ยุงลายเสือ..พาหะ ‘โรคเท้าช้าง’
แนะป้องกัน-กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ ลดเสี่ยงติดเชื้อ
ยุงลายเสือ หรือ ยุงเสือ หรือ ยุงแมนโซเนีย (mansonia) เป็นหนึ่งในยุงที่มีอยู่อย่างน้อย 412 ชนิดในประเทศไทย เป็นยุงขนาดใหญ่ เส้นปีกมีเกล็ดใหญ่สีอ่อนสลับเข้มปกคลุม บางชนิดมีสีเหลือง ขาวสลับดำคล้ายลายของเสือโคร่ง เช่น ma.uniformis บางชนิดมีลายออกเขียวคล้ายตุ๊กแก เช่น ma.annulifera ขาลายเป็นปล้องๆ บริเวณขามีสีแบบตกกระ มีแถบขาวล้อมรอบ
ตรงส่วนปลายของท้องมีลักษณะเป็น 3 พู แต่ละพูมีขนยาว 1 กระจุก ยุงลายเสือหายใจผ่านทางท่อหายใจที่มีความแข็งแรงและแทงผ่านทะลุรากพืชหรือลำต้นของพืชน้ำได้ เพื่อการแลกเปลี่ยนออกซิเจน โดยยุงลายเสือจะรับเอาออกซิเจนจากรากหรือลำต้นพืชน้ำเวลาหากิน
ยุงลายเสือมีแหล่งเพาะพันธุ์ตามแอ่ง หรือหนองน้ำที่มีวัชพืชและพืชน้ำต่างๆ เช่น จอก ผักตบชวา แพงพวยน้ำ หรือหญ้าปล้อง มันกัดกินเลือดของสัตว์และคน ออกหากินเวลากลางคืน แต่ถ้าไปอยู่แถวแหล่งของมันในเวลากลางวัน มันก็กัดได้เหมือนกัน โดยเฉพาะตามท้องทุ่งดังกล่าว ยุงลายเสือเป็นพาหะของโรคเท้าช้างจากเชื้อไมโคร ฟิลาเรีย ที่พบมากบริเวณที่ราบทางฝั่งตะวันออกของภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงนราธิวาส และบริเวณชายแดนไทย – พม่า
เมื่อยุงลายเสือกัดคนที่มีเชื้อไมโครฟิลาเรีย ซึ่งเป็นหนอนพยาธิตัวกลม (มีลักษณะคล้ายเส้นด้าย อาศัยอยู่ในระบบน้ำเหลืองของคน) และดูดเลือดที่มีพยาธินี้เข้าไป ไมโครฟิลาเรียจะเข้าไปเจริญอยู่ในตัวยุงนานประมาณ 7 – 14 วัน จนเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา และจะเคลื่อนที่เข้าสู่ปากยุง เมื่อยุงมากัดคน ตัวอ่อนระยะติดต่อนี้จะไชผ่านผิวหนังบริเวณแผลที่ยุงกัด และเข้าไปเจริญและเพิ่มจำนวนในคน ซึ่งต่อมาจะก่อให้เกิดโรคเท้าช้าง
คนที่มีอาการมักถูกยุงที่มีเชื้อพยาธิเท้าช้างกัดซ้ำหลายครั้ง อาการในระยะแรกผู้ป่วยอาจมีไข้ ซึ่งเกิดจากการอักเสบของต่อมและท่อน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ขาหนีบ หรืออัณฑะ เนื่องจากพยาธิตัวแก่ที่อยู่ ในท่อน้ำเหลืองสร้างความระคายเคืองแก่เนื้อเยื่อภายใน รวมทั้งปล่อยสารพิษออกมาด้วย อาการอักเสบจะเป็นๆ หายๆ อยู่เช่นนี้ และจะกระตุ้นให้เกิดอาการบวมขึ้น หากเป็นนานหลายปีจะทำให้อวัยวะนั้นบวมโตอย่างถาวรและผิวหนังหนาแข็งขึ้นจนมีลักษณะขรุขระ
แยกได้เป็นผู้ป่วยเป็นโรคฟิลาเรียของระบบน้ำเหลืองที่เกิดจากเชื้อ w.bancrofti จะมีอาการแสดงให้เห็นคือผิวหนังตรงอวัยวะเพศหยาบขรุขระและบวมโต เป็นได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง ส่วนผู้ป่วยเป็นโรคฟิลาเรียของระบบน้ำเหลืองที่เกิดจากเชื้อ b.malayi จะมีอาการแสดงให้เห็นคือขาโตและมีผิวหนังหยาบขรุขระ จึงเรียกโรคนี้ว่า “โรคเท้าช้าง”
การป้องกันยุงกัดเป็นวิธีที่สามารถลดความรำคาญที่เกิดจากยุง และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อที่มียุงเป็นพาหะ ทำได้หลายวิธี เช่น นอนในมุ้งหรือมุ้งชุบสารเคมีฆ่าแมลง ติดตั้งมุ้งลวด สุมควันไฟไล่ยุง จุดยากันยุง หรือทาสารเคมีไล่ยุง เช่น น้ำมันตะไคร้หอม หรือสารสังเคราะห์อย่าง deet (diethyltoluamide) ควบคุมและกำจัดยุงพาหะโดยพ่นสารเคมีกำจัดยุงตามฝาผนังบ้าน กำจัดลูกน้ำตามแหล่งต่างๆ กำจัดวัชพืชและพืชน้ำที่เป็นแหล่งเกาะอาศัยของลูกน้ำในแหล่งน้ำ
อย่างไรก็ตาม ในแหล่งเพาะพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่หรือกว้างขวาง เช่น ในท้องนา ลำธาร หรือกระบอกไม้ในป่า การควบคุมลูกน้ำจะทำได้ลำบากมาก หรือแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย ประชาชนที่อยู่ในแหล่งระบาดของโรคเท้าช้างอาจกินยาป้องกัน ได้แก่ diethyl carbamazine (dec)
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update 15-06-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก