ยิ่งรู้ยิ่งห่าง คนพิการพ้นภัยโควิด-19

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ยิ่งรู้ยิ่งห่าง คนพิการพ้นภัยโควิด-19 thaihealth


แฟ้มภาพ


โดยปกติผู้พิการดำเนินชีวิตค่อนข้างจะลำบากอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์ของโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้ผู้พิการใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะผู้พิการทางสายตา ซึ่งสิ่งที่จะทำให้คนพิการปลอดภัยจากโควิด-19 ได้มากที่สุด คือข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ


เพราะด้วยข้อจำกัดและความบกพร่องนั้น อาจจะเป็นอุปสรรคในการช่วยป้องกันกลุ่มคนเหล่านี้ ดังเช่นกรณีที่เกิดกับ "ผู้พิการทางตา" จะพบกับปัญหา และอุปสรรคในช่วงโควิด-19 มากมาย อย่างหัวข้อว่าด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม คนตาบอดจะไม่มีทางรู้เลยว่าเดินไปใกล้กับอะไรบ้าง


แต่ส่วนใหญ่แล้วถือว่าคนตาบอดจะระมัดระวังตัวเอง ไม่ไปอยู่ในที่ชุมนุม เพื่อป้องกันรับเชื้อและแพร่เชื้อ โดยสนอง จวนสาง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาคนตาบอด มูลนิธิธรรมิกชน เพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การรักษาความสะอาดนั้นดูแลตามคำแนะนำของรัฐบาล ดูแลสุขภาพ ใช้อุปกรณ์ ภาชนะของตัวเอง ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น


ส่วนการเดินทางก็อาจจะมีความวิตกกังวลอยู่บ้าง หากไปสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยหรือไปนั่งรับประทานอาหาร ด้านแนวทางวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ผู้พิการส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติตามแนวทางภาครัฐกำหนดอยู่แล้ว เมื่อรับทราบข้อมูลอะไรมาก็จะนำมาศึกษา ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับแนวทาง เพื่อความปลอดภัย เช่นเดียวกับโครงการ "สื่อการ เรียนรู้สู้ภัยโควิดสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น" ของมูลนิธิธรรมิกชน ซึ่งร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำหนังสือ อักษรเบรลล์เพื่อให้ความรู้คนตาบอด


โดยปัจจุบันได้เตรียมส่งไปที่โรงเรียนสอนคนตาบอด ศูนย์ฝึกอาชีพและศูนย์พัฒนาคนตาบอดรวม 22 แห่ง และมี E-PUB เพื่อให้คนตาบอดได้รับรู้ ข่าวสารได้เท่ากับคนทั่วไปรู้วิธีดูแลตนเองและวิธีป้องกันตนเองจากไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตามแม้กลุ่มคนพิการจะมีแนวทางในการดูแลตัวเองให้ห่างจากโควิด-19 ได้ดีเพียงใด แต่ยังคงมีความเชื่อผิดๆ จากคนปกติบางส่วนที่มองคนพิการในทางลบ


ขณะที่อนุรักษ์ ปฐมลิขิตกาญจน์ นักเคลื่อนไหว เพื่อสิทธิของผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น ระบุว่า กลุ่มผู้พิการยอมรับตนเองว่าอ่อนไหวมากกว่าคนอื่นๆ ทำให้ยิ่งต้องป้องกันตัวเองมากขึ้น "คนทั่วไปอาจคิดว่าคนตาบอดมองไม่เห็น ทำให้อาจจะไปหยิบจับ สัมผัสอะไรได้ง่าย อาจจะได้รับเชื้อมาโดยไม่รู้ตัว แต่ยืนยันว่าคนพิการรู้ตัวเองว่ามีความเสี่ยง และส่วนใหญ่ก็ไม่ออกจากบ้านกันอยู่แล้ว ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ" ถ้าจะออกก็ต้องระมัดระวังกันสุดๆ ถึงกระนั้นจะให้อยู่บ้านไปตลอดก็คงเกิดความเครียดตามมา


โครงการ "คนพิการอยู่บ้านอย่างไรให้มีความสุข และเป็นประโยชน์ต่อสังคม" เป็นอีกหนึ่งช่องทางสื่อสารที่ช่วยให้คนพิการใช้ชีวิตในยุคโควิด-19 ได้อย่างมีความสุข โดยมีกิจกรรม เช่น การให้คนตาบอดมาจัดรายการบนเว็บไซต์ยูทูบ ช่อง "กลุ่มเพื่อนเธอตลอดไป สร้างสายใยต่อสังคม" หรือมีเพจเฟซบุ๊ค "อยู่กับบ้านฯ พอดแคส" ให้ความรู้ในการดูแลตนเองอย่างถูกต้องให้แก่กลุ่มคนพิการทางการมองเห็น และผู้ใกล้ชิดเพื่อนำไปสื่อสารต่อ


อนุรักษ์ กล่าวต่อไปว่า คณะทำงานด้านคนพิการ พยายามสื่อสารอย่างสุดกำลังเพื่อให้สังคมไม่ทิ้ง คนพิการไว้ข้างหลัง "มาตรการหรือวิถีชีวิตใหม่ที่ เกิดขึ้นต้องให้เหมาะสมกับคนพิการด้วยไม่ใช่เฉพาะ กับคนปกติเท่านั้น" และย้ำว่า "คนพิการไม่แน่ใจว่าเมื่อออกไปแล้วจะถูกสังคมปฏิเสธ หรือถูกปฏิบัติอย่างไร ดังนั้นนอกจากจะกลัวไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังต้องมากังวลต่อภาพลักษณ์ที่สังคมมองอีก" การทำให้คนพิการปลอดภัยจากโควิด-19 จึงไม่ใช่เพียงแค่การให้คนพิการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง หากแต่ต้องสร้างความรู้และทำความเข้าใจกับคนปกติด้วย


ด้านสุชาดา จิตรสุภาพ ล่ามภาษามือ สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า สิ่งที่จะทำให้คนพิการปลอดภัยจากโควิด-19 ได้มากที่สุด คือข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ "แม้คนหูหนวก จะมองเห็นทำให้ลดการหยิบจับสัมผัส ลดภาวะความเสี่ยงในการรับเชื้อได้มากกว่าผู้พิการทางด้านอื่นๆ แต่เมื่อมีความบกพร่องทางการได้ยิน ก็ทำให้ไม่รับรู้ข่าวสาร เช่น เวลามีแถลงการณ์ หรือคำแนะนำในการดูแลตนเอง คนหูหนวกก็จะไม่ทราบ"หรือถ้าทราบก็ไม่เป็นจริงทั้งหมด


แต่หากสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ คนหูหนวกก็ดูแลตัวเองได้ เช่น ไวรัสโควิด-19 มีทั้งแบบที่ออกอาการและไม่ออกอาการ เมื่อรู้แล้วก็จะได้ระมัดระวังตัว ไม่ใช่ว่าคนรอบข้างไม่มีอาการ แล้วจะไม่กลัว หรือไม่ระวังตัวอะไรเลย เป็นต้น ขณะเดียวกัน โครงการ "คนหูหนวกขอรู้ ล่ามขอเล่า" ซึ่ง สสส. ร่วมกับทีมล่ามภาษามือจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ทำรายการเผยแพร่บนเพจ เฟซบุ๊ค "รายการคนหูหนวก ขอรู้ ล่ามขอเล่า" ให้คนหูหนวก ได้มีความรู้และรับรู้สถานการณ์ อย่างรวดเร็ว โดยเป็นคลิปเล่าเรื่องด้วยภาษามือสั้นๆ ความยาวตอนละ 3-5 นาที


รวมถึงชวนคนหูหนวกมาร่วมถ่ายทำให้ความรู้ เพื่อสร้างการเข้าถึงและสร้างเนื้อหาให้หลากหลาย โดยคณะผู้จัดทำมีแนวคิดว่าเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส และสร้างการเรียนรู้ไปด้วยกัน ถึงกระนั้น การปรับตัว สู่วิถีชีวิตใหม่ของคนหูหนวกยังทำได้ค่อนข้างยากหากจะให้ทำอย่างต่อเนื่อง เพราะคนหูหนวกมักอยู่กันเป็นกลุ่มก้อน หากคนในครอบครัวไม่สามารถใช้ภาษามือ คนหูหนวกก็ต้องออกไปหากลุ่มที่สามารถสื่อสารกันได้ ทั้งนี้ "กลุ่มคนหูหนวกอยากให้มีช่องทางพิเศษสำหรับผู้พิการในการขอรับการช่วยเหลือ" ซึ่งจะทำให้มีความเสมอภาคมากขึ้น


เสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้พิการทางการมองเห็นและการได้ยิน สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการ คือข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ ซึ่งจะช่วยให้คนพิการปลอดภัยจากโควิด-19 ขณะเดียวกันสังคมควรเปลี่ยนมุมมองต่อผู้พิการ ให้เป็นเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ เพราะถึงตอนนี้แล้วเราควรมาช่วยกันฝ่าฟันวิกฤตินี้ไปพร้อมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ