ยาแผนโบราณไม่ขึ้นทะเบียน เสี่ยง! อันตราย
อย. เตือนภัยผู้บริโภค อย่าซื้อยาแผนโบราณที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา เสี่ยง อันตรายจากการปนเปื้อนยาสเตียรอยด์ พร้อมแนะ ควรซื้อจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาตขายยาเท่านั้น หรือปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนซื้อหรือใช้ยาทุกครั้ง หากพบเห็นหรือสงสัยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณผิดกฎหมาย ขอให้ร้องเรียน สายด่วน อย. 1556
ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณ พบว่า ในปัจจุบันยังมีการลักลอบใส่ยาสเตียรอยด์ ลงในยาแผนโบราณ เพื่อต้องการให้ผู้ที่ใช้ยาดังกล่าวรู้สึกว่าอาการป่วยดีขึ้นและหายเร็วทันใจ อีกทั้งยังมีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงว่า สามารถรักษาได้สารพัดโรค เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง เอดส์ เบาหวาน เนื้องอกทุกชนิด ต่อมลูกหมากโต ฯลฯ ซึ่งมีประชาชนบางส่วนหลงเชื่อคำโฆษณาซื้อยาแผนโบราณดังกล่าวมาใช้จนได้รับอันตรายจากยาสเตียรอยด์
อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้ยาสเตียรอยด์เป็นยาควบคุมพิเศษ เนื่องจากเป็นยาที่มีความเป็นพิษสูง และมีผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนั้น การใช้ยาสเตียรอยด์จึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ หรือให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น หากผู้บริโภครับประทานยาแผนโบราณที่มีการปนเปื้อนยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน ๆ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อระบบร่างกายได้ เช่น กระเพาะอาหารทะลุหรือเลือดออกในกระเพาะอาหาร กระดูกพรุน กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดการสะสมไขมันผิดที่ ใบหน้ากลมบวมแบบพระจันทร์ (moon face) ไตวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้น ทำให้กลไกการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายเสียไปและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
รองเลขาธิการ ฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเตือนประชาชนอย่าได้หลงเชื่อโฆษณายาแผนโบราณใด ๆ ที่อวดอ้างสรรพคุณรักษาได้สารพัดโรค เพราะนอกจากจะเสียโอกาสในการรักษาโรคอย่างถูกต้องแล้ว ยังต้องเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ มิหนำซ้ำอาจได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากต้องการซื้อยาแผนโบราณ
มาใช้ ขอให้ซื้อจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาตขายยาเท่านั้น หรือหากจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนซื้อหรือใช้ยาทุกครั้ง และขอให้ผู้บริโภคพิจารณาและอ่านฉลากให้ถ้วนถี่เสียก่อน โดยฉลากต้องระบุ ชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา เช่น ทะเบียนยาเลขที่ g 888/50 ปริมาณของยาที่บรรจุ เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตยา และแสดงคำว่า “ยาแผนโบราณ” ให้เห็นได้ชัด หรือแสดงคำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” กรณีเป็นยาสามัญประจำบ้าน เป็นต้น
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจาก อย. หรือมีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค ขอให้ร้องเรียนมายังสายด่วน อย. โทร.1556 หรืออีเมล : [email protected] หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด และเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค
ที่มา : กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค อย.