“ยะลาสไตล์” ทางเลือก ทางรอด การศึกษาไทย
ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน “ยะลา” 1 ใน 3 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้ม น่าเสียดายด้วยภูมิประเทศที่โอบล้อมไปด้วยเนินเขาและหุบเขา ธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์มาก สภาพอากาศขณะนี้อยู่ในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นเหมือนภาคเหนือ โดยเฉพาะในตัวเมืองอำเภอเบตง ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย จึงไม่แปลกใจเลยที่เห็นคนมาเลเซียเข้ามาท่องเที่ยวกันอย่างคับคั่งสนุกสนาน มองไปยังถนนหนทางก็เห็นป้ายทะเบียนรถมาเลเซีย แม้แต่โรงแรมที่พักก็แทบจะไม่มีคนไทยเลย บ่งบอกถึงความชื่นชอบในการมาท่องเที่ยวยังบ้านของเรา น่าขอบใจเพื่อนบ้านที่ดีจริงๆ แต่ยิ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนใจให้คิดว่า แล้วคนไทยเราเองไปไหนทำไมจึงไม่ลงมาท่องเที่ยว มาให้กำลังใจพี่น้องเรากันเอง ขอย้ำเลยว่า“ยะลา” นั้นงามจริงๆ ถ้าได้ลงมาเพียงสัก 1 ครั้ง แล้วจะต้องกลับมาอีกอย่างแน่นอน
การลงมายะลาในครั้งนี้ ด้วยการเชิญของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ที่ต้องการให้ลงมาพิสูจน์การรวมพลังของคนยะลาต่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพในรูปแบบ “ยะลาสไตล์” โดยการขับเคลื่อนของพ่อเมืองนายเดชรัฐ สิมศิริ ผวจ.ยะลา สวมหมวกนำทัพประกาศก้อง “เด็กยะลาทุกคนต้องได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ” ว่าเดิมเราเคยจัดการศึกษาได้ติดลำดับ 1 ใน 3 ของประเทศ แต่เมื่อมีเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ผลที่ทำให้เราติด 1 ใน 3 เหมือนกันแต่สลับจากต้นมาอยู่ท้ายๆ เพราะการใช้ระบบของการทดสอบมาวัดคุณภาพ เพราะการจัดการศึกษาของ จ.ยะลา หากวัดกันที่เรื่องคุณภาพก็ต้องยอมรับว่า จ.ยะลาก็คงเหมือนปัตตานี และนราธิวาสคือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ เด็กยังคงอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดแก้ปัญหาไม่เป็น แต่ยะลายังมีปัญหาสำคัญมากที่ต้องเร่งแก้ไขคือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา หรือเด็กด้อยโอกาสยังมีจำนวนมากถึง 12,000 คน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ จำนวน 6,000 คน หลุดออกจากระบบเพราะพ่อ แม่ยากจน ดังนั้น จะต้องแก้ไขปัญหาด้วยกัน 2 ส่วน ดังนี้
1.แก้ความยากจนของพ่อ แม่ ด้วยการให้อาชีพ ให้งานทำ โดยท้องถิ่นเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล พัฒนาสังคม รวมทั้งการพัฒนาชุมชน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
2.เร่งปลูกจิตสำนึกให้ความรู้ เพราะแต่ละครอบครัวมีลูกเยอะมาก ก็ยิ่งเพิ่มความยากจน เมื่อตนเองไม่ได้เรียนก็ไม่ให้ลูกเรียนด้วย จึงต้องปลูกจิตสำนึกว่าถ้าจนแล้วไม่ให้ลูกเรียนจะยิ่งโคตรจน ดังนั้น จะหายจนต้องให้ลูกเรียนหนังสือ
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาของ จ.ยะลาหรือใน 3 จังหวัดชายแดนเกิดขึ้นไม่ใช่ว่าไม่มีบุคลากรทางการศึกษา ไม่มีงบประมาณ แต่เกิดจากไม่รวมพลังกันต่างคนต่างทำ ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นแบบขาดๆ เกินๆ บางอย่างก็แก้ไขจนมากเกินไป หลายเรื่องไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ดังนั้น เมื่อกำหนดเป็นวาระจังหวัด จึงได้ทำการตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาพบว่ามีถึง 35 หน่วยงาน แต่ต่างคนต่างทำ ดังนั้นตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ตนได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาการศึกษาและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชน โดยมี 35 หน่วยงานมาร่วมเป็นคณะทำงานทั้งหมดเพื่อขับเคลื่อนการศึกษา
“ปี 2557 เป็นปีรวมพลังชาวยะลา พัฒนาสู่อาเซียน เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และภายในปี 2558 อย่างน้อยร้อยละ 90% เด็กด้อยโอกาส เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา กว่า 11,000 คน จะต้องกลับเข้ามาสู่ระบบของการศึกษา และได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยกำหนดให้การพัฒนาและสร้างโอกาสทางการศึกษาอยู่ในวาระแรกเป็นวาระแห่งชาติ จาก 16 วาระของจังหวัดยะลา เพราะเรื่องการแก้ปัญหาพัฒนาการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญจึงต้องการการรวมพลัง การช่วยกันคนละไม้ละมือจากทุกหน่วยงาน ผนึกกำลังช่วยเหลือกัน ทุกคนต้องเสียสละ รวมพลัง ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดก็ตาม ซึ่งการรวมพลังถือเป็นจุดเด่นของยะลา” ผวจ.ยะลา ประกาศอย่างแข็งขัน
ขานรับไม้ต่อส่งตรงลงมาที่ท้องถิ่น นายมุขตาร์ มะทานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา เน้นจุดสำคัญของความร่วมมือว่า บทบาทหน้าที่ของท้องถิ่นต่อการจัดการศึกษา ซึ่งมีทั้งหมด 63 แห่ง ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล รวมทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเริ่มมีบทบาทต่อการจัดการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มมีแผนพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน มีแผนพัฒนาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน ที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการประสานเพื่อที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหลายๆ หน่วยงาน และมีแนวโน้มความสำเร็จที่เป็นผลดี ซึ่งเกิดจาก 5 ปัจจัย
1.ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยกำหนดให้การพัฒนาและเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนเป็นวาระจังหวัด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญก่อให้เกิดการร่วมมือจากทุกฝ่ายในพื้นที่
2.มีการจัดความร่วมมือที่ดีทำให้เกิดการรวมพลังของหลายฝ่าย ทั้งองค์กรภาครัฐ องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคมต่างๆ โดยการทำงานผ่านกลไกหลักคือคณะทำงานยกระดับพัฒนาการเรียนรู้ของจังหวัด
3. องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งได้รับมอบหมายจากจังหวัดให้เป็นศูนย์ประสานงานการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและมีเป้าเหมายอันเดียวกันคือการพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพ
4.การจัดทำระบบฐานข้อมูลสำหรับป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน มีระบบประกบดูแลเด็กด้อยโอกาสทำให้ทุกฝ่ายในพื้นที่และสังคมให้การยอมรับและมองเห็นความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
และ5.การให้ความสำคัญกับการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น สามารถแก้ปัญหาสนองความต้องการของชุมชนให้ได้มากที่สุด
ด้านผศ.ไกรสร ศรีไตรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในฐานะประธานคณะกรรมการยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้จังหวัดยะลา กล่าวว่า การจัดการศึกษาของยะลาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประเด็นที่พยายามเร่งแก้ไขคือเด็กที่หลุดออกไปจากระบบการศึกษา ซึ่งหลุดไปทุกช่วงชั้น นอกจากนี้ยังมีเด็กด้อยโอกาส เด็กกลุ่มเสี่ยงจากปัญหายาเสพติด ปัญหาสังคม รวมถึงกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบก็ทำให้เกิดเด็กหลุดออกไปจากระบบการศึกษา และการจัดการศึกษาที่ผ่านมาต่างคนต่างทำ ต่างก็มีข้อมูลอยู่ในมือ แต่ไม่ได้นำมารวมกัน ดังนั้น เมื่อเกิดเครือข่ายบูรณาการการทำงานร่วมกันมากขึ้น จากความหลากหลายมาสู่ความร่วมมือ จึงทำเป็นข้อมูลพื้นฐานตั้งแต่แรกเกิดถึง 18 ปี รวบรวมไว้ทั้งหมด เด็กกลุ่มไหนอยู่ในความรับผิดชอบของใคร เด็กกลุ่มไหนต้องดูแลเป็นพิเศษ เมื่อมีข้อมูลเหล่านี้แต่ละหน่วยก็มาใช้ข้อมูลร่วมกัน และร่วมกันแก้ไขปัญหาของเด็กแต่ละกลุ่มทำให้เห็นปัญหาสิ่งที่ต้องติดตามแก้ไขที่ชัดเจนมากขึ้น
ผศ.ไกรสร บอกต่อไปว่า การจัดการศึกษารูปแบบที่เรียกว่า “ยะลาสไตล์” จุดเด่นเริ่มจากหลักคิด education for all หรือ all for education เรื่องของการศึกษาเด็กทุกคนต้องได้รับการดูแล โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนตั้งแต่แรกเกิดถึง 18 ปี จากหลักคิดตรงนี้ทุกส่วนก็ร่วมกันสร้างฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนที่ทุกภาคส่วนสามารถนำไปใช้และเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ จุดเด่นที่ 2 ทุกภาคส่วนต้องระดมสรรพกำลัง ในการจัดการศึกษาเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน ส่วนราชการ ท้องถิ่น ชุมชน ผู้ปกครอง ใช้ความร่วมมือตรงนี้เป็นหลักว่าการศึกษาจะต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกคนทุกส่วน จุดเด่นที่ 3 กำหนดเป็นวาระของ จ.ยะลา โดย ผวจ.ยะลา รับไปบรรจุเป็นวาระขอจังหวัด จุดเด่นที่ 4 ความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่าจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทั้งหมดต้องเริ่มจากต้นน้ำ คือเด็กปฐมวัย เปรียบเสมือนรากฐานของตึก ถ้าเราทำฐานตึกให้มั่งคงแข็งแรง ก็จะสร้างตึกในชั้นที่สูงขึ้นไปได้อย่างมั่นคงแข็งแรง และไม่เฉพาะที่ตัวเด็กอย่างเดียว ต้องดูบริบทที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็กด้วย ซึ่งครู คือบุคลากรสำคัญที่ต้องพัฒนาศักยภาพ
“ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จากที่ต่างคนต่างทำ โยนได้โยน รอฟ้า รอฝน รอรัฐบาล รอส่วนกลางว่าจะส่งอะไร หรือจะให้ทำอะไร ปัจจุบันเกิดการจัดการตนเองของท้องถิ่นขึ้นในการจัดการศึกษา เพราะ อบต. เทศบาล ท้องถิ่น ชุมชน ก็เริ่มวางแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อให้ปรากฏในแผนของท้องถิ่นในการจัดการศึกษาของตนเอง ดังนั้น จุดเริ่มยะลาสไตล์ เราทำกันมาเป็นระยะๆ เป็นแบบไฟไหม้ทุ่ง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นเรื่องเก่าๆ แต่จะทำอย่างไรให้คนไทย การเดินเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และไม่หายไปไหน ซึ่งสิ่งที่ยังต้องการกับคนที่เกี่ยวข้องโดยตรง ก็ไม่เฉพาะยะลาแต่เป็นความต้องการของทั้งประเทศ เพราะต้องการให้ทุกคนไปช่วยกันดูแลจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคน เป็นหัวใจสำคัญที่ดีที่สุด เพราะการลงทุนลงแรงลงเวลาไปกับการสร้างคน มันน่าจะมากกว่าการไปลงทุนลงแรงกับการไปสร้างถนนหนทางหรือสร้างอย่างอื่น เพราะเด็กคือผู้ที่จะไปสร้างชาติต่อไปในอนาคต จากไทยเฉยก็เป็นไทยไม่เฉย เราต้องจุดไฟต่อๆ กันไป ไม่เฉย ไม่เกี่ยวงอน ไม่โยนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นในพื้นที่” ผศ.ไกรสร กล่าวย้ำ
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรรพ์ ที่ปรึกษาวิชาการ สสค. ชี้แนะว่า รูปแบบการจัดการศึกษาของยะลาน่าจะเป็นคำตอบที่เห็นทางเลือกทางรอด การศึกษาไทยที่ชัดเจน เพราะขณะนี้ ถ้าได้ติดตามความเคลื่อนไหวทั่วโลก ด้วยระบบราชการกำลังทำให้การศึกษาล่ม เนื่องจากธรรมชาติของระบบราชการ คือ 1.เป็นระบบที่ระเบียบสำคัญกว่าเป้าหมาย 2.เป็นระบบที่เลี้ยงเท่าไรก็ไม่อิ่ม โตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งคนและงบประมาณ 3. เป็นระบบที่ไม่ยืดหยุ่น เพราะเมื่อพูดถึงความต้องการเฉพาะพื้นที่ เช่น จ.ยะลา กระทรวงจะไม่สนใจและตอบสนอง เพราะ วิธีคิดของส่วนกลางที่เป็นระบบรองเท้าเบอร์เดียวที่ทุกคนใส่ไม่ได้ สอดคล้องกับความคิดของครูภูมิปัญหาท่าหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า “เป็นระบบตัดเท้าให้พอดีเกือก ไม่ได้ตัดเกือกให้พอดีเท้า” ดังนั้น ทำให้การบริหารการจัดการศึกษายากมากไม่ว่าจะตั้งใจดีเพียงใด รัฐมนตรีมีฝีมือแค่ไหนก็ตาม ฉะนั้น คำตอบการศึกษาไทย การปฏิรูปที่อยากให้เห็นเป็นผลจริงจังต้องเป็นการจัดการเชิงพื้นที่ และวาระชาติก็ไม่สำคัญเท่าวาระจังหวัด
“ยะลาสไตล์” รูปแบบการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ที่เป็นสไตล์ที่เกิดขึ้นจากเสียงเรียกร้องของพ่อ แม่ พี่น้อง ลูกหลาน คนในชุมชน ซึ่งตรงใจ ตรงประเด็น จุดเด่นสำคัญจึงอยู่ที่พลังของคนในพื้นที่ ความร่วมมือร่วมใจและพร้อมขับเคลื่อนไปด้วยกัน ดังนั้น ยะลาขอกบอกว่ายินดีหากพื้นที่อื่นๆ จะนำไปเป็นรูปแบบและสร้างสไตล์ของตนเองขึ้นมา เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาของไทย
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)