‘ยาแก้ปวด’ ใช้ไม่ถูกวิธีจะ ‘มีภัย !’
การเสียชีวิตของศิลปินนักร้องชื่อก้องโลกสัญชาติสหรัฐอเมริกา “ไมเคิล แจ๊คสัน” นั้น สำหรับในประเทศไทยเราสื่อทุกแขนงต่างก็นำเสนอเป็นข่าวใหญ่อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกรณีสัตว์น่ารักประจำถิ่นของจีนอย่าง แพนด้า มาลืมตาดูโลกในประเทศไทย ซึ่ง 2 ข่าวนี้ต่างก็ให้ “แง่คิด” ที่เกี่ยวกับคนไทยโดยตรงได้
อย่างเช่น…เห่อแพนด้าก็อย่าลืมสนใจ “ช้างไทย”
ติดตามข่าวไมเคิลตาย…น่าจะคิดถึงภัย “ยาแก้ปวด”
กับกรณี ไมเคิล แจ๊คสัน นั้น ไม่ว่าที่สุดแล้วผลชันสูตรจะบ่งชี้ว่าเขาต้องจากโลกนี้ไปด้วยสาเหตุอะไรแน่ แต่จากรายงานข่าว…ช่วงชีวิตบั้นปลายของเขาดูจะเกี่ยวข้องกับ “ยา” จำนวนมาก ซึ่งก็มี “ยาแก้ปวด” รวมอยู่ด้วย ที่สำคัญ…มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับผลจากยาแก้ปวดด้วย แม้ว่าจริงๆ แล้วอาจจะไม่เกี่ยว ?!?
ทั้งนี้ แม้คนไทยทั่วไปจะคุ้นเคยกับยาแก้ปวดดี แต่กระนั้นยาก็คือยา…ไม่ใช่อะไรที่ใช้ – ที่กินยังไงก็ได้!! ซึ่งจากข้อมูลเกี่ยวกับยาแก้ปวด จากบทความของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเภสัชกรสุรชัย อัญเชิญ ก็มีแง่มุมที่คนไทยควรจะได้ตระหนัก
เภสัชกรสุรชัยระบุไว้ว่า… ยาแก้ปวดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ… “ยาแก้ปวดชนิดเสพติด” และ “ยาแก้ปวด ชนิดไม่เสพติด” ซึ่งแต่ละชนิดก็มีผลดี – ผลเสียที่แตกต่างกัน
สำหรับยาแก้ปวดชนิดเสพติด เป็นยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ระงับปวดสูง แต่ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ ยาประเภทนี้ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ในการซื้อ จึงมักใช้กับคนไข้ในโรงพยาบาลหรือคลินิกเป็นส่วนใหญ่ โดยตัวยาเป็นสารจากฝิ่น และสารที่มีฤทธิ์คล้ายฝิ่น ได้แก่ มอร์ฟีน เมเปอริดีน เมธาโดน โคเดอีน เลโวโปรพรอก ไซฟีน เพนตาโซซีน ยากลุ่มนี้ใช้เป็นยาเดี่ยวเพื่อระงับปวดที่รุนแรงปานกลางจนถึงรุนแรงมาก ที่เกิดขึ้นที่กล้ามเนื้อเรียบ อวัยวะภายใน และกระดูก หรือใช้เป็นยาเสริมกับยาแก้ปวดชนิดไม่เสพติดเพื่อระงับอาการปวดที่รุนแรงปานกลาง
ยาประเภทนี้ทำให้ผู้ใช้เกิดการ “ชินยา-ติดยา” ได้
ส่วนยาแก้ปวดชนิดไม่เสพติดเป็นยาที่มีฤทธิ์ระงับปวดต่ำแต่มีฤทธิ์ลดไข้ด้วย ได้แก่… ยาแก้ปวด – ลดไข้ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (NSAID) ด้วย เช่น แอสไพริน ไอบูโปรเฟน ไดฟลูนิซาล เมเฟนามิคเอซิด นาพรอกเซน ซูลินแดค พิรอกซิแคม เป็นต้น, ยาแก้ปวด – ลดไข้ที่ไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ คือ พาราเซตามอล ยาประเภทนี้ใช้ระงับอาการปวดที่รุนแรงน้อยจนถึงปานกลางของกล้ามเนื้อลาย เอ็น ข้อต่อ ปวดศีรษะ ปวดฟัน
ยาประเภทนี้ไม่ทำให้เกิดการติดยา แต่ “ก็ต้องระวัง”
ย้อนกลับไปที่ยาแก้ปวดชนิดเสพติด ซึ่งใช้บรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน และปวดรุนแรง เช่น ปวดเกร็งกล้ามเนื้อเรียบ ปวดกระดูก ยาประเภทนี้มีทั้งชนิดยากินเมื่อต้องใช้ต่อเนื่อง และ “ยาฉีด” อย่างที่เราได้ทราบจากข่าวของ ไมเคิล แจ๊คสัน โดยยาแก้ปวดแบบฉีดนี้จะใช้เมื่อต้องการเห็นผลรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ยาแก้ปวดชนิดเสพติดโดยทั่วไปจะมี “ผลเสีย” อาทิ… กดการหายใจมีผลทำให้ผู้ป่วยหายใจอ่อนช้า และมีผลเสียอย่างมากกับผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจอุดกั้น เช่น หอบหืด, กดระบบภูมิคุ้มกัน (ผู้เสพติดฝิ่นจึงมีโอกาสเป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่น โรคติดเชื้อ โรคเอดส์), ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะในระยะแรกของการใช้ยา แต่ต่อไปอาจชินยา ทั้งนี้ โดยทั่วไปจะไม่ใช้ยาแก้ปวดชนิดนี้กับอาการปวดเรื้อรังซึ่งต้องใช้ยาต่อเนื่องระยะยาว เนื่องจากปัญหาติดยา เว้นแต่กรณีจำเป็นต้องใช้ เช่น อาการปวดของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ไม่นาน การติดยาจึงเป็นประเด็นปลีกย่อย
ยาแก้ปวดชนิดไม่เสพติด ที่ใช้กับอาการปวดที่มีไข้ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะจากไข้หวัดหรือติดเชื้อ ปวดจากกล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ แก้ปวด-ลดไข้ กับ แก้ปวด-ลดไข้-ต้านการอักเสบ ถ้าเป็นแบบต้านอักเสบด้วยซึ่งยาที่เป็นแม่แบบคือ แอสไพริน ผลเสียก็มีอาทิ… ระคายเคืองทางเดินอาหารและลดความต้านทานของผนังกระเพาะและลำไส้ ทำให้ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เลือดออก และเป็นแผลในทางเดินอาหาร หากมีการใช้ขนาดสูงเป็นเวลานาน จึงห้ามใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคแผลในทางเดินอาหารอยู่แล้ว, ผลพิษของแอสไพรินทำให้เกิดอาการหูมีเสียงกริ่ง ไม่ได้ยินเสียง วิงเวียน, การใช้ยาเกินขนาด ทำให้อาเจียนอย่างหนัก หายใจถี่แรง ต้อง แก้ไขโดยการล้างท้อง, อาจมีผลพิษต่อไตและตับในระยะยาว
และกับยาแก้ปวดชนิดไม่เสพติด แบบแก้ปวด-ลดไข้ ซึ่งพาราเซตามอล คือยาในกลุ่มนี้ที่รู้จักกันดี คือยาที่คนไทยใช้กันทั่วไป ก็มี “ผลเสีย” ได้ กล่าวคือ… การใช้ยาขนาดสูง หรือติดต่อกันระยะยาว อาจทำให้เกิดผลพิษต่อตับอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยทำให้เซลล์ตับตาย ตับเสื่อมสภาพ ทั้งนี้ โดยปกติยาส่วนหนึ่งจะถูกตับเปลี่ยนเป็นสารพิษ ซึ่งตับเองจะใช้สารป้องกันตัวเองที่มีอยู่กำจัดสารพิษดังกล่าวได้ แต่หากใช้ยาอย่างต่อเนื่องไปนานๆ สารป้องกันนั้นจะถูกใช้จนหมด จึงไม่สามารถกำจัดสารพิษได้ จนมีผลเสียต่อตับ
ดังนั้น เภสัชกรสุรชัย จึงเตือนไว้ว่า… การใช้ยาแก้ปวดกลุ่มนี้ต้องระวังเรื่องผลพิษที่รุนแรงต่อตับจากการใช้ต่อเนื่อง ไม่ควรกินยานี้ในขนาดสูง กว่าครั้งละ 1,000 มก. (2 เม็ด) หรือเกินวันละ 6,000 มก. (12 เม็ด), ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานกว่า 7 วัน, ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคต่างๆ เกี่ยวกับตับ
ก็เป็น “แง่คิด” ได้อีกเรื่องหนึ่ง…จากข่าว “ไมเคิล แจ๊คสัน”
“ยาแก้ปวด” ที่ช่วยให้หายปวด “ใช้ไม่ถูกวิธีจะมีภัย !!”
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Update: 02-07-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฐภัทร ตุ้มภู่