“ยิ่งทุกข์ยิ่งกิน” ส่งผลให้อ้วน สุขบัญญัติแย่
สุขบัญญัติเด็กไทยน่าห่วง อยู่แค่เกณฑ์พอใช้ถึง 77% พบทั่วประเทศยังนิยมกินน้ำอัดลม ขนมหวาน อาหารจานด่วน แถมเวลาทุกข์ใจชอบระบายออกด้วยการกิน ส่งผลโรคอ้วน เร่งจับมือ ร.ร.สังกัดสพฐ. สร้างพฤติกรรมสุขภาพ
น.อ.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า วันที่ 28 พ.ค.ของทุกปี กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดให้เป็นวันสุขบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพตามสุขบัญญัติแห่งชาติของนักเรียนอายุ 9-12 ปีทั่วประเทศในปี 2557 ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย อารมณ์สังคม และครอบครัว พบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับพอใช้คือ ร้อยละ 77 ระดับปรับปรุงร้อยละ 18 ระดับดีเพียงร้อยละ 6 ข้อสังเกตคือ ด้านโภชนาการทุกภาคอยู่ในระดับพอใช้ และมีพฤติกรรมเสี่ยงคือดื่มน้ำอัดลม ขนมหวาน กินอาหารจานด่วน และด้านอารมณ์พบว่า เมื่อมีความทุกข์จะระบายอารมณ์ด้วยการกิน นำไปสู่ภาวะโภชนาการเกินและโรคอ้วน
น.อ.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวอีกว่า จากข้อมูลการสำรวจครั้งนี้สะท้อนว่าต้องเร่งปลูกฝังสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการให้แก่เด็ก โดยปีนี้ สบส.ได้ร่วมมือกับสมาคมสุขศึกษาแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนางานสุขศึกษาในสถานศึกษาให้มีมาตรฐาน และพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาสุขศึกษา โดยจัดอบรมครูผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 185 เขต ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้รับผิดชอบด้านอนามัยและสุขศึกษาทั่วประเทศ เน้นหนักเรื่องสุขบัญญัติ 10 ประการให้ใช้จริงในชีวิตประจำวันของเด็ก และจะประเมินผลที่สุขภาพของเด็กโดยตรง เช่น ฟันไม่ผุ เล็บมือเล็บเท้าสั้นสะอาด น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย เป็นต้น
สำหรับสุขบัญญัติ 10 ประการ เป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานในการดูแลสุขภาพร่างกาย ประกอบด้วย 1.การดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด 2.การรักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกวิธี 3.การล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังขับถ่าย 4.การกินอาหารปรุงสุก สะอาด ปราศจากสารอันตรายและหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด 5.การงดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนันและการสำส่อนทางเพศ 6.การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น 7.การป้องกันอุบัติเหตุด้วยการไม่ประมาท 8.การออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจำปี 9.การทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ และ 10.มีสำนึกต่อส่วนรวมร่วมสร้างสังคมดีด้วยกัน
ทั้งนี้การปฏิบัติสุขบัญญัติจนเป็นนิสัยจะทำให้มีสุขภาพดีตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา
ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต