ยาสามัญ…อาจอันตราย

ยาสามัญ…อาจอันตราย

 

 

ปวดหัว เจ็บคอ เป็นไข้เล็กน้อย อาการเหล่านี้ บางคนอาจปล่อยให้มันหายไปเอง แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันมี ไข้หวัด 2009 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก ผู้ที่รู้สึกว่าตนเองกำลังมีไข้ ต่างวิตกกังวลว่าอาการที่กำลังเป็นอยู่ คือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือไม่? แต่ไม่ทันที่จะได้รับการวินิจฉัยจากหมอ บางคนกลับเดินมุ่งหน้าไปที่ตู้ยาหรือไปร้านขายยาใกล้บ้าน ซื้อยามากินเอง… ทั้งพาราเซตามอล ทั้งยาแก้แพ้และอื่นๆ อีกมากมาย เหมือนกับว่า ตนเองเป็นหมอที่รู้วิธีรักษาและบรรเทาอาการอย่างนั้น!!  การกระทำแบบนี้มองด้านหนึ่งแสดงถึงการเป็นคนที่ดูแลสุขภาพของตนเองดีมาก แต่ในมุมกลับกันสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่นั้น อาจก่อผลร้ายอย่างยิ่งต่อชีวิตคุณในระยะยาว...

 

โดยปกติพฤติกรรมคนไทยนั้น มักชอบซื้อยามารับประทานเอง จากข้อมูลของวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บ่งบอกว่า ร้อยละ 26.7 ผู้ป่วยมักซื้อยากินเอง รองลงมาได้แก่ ไปคลินิกเอกชน ร้อยละ 21.7 ไปสถานีอนามัย/ ศูนย์บริการสาธารณสุข/ ศูนย์สุขภาพชุมชนร้อยละ 16.2 และไปโรงพยาบาลชุมชน ร้อยละ 16.0

 

ยาสามัญ…อาจอันตราย

 

การซื้อยามารับประทานเองนั้น อาจไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติหรืออันตรายมากมายอะไรนัก เพราะยาส่วนใหญ่ที่เภสัชกรจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปนั้น ก็เป็นยาจำพวกที่ไม่ร้ายแรงมากนัก เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ หรือยาปฏิชีวนะอื่นๆ แต่ที่น่าเป็นห่วงนั่นคือ!!!  พฤติกรรมการกินยาแบบฟุ่มเฟือยของคนไทย ที่มองว่ายาเป็นของดี มีประโยชน์ ซึ่งจริงๆ มันก็มีประโยชน์ในกรณีที่ป่วยเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่มองข้อเสีย ไม่มองโทษ ว่ามันมีผลข้างเคียงอย่างไรหากกินเข้าไปมากเกินความจำเป็น

 

ยาปฏิชีวนะที่คนไทยใช้ฟุ่มเฟือย ซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีการบันทึกข้อมูลสถิติตัวเลขการใช้ยาแบบชัดเจน แต่เท่าที่มีข้อมูลแบบคร่าวๆ พบข้อมูลในเชิงปริมาณว่า ในประเทศไทย คนไทยนิยมซื้อยามาก ไม่ว่าจะเป็นพาราเซตามอลที่ออกฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ รวมไปถึงยาปฏิชีวนะอื่น แค่รู้สึกเจ็บคอนิดหน่อย หรือปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัวนิดหน่อยก็กินกันแล้ว แทนที่จะดูที่ต้นเหตุว่า แท้จริงแล้วอาการเจ็บคอ ปวดหัวนั้นมาจากเชื้อไวรัสหวัดจริงๆ หรือเกิดจากการพักผ่อนน้อย ซึ่งหากเกิดจากประการหลังไม่จำเป็นต้องกินยา แค่พักผ่อนมากๆ อาการก็จะหายได้เอง นอกจากนี้ เมื่อกินพาราฯ เข้าไป มันจะเข้าไปกดอาการปวด ทำให้เราละเลยสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งหากสาเหตุที่แท้จริงนั้นอันตราย ก็จะทำให้เสียโอกาสการรักษาที่ทันท่วงทีไปได้   

 

ซึ่งโรคที่อาจเสี่ยงหากมีการกินยาในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นนั้นคือ โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ จากการวิจัยของ ดร.จอห์น โฟร์แมน หัวหน้าคณะนักวิจัยชาวสหรัฐฯ ได้ศึกษาเรื่องนี้กับเพศชาย โดยพิจารณาจากกลุ่มทดลองที่กินยาแก้ปวดเกือบทุกวันใน 1 สัปดาห์ พบว่า ประมาณ 1 ใน 3 มีโอกาสเกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปถึงโรคหัวใจ มากกว่าผู้ที่ไม่รับประทานยาแก้ปวด และในเพศหญิง ผลการวิจัยก็ออกมาทำนองเดียวกัน นั่นคือ ผู้หญิงที่กินยาแก้ปวดเป็นประจำ จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้กินยาแก้ปวดอย่างต่อเนื่องหรือพร่ำเพรื่อ สรุปได้ว่า…ยาแก้ปวดที่ใช้กันโดยทั่วไป เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน และพาราเซตามอล ถ้ากินเป็นประจำ จะมีสิทธิ์เสี่ยงเป็นโรคดังกล่าวสูงมาก  

 

ยาสามัญ…อาจอันตราย

 

นอกจากนี้ การกินยามากเกินความจำเป็น มีโอกาสสูงที่ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน เพราะตัวยาบางประเภทมีผลต่อการทำงานของไต หากกินเข้าไปในปริมาณที่สูง ไตอาจหยุดทำงานฉับพลันได้ ซึ่งโดยปกติแล้วไตจะมีหน้าหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการขับถ่ายของเสียออกทางปัสสาวะ ขับถ่ายยาหรือสารแปลกปลอม ดูดซึมสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น น้ำตาล เป็นต้น และรักษาปริมาณน้ำและเกลือในร่างกายให้สมดุล รวมถึงกรดและด่างด้วย ช่วยควบคุมความดันโลหิต สร้างสารกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง

 

แต่เมื่อใดที่ไตเกิดบกพร่องในหน้าที่ ก็จะส่งผลให้มีของเสียคั่งในเลือด เซลล์จะทำงานไม่ได้ตามปกติ มีการคั่งของน้ำ เกลือแร่ และกรดในร่างกาย ถ้าไตหยุดทำงานอย่างรวดเร็ว เซลล์ของร่างกายหยุดทำงาน ก็จะเกิดการเจ็บป่วยจนอาจถึงขั้นเสียแก่ชีวิตได้…

 

รวมถึง การใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานนั้น อาจมีผลทำให้เกิดสารพิษต่อตับอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยทำให้เซลล์ตับตาย ตับเสื่อมสภาพ ทั้งนี้ โดยปกติยาส่วนหนึ่งจะถูกตับเปลี่ยนเป็นสารพิษ ซึ่งตับเองจะใช้สารป้องกันตัวเองที่มีอยู่กำจัดสารพิษดังกล่าวได้ แต่หากใช้ยาอย่างต่อเนื่องไปนานๆ สารป้องกันนั้นจะถูกใช้จนหมด จึงไม่สามารถกำจัดสารพิษได้ จนมีผลเสียต่อตับในระยะยาวได้

 

ทางออกที่ดี!!! ควรไปพบแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อขอคำแนะนำดีกว่า สวมบทคุณหมอจำเป็นวินิจฉัยโรคและซื้อยามารับประทานเอง แต่หาก!! เป็นอะไรไม่มากนัก จำเป็นต้องไปซื้อยามารับประทานเองควรดูฉลากให้ถี่ถ้วน บางรายอ่านแบบผิวเผินหรือตามความเคยชิน เช่น พาราฯ ผู้ใหญ่บริโภค 2 เม็ด เท่ากับ 1,000 มิลลิกรัม แต่นั้นถือว่าผิด เพราะบางคนน้ำหนักน้อยก็ถือว่า 1,000 มิลลิกรัมนี้มากไป ดังนั้นต้องอ่านฉลากให้ละเอียดครบถ้วน ว่ามันออกฤทธิ์อย่างไร สรรพคุณอะไร แก้อะไร ดูให้ชัดเจน ต้องกินขนาดไหนจึงจะพอดี รวมถึงข้อห้าม ข้อควรระวัง ข้อเสีย ซึ่งต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด…

 

ยาถือเป็นตัวแทนของ คุณหมอ ที่จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของคนเราได้ก็จริง แต่หากใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องมันอาจเป็น ตัวการร้าย ในการทำลายสุขภาพและชีวิตคุณได้…

 

 

 

 

 

เรื่องโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th

 

 

Update:24-07-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

 

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code