รณรงค์ครูรู้เท่าทันสื่อ สร้างเด็กนักวิเคราะห์
โลกปัจจุบันกล่าวได้ว่าเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ข้อมูลที่รับเข้ามานั้นมีทั้งข้อมูลที่มีประโยชน์และข้อมูลที่ไร้ค่า บุคคลจึงต้องมีความสามารถไม่เพียงแต่การรับข้อมูลหรือสื่อสารเท่านั้น แต่จะต้องมีความสามารถในการเลือกสรร คัดกรอง และเข้าถึงข้อมูลที่เป็นจริง และสามารถเลือกนำข้อมูลสาระมาสู่การสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่ตนเอง การให้การศึกษาเพื่อสร้างความสามารถดังกล่าวให้แก่เด็ก จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คนได้รับการพัฒนาและพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
ในแต่ละวันจะมีนวัตกรรม และสิ่งใหม่ๆ ออกมานำเสนอกับคนที่ชื่นชอบความทันสมัยอย่างไม่หยุดหย่อน หลายอย่างที่แค่นิ้วคลิกก็จัดการได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที นับเป็นโลกแห่งนวัตกรรมที่คนบนโลกต้องก้าวตามให้ทัน และสิ่งสำคัญคือ การรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) เพื่อให้สอดรับกับการดูแลเด็กในยุคหลังด้วย
สิ่งที่ครู-อาจารย์จะต้องเข้าใจและนำไปถ่ายทอดแก่เด็ก คือ การรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) หมายความถึง การอ่านสื่อให้ออกเพื่อพัฒนาทักษะในการเข้าถึงสื่อ การวิเคราะห์สื่อ การตีความเนื้อหาของสื่อ การประเมินค่าและเข้าใจผลกระทบของสื่อ และสามารถใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ได้ แต่ด้วยโลกแห่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน เราจะรู้ทันสื่อเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องรู้สารสนเทศควบคู่ไปด้วย
การรู้สารสนเทศ (information literacy) เป็นส่วนสำคัญพื้นฐานของการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีการให้การสนับสนุนการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (unesco) และเมื่อมีการรวมกันระหว่างการรู้เท่าทันสื่อและการรู้สารสนเทศ จึงเกิดการพัฒนามาเป็นหลักสูตรชื่อ “media and information literacy-mil”
ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก หัวหน้าโครงการ “การจัดทำหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศสำหรับครู” บอกเล่าให้ฟังถึงความสำคัญของการเริ่มโครงการนี้ว่า ปัจจุบันนี้ระบบสารสนเทศในประเทศไทยมีการขยายตัวอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันทางยูเนสโกได้จัดทำหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อและการรู้สารสนเทศ (media and information literacy-mil) เพื่อเป็นคู่มือในการเรียนรู้มีความเข้าใจวิธีการทำงานของสื่อ โดยเป็นการบูรณาการองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ สื่อและสารสนเทศเข้าไว้ด้วยกัน ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกของยูเนสโก ได้มีการนำหลักสูตรดังกล่าวมาพัฒนาเป็นคู่มือสำหรับครูในประเทศไทยให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยเอง
“เชื่อว่าสิ่งที่ได้รับจากการรู้เท่าทันสื่อนั้น จะสอนให้เด็กไทยรู้จักวิเคราะห์เป็น เพราะปัจจุบันนี้มีสื่อที่ให้ความรู้ผิด ๆ ทางด้านสุขภาพอยู่ค่อนข้างมาก รวมทั้งการใช้สื่อของนักการเมืองที่ควรรู้ถึงผลดี ผลเสีย หรือการรับอิทธิพลจากสื่อในต่างประเทศ เป็นต้น เบื้องต้นจะเน้นในนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาเป็นพิเศษแก่ 30 โรงเรียน ก่อนขยายไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ”
หัวหน้าโครงการ “การจัดทำหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศสำหรับครู” บอกว่า ระบบสารสนเทศขยายตัวอย่างรุนแรง ขณะที่ยังไม่เกิดเครื่องมือรู้เท่าทันสื่อในประเทศไทย ดังนั้น จึงเกิดการจัดทำเครื่องมือนี้ให้สอดคล้องกับบริบทในประเทศไทย และเป็นการระดมสมองที่จะทำอย่างไรให้ครูไทยสามารถใช้เครื่องมือนี้เป็น เครื่องมือในการสอนสำหรับนักเรียนในโรงเรียน เพื่อที่จะรู้เท่าทันสื่อและใช้สื่อให้เป็น
ตอนนี้ทุกประเทศเน้นเรื่องของสื่อไอซีทีสารสนเทศ เพราะเด็กเล่นเกม และเด็กที่ยังไม่ถึงวัยอันควรก็มีโอกาสเข้าไปเล่นเกมที่ไม่เหมาะสม หรือการรับชมเรื่องเพศที่ไม่เหมาะสมผ่านทางเว็บไซต์ได้ง่าย ซึ่งเราก็ต้องสร้างภูมิคุ้มกันในส่วนนี้ให้แก่เด็กได้รู้จักคิดวิเคราะห์เป็น
สำหรับองค์ความรู้การรู้เท่าทันสื่อในบริบทของสังคมไทยประกอบด้วย องค์ประกอบ 5 ด้าน คือ การเปิดรับสื่อ การวิเคราะห์สื่อ การเข้าใจสื่อ การประเมินค่าสื่อ และการใช้สื่อให้เกิดประโยชน์
ขณะที่ รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมเสวนา “บทบาทความสำคัญของการขับเคลื่อนหลักสูตร mil ในประเทศไทย” ในการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการ “การจัดทำหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศสำหรับครู” thailand media and information literacy (mil) curriculum for teachers workshop เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร ว่า ตามยุทธศาสตร์ของ สสส. มีแผน 10 ปี ที่มุ่งหวังให้คนทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งขณะนี้ค่าอายุเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 72 ปี ขณะที่ค่าเฉลี่ยอายุของผู้ที่อยู่อย่างมีสุขภาวะอยู่ที่ 62 ปี
ดังนั้น เราต้องเพิ่มขีดความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อเลือกรับสื่อและจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ ทั้งนี้ แม้แผนของ สสส.จะทำงานในเชิงประเด็นสุขภาพ แต่เราใช้ยุทธศาสตร์เรื่องการสื่อสารเพื่อสังคมรองรับทุกเรื่อง เพื่อให้ประเด็นปัญหาสุขภาพเปลี่ยนแปลงลดลงไป
ดร.วิลาสินี กล่าวต่อไปว่า ในการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงศึกษาธิการ และยูเนสโก เราอยากขับเคลื่อนหลักสูตรนี้ให้คนทุกคนมีความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อได้เอง ซึ่งหากสามารถขับเคลื่อนได้สำเร็จก็จะส่งผลให้ทุกคนสามารถคิดวิเคราะห์สื่อเป็น และยังต้องสื่อสารประเด็นที่มีการร้องเรียน เฝ้าระวัง รวมถึงต้องมีช่องทางสนับสนุนให้สังคมรับรู้มากขึ้นด้วย และหลักสูตร mil จะยั่งยืนได้คือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
“บทบาท ที่ สสส.จะทำได้ คือ มีการรู้เท่าทันเรื่องสุขภาพ ซึ่งขณะนี้เป็นตัวชี้วัดสำคัญของ สสส. เราจะรวบรวมเครือข่ายและใช้สื่อที่ช่วยกระตุกสังคมเป็นเรื่อง ๆ เพื่อให้สังคมเกิดความตระหนักเรื่องของการเลือกกินอาหาร และใช้เครือข่ายที่มีทำให้สังคมเกิดทักษะที่ดี และสร้างต้นแบบเพื่อให้สังคมเกิดความเชื่อว่าเราทำได้ และขยายต่อไปยังสถานศึกษาในชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งการทำให้ประเด็น mil อยู่ในกระบวนการของ กสทช.ที่กำลังจะเกิดขึ้น” ดร.วิลาสินี กล่าว
วันนี้ เมืองไทยมีหลักสูตร mil เพื่อครูไทยเกิดขึ้นแล้ว ก็คงได้แต่หวังว่าคู่มือที่ได้จากหลักสูตรนี้จะเป็นเกราะป้องกันสำคัญให้ตัว เยาวชนไทยในอนาคตวิ่งตามสื่อได้ทัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์