ย้อมผ้าด้วยเปลือกป่าไม้มะดันทับโคลน

ที่มา : วิถีชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก : ส่งเสริมอาชีพ โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และประชารัฐ


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


ย้อมผ้าด้วยเปลือกป่าไม้มะดันทับโคลน  thaihealth


กลุ่มย้อมผ้าด้วยเปลือกป่าไม้มะดันทับโคลนเกิดขึ้นเมื่อปี 2557 จากความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษกับโรงเรียนบ้านอีเซ (คุรุราษฎร์วิทยา) เพื่อส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน โดยเริ่มจากการทำวิจัยหลักสูตรการเรียนรื้องถิ่นเรื่องไม้มะดันป่า โดยสอดแทรกลงในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน


สำหรับสาเหตุที่เลือกไม้ชนิดนี้เพราะตอบโจทย์การศึกษาหลายอย่าง โดยเฉพาะคุณสมบัติของไม้ซึ่งสามารถนำไปแปรรูปได้มากมาย เช่น นำใบไปต้มใส่แกงปลา ลำต้นใช้หนีบเนื้อยางไฟ ผลใช้เป็นส่วนประกอบอาหารและดองไว้รับประทาน รากใช้ต้มทำยาสมุนไพร


ทว่าที่ผ่านมาพบว่า ไม้มะดันปาถูกตัดมากถึงเดือนละ 45,000 ลำ เพื่อไปทำไม้ย่างไก่ เหตุการณ์นี้เองทำให้เกิดภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยจัดการทรัพยากร และโรงเรียนบ้านอีเซเองก็ได้รับการยอมรับจากเครือข่ายค่อนข้างมากเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางในการกระจายความรู้เรื่องไม้มะดันป่าสู่สังคม


หนึ่งในกิจกรรมที่โดดเด่นและเป็นต่อยอดไม้มะดันป่า คือนำเปลือกไม้ที่เหลือจากการเหลาไม้ปิ้งไก่ จากอำเภอห้วยทับทันมาสกัดเป็นสีย้อมผ้า โดยได้รับความอนุเคราะห์หลักวิชาจากเครือข่ายศูนย์วิจัยหม่อนไหมศรีษะเกษในการช่วยพัฒนาโครงงานวิทยาศาสตร์ โดยกลุ่มชาวบ้านและเยาวชนในตำบลจะใช้ทำการย้อมผ้าเป็นลวดลายต่างๆ จากนั้นนำผ้าที่ย้อมจากเปลือกไม้มาย้อมทับโคลน ซึ่งโคลนแต่ละที่ก็จะได้สีที่แตกต่างกันไป จากนั้นก็นำผ้าที่ได้มาทำเป็นผ้าพันคอบ้างตัดเป็นเสื้อผ้าจำหน่ายต่อไป


รายได้ที่เกิดจากการขายนั้น นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินในครัวเรือนแล้วยังเป็นโอกาสสำคัญที่ชุมชนจะได้มีกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดความสามัคคี และยังเป็นการปลูกฝังการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในหมู่เยาวชน ถือเป็นการส่งเสริมสุขภาวะในชุมชนอย่างยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code