ยุงร้าย…เชื้อไวรัสชิคุนกุนยา

โรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (chikungunya หรือ chikungunya fever) เป็นโรคเกิดจากร่างกายติดเชื้อไวรัสชื่อ ชิคุนกุนยาไวรัส (chikungunya virus หรือ ย่อว่า chik v) ซึ่งเป็นไวรัสในตระกูล togaviridae 

ชิคุนกุนยาไวรัส เป็นไวรัสชนิดมีแมลงเป็นพาหะโรค (arbovirus) โดยรังโรค คือ ลิง หนู นก และอาจเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆ ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีสัตว์อะไรอีกบ้าง แต่ในช่วงมีการระบาดของโรค รังโรค คือ คน 

แมลงที่เป็นพาหะโรคชิคุนกุนยา คือ ยุงลาย ชนิดเดียวกับที่เป็นพาหะโรคไข้เลือดออก หรือ โรคเดงกี (hemorrhagic fever หรือ dengue fever) เมื่อมีอาการรุนแรง เรียกว่า (dengue hemorrhagic fever) โดยยุงลายที่เป็นพาหะโรคไข้ปวดข้อยุงลาย คือ ยุงลายบ้าน (aedes aegypti) และยุงลายสวน (aedes albopictus skuse) เนื่องจากเป็นโรคเกิดจากยุงลายชนิดเดียวกันเป็นพาหะ จึงพบโรคทั้ง 2 โรคได้พร้อมๆกัน ซึ่งอาการของโรคทั้ง 2 ยังคล้ายคลึงกันอีกด้วย แต่โรคไข้เลือดออกจะรุนแรงกว่า ดังนั้นบ่อยครั้ง จึงไม่มีการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้ปวดข้อยุงลาย แต่วินิจฉัยว่าเป็นเพียงโรคเดียว คือ โรคไข้เลือดออก ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ความชุกที่แท้จริงของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย จึงยังไม่แน่ชัด

อุบัติการณ์ของโรคชิคุนกุนยา 

หลายประเทศในทวีปแอฟริกามีการพบเขื้อชิคุนกุนยา โดยมีการแพร่เชื้อ 2 วงจรคือ primate cycle (rural type: คน-ยุง-ลิง) ซึ่งมีลิงบาร์บูนเป็น amplifier host ทำให้เกิดผู้ป่วยจากเชื้อนี้ประปราย หรืออาจมีการระบาดเล็กๆเป็นครั้งคราว และเมื่อผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเข้าไปในพื้นที่ที่มีเชื้ออยู่ และคนๆนั้นอาจจะนำมาสู่ชุมชนเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มียุงลายชุกชุมมาก จึงทำให้เกิดวงจรที่ 2 ขึ้นโดยเป็นวงจรในเมือง (urban type: คน-ยุง) และจากคนไปคน โดยมียุงลายเป็นพาหนะ 

ในทวีปเอเซีย การแพร่ของเชื้อชิคุนกุนยาต่างจากในแอฟริกา คือเป็นการแพร่เชื้อจากคนไปคน โดยมียุงลายเป็นพาหนะสำคัญ ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคเป็นไปตามการแพร่กระจายและความชุกชุมของยุงลาย โดยมีการรายงานการพบเชื้อจากประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย พม่า เขมร เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนิเซีย รวมถึงประเทศไทย โรคนี้จะพบมากในช่วงฤดูฝน เมื่อยุงลายมีจำนวนเพิ่มขึ้น และสามารถพบโรคนี้ได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากโรคไข้เลือดออกที่ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 15 ปี 

สำหรับในประเทศไทย พบเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาครั้งแรกจากผู้ป่วยในโรงพยาบาลเด็ก กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2501 ต่อจากนั้นก็พบการระบาดของโรคชิคุนกุนยา 6 ครั้ง ในปี พ.ศ.2531 ที่จังหวัดสุรินทร์ ปี พ.ศ.2534 ที่จังหวัดขอนแก่นและปราจีนบุรี ในปี พ.ศ.2536 ที่จังหวัดเลย, นครศรีธรรมราช และหนองคาย ปัจจุบันในหลายพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดสตูล ชุมพร ตรัง สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ขณะนี้พบว่า มีการกลับมาระบาดของโรคชิคุนกุนยาที่มาพร้อมกับโรคไข้เลือดออก 

ในอดีตเข้าใจว่ายุงลายกัดเฉพาะเวลากลางวัน แต่ปัจจุบันในบ้านเรายุงลายกัดไม่เลือกเวลา ปรับตัวตามพฤติกรรมของคน และพบว่าอุณหภูมิบนยอดดอยที่สูงขึ้น ทำให้ยุงลายกัดบ่อยขึ้นและขยายพันธุ์ได้บนภูเขา ต่างจากความรู้เดิมที่ว่ายุงลายบ้านไม่สามารถขยายพันธุ์ได้บนที่สูงเกิน 350 เมตร ดังนั้นอาจจะทำให้เกิดการระบาดของไข้ปวดข้อยุงลายและ ไข้เลือดออกในหมู่ชาวดอย เพราะไม่เคยมีภูมิคุ้มกันมาก่อน 

สถานการณ์ โรคชิคุนกุนยาในปัจจุบัน 

จากรายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 chikungunya (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2556 – 9 ก.ค. 2556) พบภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ 0.48 ต่อแสนประชากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 0.06 ต่อแสนประชากร ภาคกลาง 0.01 ต่อแสนประชากร ภาคเหนือ 0.00 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 จำนวนผู้ที่ป่วยจากโรคชิคุนกุนยา (อัตราป่วยต่อแสนประชากร) ปี 2556 จำแนกตามภาค

ที่มา : รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 chikungunya (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2556 – 9 ก.ค. 2556) โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/

ในส่วนของระดับจังหวัด จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ภูเก็ต (3.36 ต่อแสนประชากร) อำนาจเจริญ (3.22 ต่อแสนประชากร) ตรัง (2.22 ต่อแสนประชากร) กระบี่ (1.13 ต่อแสนประชากร) พัทลุง (0.78 ต่อแสนประชากร) ดังตารางที่ 2

ตารางที่ 2 แสดงลำดับของจังหวัดที่พบผู้ป่วยจากโรคชิคุนกุนยามากที่สุด ปี 2556 (อัตราป่วยต่อแสนประชากร)

ที่มา : รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 chikungunya (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2556 – 9 ก.ค. 2556) โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรค (รายงาน 506) อ้างใน http://www.boe.moph.go.th/ 

วิธีการป้องกันโรคได้ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัดทั้งกลางวันและกลางคืน การป้องกันการกัดของยุงนอกจากใส่เสื้อผ้ามิดชิดแล้ว ต้องชโลมยาทากันยุงให้ทั่วส่วนที่โผล่พ้นเสื้อผ้า เพราะกลไกการป้องกันยุงของสารทาป้องกันยุงที่สำคัญ คือ ปกป้องบริเวณที่ทาไม่ให้ยุงหาเป้าหมายเจอ ส่วนบริเวณผิวหนังใกล้เคียงซึ่งไม่ได้ทายาจะไม่ถูกป้องกัน ซึ่งสารออกฤทธิ์ที่ป้องกันยุงกัดได้ดีที่สุดและมีอายุการใช้งานยาวนานในการเก็บมากที่สุดจนถึงขณะนี้ คือ สารดีท หรือไดเอททิล โทลูเอไมด์ ที่มีความเข้มข้นร้อยละ 15-30 โดยน้ำหนัก ซึ่งจะป้องกันการกัดของยุงทั้งกลางวันและกลางคืนได้ 4-7 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับตำรับบุคคล และสิ่งแวดล้อมบริเวณที่ใช้ 

องค์การอนามัยโลก จึงแนะนำให้ใช้ป้องกันโรคระบาดโดยแมลง รองลงมาจากดีท คือ สารออกฤทธิ์ที่เหมาะสมสำหรับใช้กับเด็กเล็กต่ำกว่า 4 ขวบ ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบกรดอะมิโนจากธรรมชาติ คือ ไออาร์ 3535 หรือเอททิลบิลอะซิติลอะมิโนโปรปิโอเนท โดยองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (united states environmental protection agency) หรือยูเอสอีพีเอ อนุญาตให้ใช้ในเด็กได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน แต่ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ใช้ได้ตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป

 

 

ที่มา : สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 

Shares:
QR Code :
QR Code