ย้ำโรคพิษสุนัขบ้ารักษาไม่ได้ แต่ป้องกันได้

ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์


ย้ำโรคพิษสุนัขบ้ารักษาไม่ได้ แต่ป้องกันได้ thaihealth


แฟ้มภาพ


          สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เตือนให้ประชาชนระมัดระวังป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า  สามารถป้องกันได้ด้วย 5 ย. และเมื่อสุนัขกัด ต้องล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนต่อจนครบชุด”


นพ.พนัส  โสภณพงษ์    นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี  เปิดเผยว่า  เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้น จากปี 2558-2560 มีรายงานโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ 330, 614 และ 843 ตัว ตามลำดับ เป็นสุนัข 89.11% โคกระบือ  6.61% แมว 3.57% และสัตว์อื่นๆ 0.71% การเสียชีวิตของประชาชนในประเทศไทยจากโรคพิษสุนัขบ้า ปี 2558-2560 คือ  5, 14 และ 8 ราย ตามลำดับ


          สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของจังหวัดกาญจนบุรี พบผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าในคนรายสุดท้าย ปี พ.ศ.2553 จำนวน 1 ราย นับเป็นระยะเวลา 8 ปี ที่ไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ แต่สถานการณ์โรคในสัตว์ พบว่ามีสุนัขพบเชื้อ ปี พ.ศ.2559 จำนวน 4 ตัวอย่าง มีผู้สัมผัสโรค 12 ราย ปี พ.ศ. 2560 มีผู้สัมผัสโรค จำนวน 15 ราย ทุกรายได้รับการรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครบทุกราย สำหรับปี 2561 ไม่พบสุนัขพบเชื้อ  กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย ภายในปี 2563 ด้วยการขับเคลื่อนโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ปี 2560-2563 โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  ขอย้ำว่าโรคนี้รักษาไม่ได้แต่ป้องกันได้ การได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจึงมีความจำเป็นทั้งกลุ่มเสี่ยงและสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันตัวเองและสัตว์เลี้ยงที่เรารัก โรคพิษสุนัขบ้านี้ เมื่อปรากฏอาการของโรคจะเสียชีวิตทุกราย เนื่องจากการไปรับการรักษาเมื่ออาการของโรคเริ่มแสดงแล้ว ทำให้สายเกินกว่าจะยับยั้งเชื้อได้ทัน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการชะล่าใจในการป้องกัน และรักษาโรคเบื้องต้น  เมื่อถูกสุนัข หรือแมวข่วนเป็นแผลเล็กน้อย ควรทำความสะอาดแผลเบื้องต้นและรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ


          สำหรับอาการของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะมีน้ำลายไหล ซึม เบื่ออาหารคอแข็ง วิ่งพล่าน โมโหร้าย วิ่งกัดคนไม่เลือก หากพบเห็นไม่ควรเข้าใกล้ และแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อกำจัดสัตว์ที่มีอาการโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและคนรอบข้าง และลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัด หรือโดนทำร้าย สามารถใช้คาถา 5 ย ได้ดังนี้ คือ อย่าแหย่ ให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆโกรธ  อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ   อย่าแยก สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ที่กำลังกัดกัน ด้วยมือเปล่า  อย่าหยิบ จานข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ กำลังกินอาหาร และ อย่ายุ่ง หรือ เข้าใกล้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ  อย่างไรก็ตาม หากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงต่างๆกัด ต้องปฏิบัติตนอย่างถูกต้องโดย ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ กักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ถูกต้อง “สุนัขกัด ต้องล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนต่อจนครบชุด” เพื่อสุขภาพที่ดีและปลอดภัย  ควรดูแลลูกหลานไม่ให้คลุกคลีหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงที่ไม่รู้ที่มาที่ไป สัตว์จรจัด หรือสัตว์ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน เนื่องจากเด็กๆ ชอบเล่นกับสัตว์เลี้ยงตัวเล็กๆ เมื่อโดนกัดหรือข่วนเพียงเล็กน้อยก็คิดว่าไม่มีอันตราย อาจจะเสียชีวิตได้ถ้าสัตว์นั้นมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 หรือกลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี โทร 034-512961 ต่อ 121  ข้อมูล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี


 

Shares:
QR Code :
QR Code