ยุทธการ “เหล้าปั่น” มอมเมาเยาวชน

สร้างภาพแสนหวาน ดึงวัยรุ่น-สตรีโดยเฉพาะ

 

 ยุทธการ “เหล้าปั่น” มอมเมาเยาวชน

          เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปในแวดวงนักธุรกิจว่า ตลาดการค้าที่ยึดพวกวัยรุ่นเป็นจุดขายนั้น แนวโน้มของการกระจายสินค้าจะเป็นไปได้ง่ายกว่า เป้าหมายในตลาดอื่นๆ ทั้งนั้น อาจจะเป็นเพราะกลุ่มบุคคลในวัยนี้ ยังหาเงินเองไม่ได้ ส่วนใหญ่มักจะได้เงินมาอย่างง่ายดายจากผู้ใหญ่ ดังนั้นหากธุรกิจใดสามารถจับใจให้ลูกค้าในกลุ่มนี้ “โดนใจ” แน่นอนว่ายอดขายระเบิดเถิดเทิงจริงๆ

 

          ด้วยเหตุนี้เอง กลยุทธในการสร้างแรงจูงใจเพื่อเรียกร้องให้สินค้าของตัวเองเป็นที่สนใจ จึงมักถูกสร้างขึ้นมาแบบเข้าใจง่ายเห็นชัด ไม่ต้องคิดอะไรให้ลึกซึ้งมากนัก ขอเพียงแค่เห็นแล้วโดนใจเป็นใช้ได้

 

          หนึ่งในบรรดาสินค้าที่กำลัง “โดนใจ” บรรดาวัยรุ่น จนกลายเป็นปัญหาของสังคมคือ “เหล้าปั่น” ที่สร้างความตื่นตัวให้กับบรรดาวัยรุ่นอย่างยากที่จะมีอะไรมาขัดขวางได้ แถมนักธุรกิจชนิดนี้ยัง “ตีเหล็กร้อน” ด้วยการส่งเสริมด้านการขายให้แก่ผู้ที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจเหล้าปั่นด้วยการตอบสนองเครื่องมือ อุปกรณ์ในรูปแบบของเฟรนไชน์อย่างครบวงจรด้วยยิ่งไปกันใหญ่

 

          ถ้า “เหล้า” ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้คนเปลี่ยนนิสัย และไม่ใช่สิ่งที่เสพแล้วเลิกไม่ได้ง่ายๆ ปัญหาก็คงไม่เกิดแก่ผู้บริโภค แต่เหล้าเป็น “ของต้องห้าม” ทั้งทางโลกและทางธรรม ที่ไม่ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นในหมู่ของประชากร คราวนี้มาจับกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ “วัยรุ่น” “อนาคตของชาติ” ยิ่งเป็นสิ่งที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง

 

          เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เครือข่ายนักวิชาการเพื่อเฝ้าระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ร่วมกับแผนงานเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ จัดเสวนาหัวข้อ “ถอดรหัสเหล้าปั่น…อันตรายที่ต้องควบคุม” โดย ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ขึ้นที่ โรงแรมรัตนโกสินทร์

 

          ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม ได้เปิดเผยว่า ธุรกิจเหล้าปั่นได้เน้นกลยุทธ์การตลาดหลัก คือ ดึงดูดให้ลูกค้าซื้อ และจูงใจให้คนหันมาขายเหล้าปั่นมากขึ้น โดยสร้างความหมายให้กับตัวเองให้เป็นที่นิยมในกลุ่มเด็ก วัยรุ่นและกลุ่มผู้หญิง ด้วยภาพลักษณ์ความน่ารัก แสนหวาน สดใส ไร้เดียงสา ทดแทนภาพลักษณ์ของเมรีขี้เมาจากการดื่มเหล้าแบบเดิมๆ ผ่านสัญลักษณ์ 3 ตัว คือ packaging, coloring, และ drinking คือ มีน้ำสีสวย หวานมีหลากกลิ่นหลายรสมีหลายรูปแบบการดื่มทั้งแบบแก้ว เหยือก หรือขวด

 

          ซึ่งขณะนี้มีธุรกิจแฟรนไชน์เหล้าปั่นเปิดขายอย่างเอิกเริก โดยใช้กลยุทธ์ educated marketing คือเป็นเจ้าของธุรกิจได้ในราคาถูก มีอุปกรณ์ให้พร้อมสรรพ พร้อมให้สูตรผสมเหล้าปั่นให้ด้วย องค์ประกอบเหล่านี้จึงเป็นช่องทางทำให้มีเหล้าปั่นขายมากขึ้น

 

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.นิษฐา ให้คำแนะนำว่า ข้อเสนอในการควบคุมการจำหน่ายเหล้าปั่น มี 2 แนวทางคือ 1.จำกัดการเข้าถึงของเยาวชน ซึ่งสนับสนุนการออกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข ในการจำกัดสถานที่ห้ามจำหน่ายรอบสถานศึกษาในรัศมี 500 เมตร รวมถึงสถานที่ห้ามจำหน่าย เช่น หอพัก 2.การจัดโซนนิ่ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด ทำให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ทุกที่ทุกเวลาและดัดแปลงให้เป็นการขายแบบเคลื่อนที่

 

          ทั้งหมดนี้ ต้องเร่งจัดการเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ยากขึ้น โดยจะนำข้อเสนอนี้เข้าสู่ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อนำไปสู่การผลักดันการบังคับใช้กฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

 

          เพื่อให้เกิดความกระจ่าง ทางด้านผลกระทบของเหล้าปั่นที่มีผลร้ายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กและสตรี นพ.พิชัย แสงชาญชัย กองจิตเวชและประสาทวิทยา ร.พ.พระมงกุฎเกล้า เปิดเผยว่า แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาท เมื่อดื่มแรกๆ จะให้รู้สึกครื้นเครง เพราะสมองหลั่งสารแห่งความสุข อาทิ โดปามีน เอ็นโดรฟีน แต่หากดื่มอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จะทำให้สมองเปลี่ยนแปลง และพร่องสารแห่งความสุข ทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้าแปรปรวน เกิดโรคสมองติดยาได้

 

          ซึ่งแอลกอฮอล์จะส่งผลต่อความสุขและความอยาก ทำให้อยากดื่มง่ายขึ้น ต้องการแอลกอฮอล์เพื่อให้เกิดความสุข โดยไม่สนวิธีอื่น และยังส่งผลต่อสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนของการคิดตัดสินใจ จึงทำให้สมองทำงานแย่ลง ขาดความยับยั้งชั่งใจ อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล จนทำให้แสดงพฤติกรรมต่างๆ เช่น การทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น ทะเลาะวิวาท ยิ่งผู้ดื่มมีอายุน้อยเท่าใด ก็ยิ่งมีโอกาสติดสุราได้มากขึ้น

 

          ผู้ที่ดื่มจึงควรอยู่ในวัยที่มีวุฒิภาวะสามารถรับผิดชอบตนเองได้ เพราะการดื่มเมื่ออายุน้อยจะทำให้เกิดโอกาส ติดสุรามากกว่าปกติ เนื่องจากการดื่มติดต่อกันยาวนานนั้น สมองจะปรับตัวและต้องการปริมาณแอลกอฮอล์มากขึ้นเพื่อให้ฤทธิ์ที่เป็นสุขเท่าเดิม เพราะเกิดการดื้อแอลกอฮอล์ เมื่อได้รับปริมาณมากขึ้น ก็เกิดอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ และเมื่อหยุดดื่มก็จะเกิดอาการถอน (Withdrawal) เพราะสมองตื่นตัวมาก เสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการชัก สมองสับสน อาการทางจิตแทรกซ้อน

 

          แล้วทางด้านของกฎหมายมีการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้างในเรื่องนี้ นายเตชาติ์ มีชัย หัวหน้าฝ่ายกฎหมายมูลนิธิคุ้มครองเด็ก เปิดเผยว่า จากการทดลองเข้าไปดูบรรยากาศร้านเหล้าปั่น ต้องยอมรับว่า ทั้งตัวสินค้า และบรรยากาศร้าน ออกแบบได้โดนใจวัยรุ่นมีกลุ่มลูกค้าชัดเจนคือเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่มักจะถูกล่อลวงให้ทดลองดื่มได้ง่าย โดยไม่เขินอาย สุดท้ายก็ไม่สามารถคุมสติ ยืนอยู่บนความถูกต้องดีงามได้

 

          ดังนั้นมาตรการควบคุมเหล้าปั่นและร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการ จึงต้องเร่งทำให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว และหวังว่าคงไม่มีใครอ้างผลกระทบกับการท่องเที่ยวมาขัดขวางมาตรการการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

          ยังมีความร้ายกาจที่เกิดจากธุรกิจเหล้าปั่นอีกมากมาย ถ้าภาครัฐยังจัดการเรื่องนี้ไม่กระจ่างทั้งการป้องกันและการจำหน่าย เห็นทีว่าเราคงต้องจับตามองกันต่อไปว่าผู้ใหญ่ในยุคนี้มีความเป็นห่วงอนาคตของชาติมากน้อย และจริงใจแค่ไหน

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

Update 19-08-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

 

 

อ่านเนื้อหาทั้งหมดในคอลัมน์คลิกที่นี่

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code