ย้ำมาตรการล้างเชื้อหวัดนก เร่งพ่นยาคุลม 9 จ.
ปศุสัตว์รับลูก เชื่อควบคุมสถานการณ์ได้
“เสธ.หนั่น” สั่งย้ำมาตรการรณรงค์กวาดล้างเชื้อโรคไข้หวัดนก กรมปศุสัตว์รับลูกปรับแผนพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อพร้อมกันทุกจุดครอบคลุม 9 จังหวัดเสี่ยง ตลอด 6 เดือนเต็ม เชื่อส่งผลปริมาณเชื้อหวัดนกลดลง
พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการตรวจพบโรคไข้หวัดนกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2551 ที่อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 ที่อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี
ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดยการทำลายสัตว์ปีก ณ จุดเกิดโรค และสัตว์ปีกที่อยู่รอบบริเวณจุดเกิดโรค พร้อมทั้งพ่นยาฆ่าเชื้อโรคควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้า ออกพื้นที่ควบคุม ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ของโรคได้
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ทบทวนตรวจสอบ และวิเคราะห์สถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกในพื้นที่เขตปศุสัตว์ที่ 6 แล้วพบว่า พื้นที่นี้มีปัจจัยความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคสูง จากการที่มีการพบการระบาดต่อเนื่องมาหลายรอบแล้ว ประกอบกับข้อมูลการติดตามเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง
พบว่า พื้นที่นี้มีสัตว์ปีกป่วยตายสูงมากกว่าพื้นที่อื่น โดยเฉพาะในกลุ่มไก่พื้นเมือง อีกทั้งมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกหลายประเภท เช่น ไก่ชน เป็ดไล่ทุ่ง นกอพยพ
ดังนั้น จากองค์ความรู้ทางวิชาการ และการบริหารจัดการควบคุมโรคที่เพิ่มพูนขึ้น กรมปศุสัตว์จึงปรับรูปแบบมาตรการทำลายเชื้อในพื้นที่ใหม่ จากเดิมที่เคยปฏิบัติในแต่ละจังหวัดแต่ละช่วงเวลา เป็นการพ่นยาฆ่าเชื้อพร้อมกันทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ในเวลาเดียวกันครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย อุทัยธานี พิษณุโลก นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และตาก เพื่อลดปริมาณของเชื้อโรคที่อยู่ในพื้นที่ให้เหลือน้อยที่สุด
โดยจะดำเนินการต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 6 เดือน เดือนละ 6 วัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 ถึงเดือนพฤษภาคม 2552 ในครั้งแรกจะเริ่มวันที่ 15 ถึง วันที่ 20 ธันวาคม ศกนี้ ซึ่งกรมปศุสัตว์จะได้มีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจากการดำเนินงานพ่นยาฆ่าเชื้อพร้อมกันทุกพื้นที่ในเวลาเดียวกัน จะทำให้ตัวเลขสัตว์ปีกป่วยตายลดลง
“มาตรการที่จะดำเนินการนี้อาศัยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุข อาสา ปศุสัตว์และประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก โดยกรมปศุสัตว์จะดำเนินการกิจกรรมเคาะประตูบ้านเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ปีกทุกครัวเรือนไปพร้อมกัน เพื่อตรวจเยี่ยมสอบถามภาวะโรคในสัตว์ปีก ตลอดจนการให้คำแนะนำการเลี้ยงสัตว์ปีกที่ถูกวิธี โดยกรมปศุสัตว์ได้ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุขจังหวัด กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ปีกและพันธุ์พืช ในการร่วมดำเนินงานกับเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์เข้าพื้นที่ทุกหมู่บ้าน หากตรวจพบสัตว์ปีกป่วยตายหรือมีประวัติสัตว์ปีกป่วยตาย จะดำเนินการสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาและดำเนินมาตรการควบคุมโรคทันที พร้อมทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคโดยน้ำยาฆ่าเชื้อคุณภาพสูงในบริเวณพื้นที่เสี่ยง” พล.ต.สนั่น กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
update 15-12-51