ยุทธศาสตร์เลิกเหล้า “พะเยา” ขอสละแชมป์เมา
เมืองที่มีบรรยากาศ โรแมนติก เพราะมีทะเลสาบน้ำจืดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ มีวิวทิวเขาเป็นฉากหลัง แต่กลับได้ตำแหน่งแชมป์นักดื่มอันดับหนึ่งของประเทศไปครองด้วย
รายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายจังหวัดปี 2554 โดยการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุราของประชากร พ.ศ.2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้น พบว่า อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนในภาคเหนือมีอัตราสูงกว่าภาคอื่นๆ อยู่ที่ร้อยละ 39.4 โดย 10 จังหวัด ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ได้แก่ พะเยา ปราจีนบุรี แพร่ พิษณุโลก เชียงใหม่ เชียงราย ร้อยเอ็ด สุโขทัย ลำปาง และแม่ฮ่องสอน โดย จ.พะเยา ถือว่ามีอัตราการดื่มสูงที่สุดในประเทศติดต่อกันมาหลายปี และยังเป็นจังหวัดที่มีอัตราการดื่มหนักที่สุดอีกด้วย
จากปัญหาดังกล่าว คณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ภาคเหนือตอนบน พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ ลำปาง น่าน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน
โดยมีภาคีเครือข่าย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตัวแทนสรรพสามิต และผู้บริหารท้องถิ่นเข้าร่วม 200 คน เพื่อคลี่ปัญหาออกและจับมือวางโครงร่างการแก้ปัญหาสละแชมป์คอทองแดง
ในที่ประชุมได้เน้นปัญหาในพื้นที่มาเป็นตัวตั้ง โดยนำองค์ความรู้ที่ใช้แก้ปัญหาระดับประเทศมาปรับให้เข้ากับสถานการณ์ของพื้นที่ โดย นางอรุณี ชำนาญยา ประธานคณะกรรมาธิการเด็ก สตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะ ส.ส.เจ้าของพื้นที่ อธิบายสถานการณ์ปัญหาว่า เมื่อสถิติชี้ว่า พะเยา มีอัตราการดื่มมากที่สุดในประเทศ เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่ง เพราะการดื่มหนัก นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ทั้งสังคม ครอบครัว สุขภาพ โดยพบอัตราการเสียชีวิตจากการดื่มมากขึ้น ทั้งจากอุบัติเหตุและโรคภัยไข้เจ็บ มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากพิษสุรา โรคกระเพาะทะลุจำนวนมาก ปัญหาครอบครัวแตกแยก ใช้กำลัง ฆ่าตัวตาย จึงเป็นที่มาของการเร่งระดมทุกภาคส่วนร่วมแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
อีกสถานการณ์หนึ่งที่อาจมีส่วนทำให้อัตราการดื่มในภาคเหนือสูง คือพบว่าธุรกิจ สุราพื้นบ้านในเขตภาคเหนือตอนบน มีการผลิตและขายสุรากลั่นชุมชนจำนวนมาก มีโรงกลั่นเกือบ 2,000 โรง หรือกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ และลักลอบขายแบบไม่เสียภาษีจำนวนมาก ซึ่งทำให้มีการขายในราคาที่ต่ำ โดยราคาปกติขวดใหญ่ ต้องเสียภาษี 40 บาท ราคาขายประมาณ 70-80 บาท เมื่อหลบเลี่ยงภาษี สามารถขายได้ราคาเพียง 20-40 บาท และยังมีการแบ่งขายปลีก ประชาชนเข้าถึงสุราได้ง่าย
ผู้ค้าบางส่วนยังลักลอบผสมสารเคมี ยาฆ่าแมลง ลงในแป้งหมัก ทำให้ดีกรีสูง ซึ่งอันตรายกับผู้บริโภคอย่างไม่รู้ตัว เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ทั่วถึง เพราะมีการผลิตทุก 3-5 วัน แต่จากความร่วมมือก็จะทำให้ในอนาคตจะมีรถตรวจคุณภาพเคลื่อนที่เข้ามาตรวจสอบบ่อยขึ้น มีการกวดขันกฎหมายมากขึ้นด้วย
ขณะที่ทัศนคติของคนในพื้นที่ก็มีส่วนสำคัญทำให้เกิดอัตราการบริโภคสูงขึ้น คือ ค่านิยมสังคมที่ยอมรับว่าเหล้าเบียร์เป็นสินค้าธรรมดา เป็นเครื่องดื่มที่แสดงออกถึงหน้าตาของเจ้าภาพในงาน ความเชื่อที่ว่ากินเหล้าแก้เหนื่อยแก้เมื่อยแก้เจ็บคลายเครียด ทำให้งานเลี้ยงทุกอย่างจึงมีเหล้ายาเต็มพิกัดอยู่เสมอ
“การแก้ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จังหวัดพะเยาสำคัญ โดยต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในพื้นที่ การแก้กฎหมาย การรณรงค์อย่างจริงจัง การใช้มาตรการทางสังคมเพื่อทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลด ละ เลิก ซึ่งการแก้ปัญหาสังคมเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ได้และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพราะแม้การ กลั่นสุราจะสร้างอาชีพแต่หากไม่คุ้มกับคุณภาพชีวิต และผลกระทบทางสังคมที่ เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง” นางอรุณีย้ำเพื่อให้พะเยาสละแชมป์ลงให้ได้
จากยุทธศาสตร์ประเทศมาสู่ยุทธศาสตร์จังหวัด สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. เชื่อว่าการระดมความคิดและร่วมกันทำงานของทุกฝ่ายจะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะปัญหาหลากหลายจำเป็นต้องใช้มาตรการหลายอย่าง เช่น การแก้ปัญหาสุรากลั่นที่มีการปลอมปนสารเคมี การดื่มในที่สาธารณะ การบังคับใช้กฎหมาย การสร้างแกนนำชุมชน การรณรงค์เปลี่ยนค่านิยม เป็นต้น โดย สสส.จะเข้ามาช่วยเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้ทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน และจากแผนบนกระดาษจะนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเชิงประจักษ์ต่อไป
จ.พะเยา จะใช้ยุทธศาสตร์สร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างสถานที่ปลอดเหล้าสร้างประชาคมจังหวัด สร้างแนวร่วมในชุมชน และทำให้โรงเหล้าชุมชนมีคุณภาพ ส่วนแผนปฏิบัติ เช่น งานบุญปลอดเหล้า 100 เปอร์เซ็นต์ นำประเด็นเรื่องแอลกอฮอล์เข้าสมัชชาทุกปี สร้างกว๊านพะเยาปลอดเหล้า และนำไปสู่การทำให้ จ.พะเยาไม่ได้เป็นจังหวัดที่มีผู้ดื่มเป็นอันดับ 1 เช่นเดียวกับอีก 5 จังหวัดในกลุ่มภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ลำปาง ที่ร่างแผนยุทธศาสตร์ไปในทางเดียวกัน เพื่อนำไปสู่การลดปัญหาที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ในที่สุด
ภารกิจครั้งนี้จะได้ผลอย่างไรขึ้นอยู่กับคนในจังหวัดจะร่วมใจเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหน ต้องเอาใจช่วยกันไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด