ยื่น จม.ถึง มท.1 วอนลดปัญหาอุบัติเหตุจากน้ำเมา

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ยื่น จม.ถึง มท.1วอนลดปัญหาอุบัติเหตุจากน้ำเมา

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ยื่น จม.ถึง มท.1 วอนลดปัญหาอุบัติเหตุจากน้ำเมา

นายจะเด็จ  เชาวน์วิไล  ผู้จัดการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กว่า 30 คน เดินทางเข้าพบ นายยงยุทธ  วิชัยดิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และประธานศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเทศกาลปีใหม่ 2555 เพื่อยื่นข้อเสนอให้ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ

โดย นายจะเด็จ กล่าวว่า    แม้โดยภาพรวมช่วงเทศกาลปีใหม่ในปีนี้จำนวนอุบัติเหตุจะลดลง  และเป็นที่น่ายินดีที่ในปีนี้ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) เทศกาลปีใหม่ 2555  ได้กำหนดมาตรการใหม่ๆ เช่น บังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ. 2551   และ พ.ร.บ.สุรา หรือการกำหนดให้งานเทศกาล งานกาชาดปลอดแอลกอฮอล์ ประกอบกับมีการเชิญชวนทำกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้กระแสการงดการดื่มดีขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ควรยังต้องดำเนินการต่อไป  โดยทางเครือข่ายที่มาในวันนี้ยินดีจะร่วมเฝ้าระวังและร่วมรณรงค์ให้ประชาชน ลด ละ เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์   มีส่วนร่วมประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  พ.ศ. 2551  รวมถึงการเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดมาอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ หรือสงกรานต์ ซึ่งมีอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้นมากกว่าปกติ

นางสาวเกสร   ศรีอุทิศ    ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  กล่าวว่า  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการลดจำนวนอุบัติเหตุ  ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกในช่วงสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้   เครือข่ายขอเสนอมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังต่อไปนี้ 1.ควรตั้งเป้าหมายเจาะจงเรื่องการลดอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับให้ชัดเจน เช่น การตรวจวัดแอลกอฮอล์ จำนวนปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด การใช้มาตรการประกันภัยอุบัติเหตุ 2.ควรบูรณาการกับคณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชาติ เพื่อมีมาตรการจัดชุดปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ในทุกจังหวัด และเร่งสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ โดยจัดสรรส่วนแบ่งค่าปรับ จากความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551เพื่อสนับสนุนการทำงานและเป็นขวัญกำลังใจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการบังคับใช้กฎหมาย ในรูปแบบเดียวกับค่าปรับความผิดจราจรทางบก

นางเกสร  กล่าวว่า สำหรับข้อ 3.ควรสนับสนุนให้มีมาตรการของชุมชน โดยจัดทำประชาคมหมู่บ้าน เปิดเวทีการมีส่วนร่วม ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถให้การสนับสนุนได้ เพื่อให้ปัญหาดื่มแล้วขับเป็นปัญหาของชุมชน มากกว่าเป็นปัญหาของทางราชการ ทั้งนี้ โดยขอให้ตั้งคำถามว่า เราจะป้องกันลูกหลานจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มากกว่าที่จะตั้งคำถามว่า เราจะลดคนดื่มแล้วขับกี่เปอร์เซ็นต์  เพราะพลังการเปลี่ยนแปลงมาจากพลังของความรักลูกหลานมากกว่าจากตัวเลข  และ 4.ขอให้กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เร่งผลักดันออกมาตรการห้ามมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีสภาพพร้อมดื่มในรถ และให้คลอบคลุมถึงการห้ามดื่มในรถทุกชนิด โดยเฉพาะท้ายกระบะ 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code