ยุทธการ 3 ส. ปั่นเปลี่ยนเมือง

         ครั้งหนึ่ง “ปานมณี” เคยได้รับทราบความตั้งใจของ ทพ.กฤษดา เรืองอารีรัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ หรือ สสส. ว่า ท่านอยากให้คนไทยสังคมไทย หันมาใช้จักรยานเป็นพาหนะกันมากขึ้น เพราะนอกเหนือจากการสร้างประโยชน์ทางด้านการคมนาคมแล้ว ยังเป็นการสร้างสุขภาพให้แข็งแรงได้อีกด้วย


/data/content/27104/cms/e_abilmrtvz789.jpg


         วันนี้เราได้พบว่ากระแสการปั่นจักรยานได้รับความนิยมมากขึ้น และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ดังเราจะเห็นได้ว่า เป็นการเริ่มที่ดี เนื่องจากมีการแพร่หลายในทุกช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นการปั่นเพื่อสุขภาพ กีฬา การท่องเที่ยว หรือแม้แต่การใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน


/data/content/27104/cms/e_abkmqrtvz128.jpg


         วันนี้ “ปานมณี” ได้พบกับ “ทพ.กฤษดา เรืองอารีรัชต์” ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อีกครั้งจึงได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากความสำเร็จที่ สสส.ได้พยายามผลักดันและส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานให้แพร่หลายขึ้น โดยจัดทำนโยบายที่เอื้อต่อผู้ใช้จักรยานมาอย่างต่อเนื่องผลที่ปรากฏออกมาจึงเป็นที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง อย่างเช่น กิจกรรมแรลลี่จักรยาน “ตามหายักษ์” รอบเกาะรัตนโกสินทร์ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ก็นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จุดประกายให้คนสนใจปั่นจักรยานในวิถีชีวิตมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการกระตุ้นให้พื้นที่อื่นๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดเกิดเส้นทางจักรยานที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยอีกด้วย


         ทพ.กฤษดา เล่าถึงยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในโครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดีสนองนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยานของรัฐบาลว่า ล่าสุด สสส.ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและภาคีเครือข่ายจัดทำแผนการส่งเสริมการปฏิบัติในแต่ละจังหวัด โดยใช้ยุทธศาสตร์ 3 ส. ได้แก่ “1 สวน 1 เส้น 1 สนาม”


         “สวน” คือ สวนสาธารณะที่ให้เอื้อต่อการใช้จักรยานเด็กๆ สามารถมาหัดขี่จักรยานได้ “เส้น” คือ ให้แต่ละจังหวัดกำหนด 1 เส้นทางที่สนองต่อผู้ใช้ประจำ เราอยากให้มีเส้นทางจราจรในจังหวัดที่สามารถขี่จากบ้านไปโรงเรียนได้ ซึ่งจะขอให้มีการนำร่อง จังหวัดละ 1 เส้นทางและ “สนาม” ที่มีอยู่แล้วในทุกจังหวัด อาทิ สนามกีฬา สนามบิน หรือสนามของหน่วยราชการ ให้จัดแบ่งให้เป็นเลนปั่นจักรยานเพื่อการออกกำลังกาย


/data/content/27104/cms/e_acehkmoy3679.jpg

ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี


         ทพ.กฤษดาย้ำด้วยว่า ต่อไปจักรยานจะอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ซึ่งเราเชื่อว่าทุกฝ่ายก็หวังจะเห็นภาพการใช้จักรยานที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับการดำเนินการครั้งนี้ในเบื้องต้นจะมีการนำร่องในอีสานใต้ 8 จังหวัด และตอนนี้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ได้นำเรื่องนี้ลงไปทำเรื่องการปั่นเพื่อท่องเที่ยวแล้วซึ่งงานนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมปั่นนำขบวนแรลลี่ด้วย


         “นอกจากนี้การปั่นจักรยานยังทำให้เราได้มองบรรยากาศรอบๆ เส้นทาง เห็นอะไรต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเห็น ได้สูดอากาศที่สดชื่น ซึ่งสิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพนั่นก็คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการปั่นจักรยานก็ถือเป็นการออกกำลังกายที่ดีอย่างหนึ่ง” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว


 /data/content/27104/cms/e_dehkntuvw236.jpg

คุณภัคชัญญา (ซ้ายสุด) และเพื่อนร่วมทีม


        คุณภัคชัญญา ธวัชสุภา หรือ “ยุ้ย” อายุ 35 ปี หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมแรลลี่ตามหายักษ์ เล่าว่า ปกติจะปั่นจักรยานจากบ้านไปทำงาน (ปิ่นเกล้า-เทเวศน์) และปั่นเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ในช่วงกลางคืนเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งหลังจากเริ่มปั่นจักรยานมาประมาณครึ่งปีก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมไปในทางที่ดีขึ้น จึงอยากเห็นเส้นทางจักรยานในกรุงเทพมหานครที่ทุกคนสามารถปั่นได้จริง และมีการจัดการที่เด็ดขาดค่ะ เพื่อเอื้อต่อคนที่จะออกมาปั่นจักรยานที่เพิ่มมากขึ้น เพราะการปั่นจักรยานไม่ใช่แค่เรื่องของการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแต่ยังจะได้พบมิตรภาพดีๆ ระหว่างนักปั่นด้วย


         ไม่ว่าความตั้งใจในการเริ่มต้นใช้จักรยานจะมาจากเหตุผลใดก็ตาม แต่สิ่งที่ทุกคนจะได้รับตามมานั้นก็คือ การมีสุขภาพที่แข็งแรง ตลอดจนส่งเสริมให้ทุกคนได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โครงการสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการปั่นจักรยานของ สสส.จึงเป็นตัวจักรที่สำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมให้สังคมไทยออกมาเดินทางกันด้วยจักรยานที่มีประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาพด้วย


 


 


         ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code