ดร.ปเนต กล่าวในตอนท้ายว่า การพัฒนาระบบ D-Germ สำหรับโรงพยาบาลและการเก็บรวบรวมหน้ากากใช้แล้วของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อให้การจัดการขยะติดเชื้อเป็นไปอย่างถูกต้องได้มาตรฐาน เป็นตัวอย่างของความสำเร็จจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีความยินดี และเปิดกว้างสำหรับทุกหน่วยงานที่ต้องการนำโมเดลนี้ไปปรับใช้กับพื้นที่ชุมชนของตนเอง เชื่อมั่นว่าแม้การระบาดของโควิด-19 ในระลอกนี้จะมีความรุนแรงมากกว่าระลอกก่อน ๆ แต่หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันจัดการดังที่เห็นจากตัวอย่างของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก็เชื่อได้ว่าเราจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติทางสาธารณสุขครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน

Shares:
QR Code :
QR Code