ยื้อ หรือ หยุด โปรดฟังคำขอสุดท้ายก่อนตาย

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์


ภาพประกอบจากทีมบริษัทชีวามิตร


ยื้อ หรือ หยุด โปรดฟังคำขอสุดท้ายก่อนตาย thaihealth


ชีวิตของเราได้รับการเตรียมพร้อมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมการเกิด เรียนหนังสือ เข้าทำงาน มีชีวิตครอบครัว แต่การเตรียมพร้อมสำหรับความตายเป็นเรื่องที่หลายคนหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง ทั้งที่เรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็น คำถามคือ การเตรียมพร้อมสำหรับความตายทำได้หรือไม่ อย่างไร ในทางธรรมอาจพูดถึง มรณานุสติ แต่ก่อนจะไปถึงวาระสุดท้ายของชีวิต บางคนต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจก่อนจะสิ้นลมหายใจ


ส่วนหนึ่งของหนังสือ ปัจฉิมอาพาธ พุทธทาสมหาเถระ โดยท่านพุทธทาสภิกขุ มีเนื้อหาเกี่ยวกับความตาย ความว่า "การตายเป็นหน้าที่ของสังขารอย่างไม่มีทางเปลี่ยนแปลงแก้ไข นอกจากการต้อนรับให้ถูกวิธี"


แล้วอะไรคือการต้อนรับความตายอย่างถูกวิธีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะท้าย…


รู้จัก Living Will ความต้องการวาระสุดท้าย


เป็นที่แน่นอนแล้วว่า เมืองไทยกำลังจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว หนึ่งในปัญหาทางการแพทย์ที่จะตามมาก็คือจำนวนของผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ป่วยติดเตียงที่เพิ่มจำนวนขึ้น เมื่อบวกรวมกับปัญหาการขาดองค์ความรู้และความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแล้ว จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตระยะท้ายของผู้ป่วย


บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม ให้ความหมายของคุณภาพชีวิตระยะท้ายไว้ว่า เป็นภาวะความเป็นอยู่ที่มี ความพอใจ สุขใจ สุขกาย และมีความสงบ ปลอดภัย มี สิทธิ เสรีภาพ และมีความเข้าใจจากครอบครัวที่พร้อม ปรับตัวรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีความไม่ สุขกาย สบายใจ จากอาการเจ็บป่วย พร้อมทั้งตอบสนองความต้องการและความคาดหวังที่ยังห่วงกังวล เพื่อให้สามารถดูแลตนเองเท่าที่จะสามารถทำได้ และจากไปอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


แม้ปัจจุบันจะมีกลุ่มคนที่เข้าใจเรื่องการเตรียมคุณภาพชีวิตระยะท้ายมากขึ้น แต่ยังไม่ได้ขยายวงกว้าง เพื่อเป็นการปูทางสำหรับอนาคต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และชีวามิตร จึงเปิดอบรม "อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข" เพื่อทำความเข้าใจใน 3 มิติ คือ กฎหมาย การแพทย์ และศาสนา การสร้างความเข้าใจความต้องการของผู้ป่วยระยะท้าย อีกมิติหนึ่งที่ผู้ดูแลต้องตระหนัก รวมถึงการสวมบทบาทหากวันหนึ่ง คุณกลายเป็นผู้ป่วยระยะท้ายที่ต้องการเผชิญความตายอย่างสงบ และคนที่ยังมีชีวิตอยู่สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้โดยไม่รู้สึกผิดกับการจากไปของผู้ป่วย


ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า ในความเข้าใจของคนทั่วไป "ลีฟวิ่ง วิล (Living Will)" คือพินัยกรรมชีวิต แต่คำว่าพินัยกรรม จะมีผลเมื่อคนคนนั้นเสียชีวิตแล้ว ดังนั้นในทางกฎหมายลีฟวิ่ง วิล ถือว่าเป็นคำสั่งล่วงหน้า หรือความต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งหมายความถึงสภาวะเจ็บป่วย บาดเจ็บ ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และจะเสียชีวิตในเวลาไม่ช้า


ในเมืองไทยการทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาที่เกินความจำเป็น ได้รับการรับรองทางด้านกฎหมาย โดยได้บัญญัติไว้ในมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ดังนี้


มาตรา 12 "บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้


การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง


เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง"


ศ.แสวง ระบุอีกว่า ต้องเข้าใจก่อนว่า ลีฟวิ่ง วิล เป็นการแสดงเจตนาขอตายตามธรรมชาติ มิใช่เรื่องการเร่งการตาย หรือการุณยฆาต "ลีฟวิ่ง วิล เป็นการปฏิเสธการรักษาพยาบาลที่เป็นเพียงเพื่อยืดการตายโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในทางการแพทย์ ผู้ป่วยจะยังคงได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ถ้าเราอยู่ในวาระสุดท้าย เพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ดังนั้น หากหมอปฏิบัติตามคำขอของคนไข้ ถือว่าไม่มีความผิด


ปัญหาที่ทำให้ลีฟวิ่ง วิล ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักในเมืองไทย มีปัจจัยมาจาก 3 ประการ คือ แพทย์ยังมีความกังวลเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ขณะที่นักกฎหมายไม่มีความรู้เรื่องการแพทย์ และประชาชนทั่วไปไม่มีพื้นฐานทั้งเรื่องกฎหมายและแนวทางการรักษาของแพทย์ รู้แต่ว่าอยากให้คนที่รักอยู่กับตัวเองนานๆ


ยื้อ หรือ หยุด โปรดฟังคำขอสุดท้ายก่อนตาย thaihealth


เมื่ออยู่ในภาวะที่ป่วยหนัก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพที่ไม่รู้สึกตัว การตัดสินใจในการรักษาพยาบาลจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์และญาติ บางครั้งอาจสวนทางกับความต้องการของผู้ป่วย หรืออาจเกิดความขัดแย้งเรื่องแนวทางการรักษาระหว่างญาติผู้ป่วยและหมอที่ไม่อาจตัดสินใจร่วมกันได้ ดังนั้น หาก 3 ตัวแปรที่มีความสำคัญ อันได้แก่ กฎหมาย การแพทย์ และศาสนา มีความเข้าใจตรงกันก็จะเกิดประโยชน์ในทุกฝ่าย" ศ.แสวง อธิบาย


แพทย์ผู้ต่อรอง สู่เป้าหมายที่เหมาะสม


รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากเปรียบแนวทางการรักษาผู้ป่วยกับการขับเครื่องบิน ตัวแพทย์ก็เหมือนกับนักบิน มีหน้าที่ทำอย่างไรก็ได้ให้เครื่องบินไปสู่จุดหมายอย่างปลอดภัย มีปุ่มหลายปุ่มอยู่ตรงหน้า ทั้งปุ่มให้ยา ให้อาหารทางสายยาง ต่อท่อช่วยหายใจ


"การจะเลือกกดปุ่มไหน สำคัญที่การตั้งเป้าหมายต้องชัดเจน เมื่อเริ่มการรักษาก็เหมือนนำเครื่องขึ้นแล้ว หากยังไม่ถึงจุดหมายก็ต้องประคองเครื่องไปให้ได้ ก็ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ให้คุ้ม แต่ถ้าสักวันหนึ่งต้องนำเครื่องลงเราก็ต้องเลือกทางที่นำเครื่องลงให้นุ่มนวลและสบายที่สุด สิ่งแรกที่สำคัญแต่หลายคนไม่คำนึงถึงก็คือเป้าหมาย ถ้าเห็นเป้าชัดก็จะได้แนวทางการรักษาที่เหมาะสมได้"


สิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาก็คือ 3 ฝ่าย คือ แพทย์ ญาติ ผู้ป่วย และผู้ป่วย มองเป้าหมายไม่ตรงกัน เพราะแต่ละฝ่ายรับข้อมูลไม่เหมือนกัน หน้าที่ของแพทย์คือผู้ต่อรองให้ เป้าหมายทุกฝ่ายตรงกัน โรคบางโรคเมื่อสุดทางการรักษาโรคเราก็ต้องรักษาคน เพื่อให้คนคนนั้นมีคุณภาพที่ดีขึ้นจนกว่าจะเสียชีวิต แต่ถ้าเราเข้าใจเป้าหมายผิดคือต้องการยืดชีวิตของผู้ป่วยได้นานๆ แต่เขาอยู่ด้วยความทุกข์ทรมาน


นอกจากความทุกข์ทรมานทางกายแล้ว สิ่งที่ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายกลัวก็คือ กลัวการทรมานก่อนเสียชีวิต กลัวการถูกทอดทิ้ง กลัวเป็นภาระของลูกหลาน กลัวการพลัดพราก กลัวไปในภพภูมิที่ไม่ดี เป็นห่วงลูกหลานและห่วงสมบัติ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมักจะมีปัญหาทางใจ เช่น ภาวะซึมเศร้ารุนแรง วิตกกังวลรุนแรง หากดูแลแบบประคับประคองก็ต้องรวมถึงสภาพจิตใจผู้ป่วยด้วย เพราะคนไข้จำนวนหนึ่งก่อนเสียชีวิตจะมีความทุกข์ทรมานทั้งทางกายและทางใจหากไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ" รศ.นพ.ฉันชาย ให้ภาพ


การดูแลระยะท้าย เพื่อเป้าหมายการตายดี


ศ.แสวง ให้ภาพของการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพิ่มเติมว่า มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยสามารถอยู่กับความเจ็บป่วยได้อย่างมีความสุขที่สุด และใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า จนวาระสุดท้าย ดูแลแบบครอบคลุมทุกด้าน ทั้งร่างกายและจิตใจ ความต้องการส่วนลึกในวาระสุดท้ายของผู้ป่วยส่วนใหญ่ระบุว่าต้องการอยู่กับครอบครัว อยากพบคนที่รักก่อนจากโลกนี้ไป สำหรับแพทย์และญาติจะต้องทำตามความต้องการของผู้ป่วย เพราะนี่คือสิ่งที่ดีที่สุดของผู้ป่วย ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการหรือคิดว่าดี


ยื้อ หรือ หยุด โปรดฟังคำขอสุดท้ายก่อนตาย thaihealth


ขณะที่ รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวอีกว่า แนวทางเพื่อนำไปสู่การตายที่ดี (Good Death) ซึ่งหมายถึงการตายที่ไม่ควรจะมีความทรมานที่ไม่จำเป็น มีการวางแผนที่ดี ดูแลทุกด้าน กาย จิตวิญญาณ สังคมของผู้ป่วย ทั้งญาติ หมอ พยาบาล "แพทย์ต้องบอกทางเลือก แนวทางการรักษาให้คนไข้ฟัง และให้ญาติและผู้ป่วยตัดสินใจ ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ทุกคนไม่จำเป็นต้องมีพระสงฆ์ไปสวดหรือฟังเทปธรรมะก่อนจะสิ้นลมหายใจเสมอไป เพราะความเชื่อและความชอบของคนเราไม่เหมือนกัน ทุกคนมีราก ผู้ป่วยบางคนต้องการนอนฟังเพลง บางคนต้องการอยู่กับญาติเท่านั้น


การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองก็เหมือนเราเปลี่ยนเป้าหมายการรักษา จากการยื้อชีวิตเป็นการรักษาให้เขารู้สึกดี ดูแลอาการและจิตใจไม่ได้โฟกัสที่ตัวเลขชีพจร ความดัน หรือค่าบ่งชี้อาการใดๆ แล้ว แต่ดูแลเพื่อให้ผู้ป่วยได้ตายในสภาพแวดล้อมที่ดี"


โรงพยาบาลบางแห่งในประเทศไทยมีหน่วยงานหรือศูนย์ที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแล้ว บางแห่งตั้งชื่อใหม่ เช่น โรงพยาบาลศิริราช ใช้ชื่อศูนย์บริรักษ์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ใช้ชื่อ ชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ใช้ว่า คลินิกฮอมฮัก (แปลว่า รวมรัก) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ใช้ชื่อศูนย์ ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ ซึ่งกำลังจะเตรียมเปิดอย่างเป็นทางการในปี 2562


การทำ Living Will


** Living Will ไม่มีแบบฟอร์มตายตัว สามารถพิมพ์หรือเขียนด้วยลายมือของเจ้าของเอกสาร จะมีพยานหรือไม่ก็ได้


** ผู้เขียนสามารถระบุความประสงค์ทั้งเกี่ยวกับทรัพย์สิน รูปแบบการรักษาพยาบาล สถานที่เสียชีวิต การจัดการร่างกายหลังเสียชีวิต รวมทั้งการจัดงานศพให้ชัดเจน


** ให้เซ็นลายมือชื่อกำกับเอกสารทุกครั้ง


** ให้ทำสำเนา Living Will นำส่งเวชระเบียนของโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยใช้บริการ จำนวนกี่แห่งก็ได้ โดยเอกสารตัวจริงจะต้องอยู่กับผู้ป่วย


** Living Will สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ โดยกฎหมายจะยึดตามเอกสารที่อัพเดทล่าสุด ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องระบุทุกครั้งคือต้องระบุวันที่ เดือน และปี พ.ศ. ก่อนทุกครั้ง


** สามารถดูตัวอย่างการเขียน Living Will ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บไซต์ www.thailivingwill.in.th

Shares:
QR Code :
QR Code