ย้ำรัฐต้องเปลี่ยนมุมคิด พลิกฟื้นผู้อพยพ

“กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน” ย้ำรัฐต้องเปลี่ยนมุมคิด  พลิกฟื้นผู้อพยพให้ดูแลตัวเองจนช่วยเหลือผู้อื่นได้


ผู้อพยพต้องช่วยเหลือตัวเองได้


ภก.สงกรานต์   ภาคโชคดี   ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ในฐานะแกนนำกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมถือว่าเข้าขั้นวิกฤติอย่างรุนแรง และคาดว่าจะมีแนวโน้มการทยอยอพยพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามการจัดระบบระเบียบจึงจำเป็นอย่างยิ่ง  ซึ่งขณะนี้ศูนย์ฯในส่วนที่เราได้เข้ามาสนับสนุน ได้มีการแบ่งออกเป็น 4 โซน เพื่อให้ง่ายในการจัดการ   โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา  มูลนิธิสื่อเพื่อนเยาวชน  เครือข่ายละครดีดี๊ดี  เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์  โดยเข้ามามีส่วนช่วยเหลือเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้อพยพให้สามารถช่วยเหลือตนเองและคนอื่นได้ โดยแต่ละห้องได้มีแกนนำที่สามารถดูแลสมาชิกภายในห้องได้ ซึ่งจะมีการดูแลบริหารจัดการพื้นฐาน  ร่วมกันสร้างกฎระเบียบการอยู่ร่วมกัน เช่น การใช้ห้องน้ำ การทิ้งขยะ การซักผ้า การรักษาความสะอาดเรียบร้อย การห้ามส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น การไม่ดื่มสุราไม่เล่นการพนัน สูบบุหรี่ในที่จัดไว้ การจัดเวรยาม เป็นต้น  หลังจากนั้นเราจะส่งเสริมให้มีกิจกรรมต่างๆร่วมกัน เช่น การปรับทุกข์ผูกมิตร  การลดความเครียดด้วยธรรมะ  ดนตรี  ศิลปะ   การฝึกอาชีพ กิจกรรมเด็ก ส่วนเยาวชนก็กำลังจะดึงมาร่วมกันคิดว่า  จะทำกิจกรรมอะไรที่เป็นประโยชน์ และแบ่งเบาภาระในช่วงวิกฤติอย่างนี้ได้ โดยทั้งหมดนี้มีส่วนราชการคือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และกรมธนารักษ์  กระทรวงการคลัง  เป็นเจ้าภาพหลัก    


    


“เราเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง  ผู้ที่อพยพเข้ามาอยู่ที่นี่สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว  เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองปรับเปลี่ยนชีวิตได้ และยินดีที่จะมีส่วนร่วมในภารกิจต่างๆภายในศูนย์  เช่น การช่วยจัดของบริจาคใส่ถุงเพื่อไปช่วยผู้ประสบภัยที่ยังไม่ออกมาจากพื้นที่   ซึ่งขณะนี้ทาง พม. และภาคีเริ่มเก็บข้อมูลว่าผู้อพยพต้องการอะไร และจะวางแนวทางอย่างไรในการใช้ชีวิตหลังจากนี้  ดังนั้นคงต้องพัฒนาให้เป็นรูปแบบมากขึ้น เพราะอย่างน้องจะทำให้ชาวบ้านเกิดความเข้มแข็งสามารถยืดหยัดได้ต่อไป และหากเกิดวิกฤติแบบนี้ขึ้นอีกก็จะเรียนรู้อยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหา  อย่างไรหัวใจสำคัญคือต้องไม่มองว่าผู้ประสบภัยเป็นผู้ที่ต้องรอความช่วยเหลือเท่านั้น  ต้องส่งเสริมให้เขามีส่วนร่วม  เสริมพลังใจ  ให้พึ่งตนเอง และไปช่วยผู้อื่นได้ในที่สุด  โดยภาคีเข้ามาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ประคับประคองให้เขาลุกขึ้นยืน   ซึ่งเราจะพัฒนารูปแบบ ลดจุดอ่อนที่เกิดขึ้น  เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาและปรับใช้ในโอกาสต่อไป” ภก.สงกรานต์  กล่าว


แกนนำกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน  กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เป็นห่วงอย่างมากในตอนนี้คือ การบริหารจัดการของภาครัฐ เพราะคาดว่าจำนวนผู้อพยพจะเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จากศูนย์อื่นที่น้ำท่วมแล้ว โดยเฉพาะในชุมชนแออัดซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียวที่อยู่ริมน้ำ  รวมไปถึงประชาชนที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องเตรียมสถานที่ไว้รองรับด้วย และสภาพที่เป็นอยู่ขณะนี้คืออาหารขาดตลาดไม่สามารถหาซื้อได้แล้ว



ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า  

Shares:
QR Code :
QR Code