“ยาเสพติด” เลิกไม่ยากและเลิกได้
อธิบดีกรมการแพทย์ชี้โทษของยาเสพติดก่อเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายมากมาย ระบุยาบ้าครองแชมป์ติดมากสุด รองลงมาเป็นสุรา และกัญชา พร้อมแนะสารพัดแนวทางห่างไกลยาเสพติดคืนคนดีสู่สังคม
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์เปิดเผยว่า จากข้อมูลการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดของสถาบันธัญญารักษ์ในปีงบประมาณ 2557 พบว่ามีการให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยในมากที่สุด 3ลำดับแรก ได้แก่ แอมเฟตามีน (ยาบ้า) จำนวน 2,014 ราย คิดเป็นร้อยละ 60.64 รองลงมาคือ สุรา จำนวน 676 ราย คิดเป็นร้อยละ 20.36 และกัญชา จำนวน 166 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.00 ซึ่งอันตรายหรือโทษของยาเสพติดกลุ่มยากระตุ้นประสาท ยาบ้า กระท่อม โคเคน จะทำให้หวาดกลัวอย่างรุนแรง หูแว่ว ประสาทหลอน หัวใจเต้นเร็วและผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง ทำให้เส้นเลือดสมองแตก ชัก หากมีอาการพิษเฉียบพลันรุนแรงอาจถึงตายได้
แอลกอฮอล์ สุรา ดื่มแล้วเกิดอาการเมา ควบคุมตัวเองไม่ได้ กดประสาท กดการหายใจ เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งในการเกิดอุบัติเหตุ เมื่อเสพติดแล้วเกิดภาวะพิษสุราเรื้อรัง และหากดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการใช้ยาอื่น อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และกลุ่มสารออกฤทธิ์หลายอย่างประเภท กัญชา ยาอี จะกระตุ้นประสาทรุนแรง ทำให้ร่าเริง หลอนประสาท ทำลายเซลล์สมอง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ความดันเลือดสูง เมื่อไม่ได้เสพจะซึมเศร้ารุนแรงและอาจฆ่าตัวตายได้
ซึ่งการเสพยาเสพติดเป็นประจำจะทำให้ดื้อยา ต้องการเสพมากขึ้น มีอาการขาดยาเมื่อเสพเท่าเดิมหรือลดหรือหยุดยา มีความต้องการอย่างสูงที่ต้องหามาเสพให้ได้ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอยากรู้ อยากลอง คึกคะนอง เพื่อนชวน หรือต้องการให้เป็นที่ยอมรับจากกลุ่มเพื่อน มีความเชื่อในทางที่ผิดเช่น เชื่อว่ายาเสพติดบางชนิดอาจช่วยให้สบายใจ ลืมความทุกข์ ช่วยให้ทำงานได้มาก และถูกหลอกให้ใช้ยาเสพติดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการแพทย์เป็นหน่วยงานหลักในการบำบัดรักษาผู้เสพและผู้ติดยาและสารเสพติดโดยมีการดำเนินการที่สำคัญคือ การค้นหา คัดกรองผู้เสพเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดที่มีมาตรฐาน แบ่งออกเป็น 3 ระบบ คือระบบสมัครใจ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ติดยาเสพติดที่ต้องการจะเลิกเสพยาเสพติดโดยสมัครใจ สามารถขอรับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลของภาครัฐ โรงพยาบาลเอกชน และศูนย์ฟื้นฟูฯ ของรัฐร่วมกับเอกชน ระบบบังคับบำบัด ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 ผู้ติดยาเสพติดที่ถูกจับในฐานะผู้เสพจะต้องเข้ารับบำบัดรักษาในระบบนี้ และหากผู้เข้ารับการบำบัดมีผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ ก็จะถูกปล่อยตัวโดยไม่ถูกดำเนินคดี และระบบต้องโทษ เป็นการให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดที่ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติดและถูกคุมขัง ซึ่งต้องได้รับการรักษาพยาบาลภายใต้ขอบเขตข้อบังคับของกฎหมายภายในเรือนจำหรือทัณฑสถานได้จัดให้มีการบำบัดฟื้นฟู ในกรณีที่เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จะต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูในสถานพินิจฯ เช่นกัน
สำหรับแนวทางห่างไกลยาเสพติด คือเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก หากมีความเครียดควรทบทวนหาสาเหตุ คุยกับเพื่อน หรือบุคคลที่เราไว้วางใจ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขร่วมกัน ปรับปรุงสถานที่ให้เหมาะสม ทั้งบ้าน ที่ทำงานให้บรรยากาศดีขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในบ้าน ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ พักผ่อนหย่อนใจ โดยหางานอดิเรกทำ เช่น ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง อ่านหนังสือ ดูทีวี ท่องเที่ยว งดสูบบุหรี่และสุรา ไม่เล่นการพนัน และไม่สำส่อนทางเพศ ที่สำคัญคือยอมรับสภาพความเป็นจริงของชีวิต และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเท่าที่ทำได้เพื่อให้ชีวิตดีขึ้น ไม่ท้อถอย สร้างความเชื่อในตนเอง มองตนเองมีคุณค่ามีความสามารถ มีศักดิ์ศรี มีความภาคภูมิใจในตนเอง มองโลกในแง่ดี คิดทางบวกเป็นความคิดที่นำความสุขมาสู่ตน
ที่มา: กรมการแพทย์