ย้อนอดีต ฟังเรื่องเล่าของเด็กโจ้งคลำ
“หลังวางมือจากการรักษาคนไข้ เก็บหูฟังเสียงหัวใจ เครื่องวัดชีพจรใส่ลิ้นชัก ผมพบว่า ผมเอาหนังเรื่องนี้ออกมาฉายหลายร้อยหลายพันเที่ยว แปลกที่ไม่เคยเบื่อ ความรู้สึกขณะดูมีความคิดถึง ความอาวรณ์แฝงอยู่ แต่มากที่สุดคือ ความชุ่มชื่นเหมือนดอกไม้ซึ่งกำลังเฉาได้รับน้ำ คนสูงอายุจำนวนมากคงเป็นเหมือนผมเมื่อนึกถึงความหลัง”
คำบอกเล่าของ “นพ.ประทีป หุตางกูร” นักเขียนวัย 83 ปี เจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง “เรื่องเล่าของเด็กโจ้งคลำ” นวนิยายย้อนภาพความหลังของผู้สูงวัยที่ถ่ายทอดความทรงจำวัยเยาว์ มองย้อนกลับไปพินิจพิจารณาวิถีชีวิตผู้คนชนบทมุมหนึ่งบนเกาะสมุยเมื่อราว 70 ปีก่อน
“ผมเชื่อว่าผู้สูงอายุทุกคนมีฟิล์มภาพยนตร์เก่าของตนอยู่ในหัว เรื่องของเราอาจไม่ยิ่งใหญ่หรือมีพลังขจัดความชั่วร้ายทุกอย่างไปจากโลก แต่ก็มีค่าไม่ต่างกับหยดน้ำสำหรับดอกไม้กำลังเฉา ผมแปลงเรื่องจากฟิล์มภาพยนตร์เก่าในหัวเป็นตัวอักษรเสร็จ และคิดว่าคงดีหากหนังสือเล่มนี้จะเป็นเหมือนคำชวนให้ผู้สูงอายุอื่น ๆ แปลงเรื่องของตัวเองเป็นตัวอักษรแบ่งปันให้ผู้สนใจได้อ่านบ้าง” นพ.ประทีปเล่า
ผู้เขียนทิ้งท้ายว่า แม้ปัจจุบันความเจริญทางวัตถุกับความผันแปรของเวลาจะลบบ้านโจ้งคลำไปจากแผนที่เกาะสมุยไปแล้ว แต่ความทรงจำเก่า ๆ ยังติดฝังแน่นอยู่ในหัว ที่ไม่ว่าจะเอาออกมาฉายเมื่อไหร่ก็ยังเป็นภาพที่แจ่มชัดอยู่เสมอ
ทางด้าน “นางธิดา ศรีไพพรรณ” เลขาธิการสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการแผนงานผู้สูงอายุ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าหนังสือเล่มนี้มีคุณค่ามาก ซึ่งกำลังมีความคิดเห็นว่าน่าจะส่งให้เด็กนักเรียนได้อ่านโดยเฉพาะเด็กทางภาคใต้ เพราะเป็นเรื่องราวของเกาะสมุย เด็ก ๆ จะนึกภาพออกว่า สายลม แสงแดด หาดทรายขาว ที่เดี๋ยวนี้กลายเป็นร้านค้า ตึกรามบ้านช่องไปหมดแล้ว
“น่าจะส่งให้โรงเรียนต่าง ๆ อ่านเป็นหนังสือนอกเวลา โดยคุณครูทั้งหลายควรจะต้องเจาะจงว่า หนังสือเล่มนี้มีภาษาที่งดงามมาก เป็นภาษาง่าย ๆ ไม่มีคำว่าบูรณาการ ไม่มีคำว่ายุทธศาสตร์ หรือมาตรการทั้งหลาย
แต่เหมือนมีผู้ใหญ่ใจดีมานั่งเล่าให้ฟังว่าบรรยากาศเมื่อสมัยก่อนมีความสุขยังไง การจับปลาช่อน การจับปลาดุกก็ต่างกัน ในหนังสือเล่มนี้มีชื่อนกถึง 12 ชื่อ เล่าแม้กระทั่งพืชที่ปลูกสับหว่างต้นมะพร้าวถึง 13 ชื่อ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นหนังสือที่มีคุณค่ามาก สมกับที่ผู้สูงอายุเขียน และจะรออ่านเล่มต่อไป” ผู้อำนวยการแผนงานผู้สูงอายุแสดงความเห็น
นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า ตนได้อ่านหนังสือเรื่องเล่าของเด็กโจ้งคลำแบบติดต่อกันทีเดียวจบทั้งเล่ม เพราะเนื้อหาของเรื่องน่าอ่านจนวางไม่ลง และหนังสือเล่มนี้ทำให้เข้าใจชีวิตชาวเกาะ ชายทะเลได้มากขึ้น รู้เรื่องของชีวิตคณะหนังตะลุงและมโนราห์ รู้ถึงประชาคมและสังคมชาวเกาะ ซึ่งอยู่กันอย่างร่มเย็นและสนุก สนานในสมัยก่อน
ติดตามอ่านเรื่องเล่าของเด็กโจ้งคลำได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์