ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ใช้อย่างไรให้ถูกต้อง

ที่มา : เอ็มทูเอฟ


ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ใช้อย่างไรให้ถูกต้อง thaihealth


แฟ้มภาพ


 


ในปัจจุบัน การใช้ยาแก้ปวด และยาคลายกล้ามเนื้อ มักกินกันบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเจ็บป่วย ปวดหัว ปวดฟัน ปวดแผล แต่การเลือกใช้ยาแก้ปวด และยาคลายกล้ามเนื้อ ใช้อย่างไรให้ถูกต้อง


ผศ.พญ.อัจฉรา กุลวิสุทธิ์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย มาให้ความรู้ในการเลือกใช้ยาแก้ปวด และยาคลายกล้ามเนื้อ ใช้อย่างไรให้ถูกต้อง


ผศ.พญ.อัจฉราบอกว่า ในเวลาที่เราใช้ยาแก้ปวดสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก คือ "ถูกโรค" จะต้องรู้ว่าโรคของเราคือโรคอะไรก่อน ซึ่งโดยทั่วไปอาการปวดที่พบบ่อยๆ มักจะมีอาการปวดจากกล้ามเนื้อเส้นเอ็น ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ก็ได้เพราะว่าอาการค่อนข้างเด่นชัด เช่น ปวดไหล่ มีจุดกดเจ็บเฉพาะที่ สามารถซื้อยาได้จากร้านขายยาเองได้เลย


หากว่ามีอาการของกล้ามเนื้อตึงตัวผิดปกติ ยาที่ใช้ควรจะเป็นยาคลายกล้ามเนื้อ แต่ถ้าปวดเฉยๆ โดยไม่มีกล้ามเนื้อตึงตัวผิดปกติก็ควรจะกินยาแก้ปวด ซึ่งจะเป็นคนละกลุ่มกัน เพราะฉะนั้น จะต้องเลือกใช้ให้ถูกต้อง หรือถ้าเกิด เป็นอาการปวดที่มีการอักเสบ เช่น ข้ออักเสบร่วมด้วย ยาที่ใช้ก็จะแรงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ถ้ามีอาการปวดธรรมดาอาจจะใช้อาเซตฟิโนเฟ่น หรือพาราเซตามอล


ส่วนถ้ามีอาการอักเสบร่วมด้วย เช่น ข้ออักเสบ หรือเอ็นอักเสบ ก็จะเป็นกลุ่มยาที่เรียกว่า ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยข้อแนะนำในการกินยาทั้งสองชนิดนี้ จะต้องใช้ให้ "ถูกขนาดและถูกเวลา" เนื่องจากมีขนาดวิธีให้ยา และข้อควรระวังที่แตกต่างกัน


สำหรับยาพาราเซตามอลนั้น ขนาดที่ใช้ในปัจจุบันมักจะใช้ผิดกันอยู่เสมอ แนะนำว่า ควรกินแค่ 1 เม็ด หรือ 500 มก.ต่อครั้งเท่านั้น ไม่ควรกิน 2 เม็ดทุกๆ 6 ชม. อย่างที่สมัยก่อนใช้กันมา ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงต่อตับได้ โดยข้อดีของยาพาราเซตามอลจะปลอดภัยมาก หาซื้อได้ง่ายเหมาะสำหรับการปวดที่ไม่รุนแรง


ส่วนยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ จะมีความแรงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง และมีหลายชนิด ขนาดที่ใช้ขึ้นกับแต่ละชนิด และมีผลข้างเคียงมากกว่ายาพาราเซตามอล โดยทำให้เกิดการระคายเคืองกับกระเพาะอาหาร ทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหารได้ อาจทำให้ไตวาย และมีผลทำให้หลอดเลือดอุดตันเพิ่มขึ้นได้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง ดังนั้น ยาในกลุ่มนี้ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคร่วม หรือสูงอายุ เพื่อที่แพทย์จะมีแนวทางการป้องกันความผิดปกติจากผลข้างเคียงของยา หรือเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มอื่นๆ ซึ่งอาจจะปลอดภัยมากกว่า


ทั้งนี้ เมื่ออาการและอาการแสดงของโรค หรือภาวะดังกล่าวหาย หรือทุเลาลง ควรหยุดยา เนื่องจากหากให้เป็นระยะเวลานาน อัตราการเกิดผลข้างเคียงจะสูงขึ้น

Shares:
QR Code :
QR Code