ยกเครื่องชุมชนสานพลังปั้นเด็กไทยทันโลก 4.0
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพโดย สสส.
ภารกิจที่สังคมไทยต้องแบกรับวันนี้ ไม่ใช่แต่เฉพาะปัญหาการเข้าสู่ Aging Society เพราะปัจจุบันสังคมไทยอยู่ในภาวะที่เด็กเกิดลดน้อยลงเช่นกัน
"เด็กและเยาวชน" จึงกำลังเป็นทรัพยากรที่มีค่าและเปราะบางของชุมชน การหันกลับไปมองและให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพอนาคตของชาติเหล่านี้ ตั้งแต่วันแรกในครรภ์มารดา ไปจนถึงวัย 5 ปี ถือเป็นโอกาสทองแห่งการเรียนรู้และเสริมสร้างพัฒนาการที่สำคัญที่สุดของเด็กและเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
"ทุกคน" ในชุมชนจึงต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบเพื่อโอบอุ้มให้พวกเขาเติบโตและหยั่งรากแก้วที่สมบูรณ์ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่กำลังคืบคลานเข้ามา….
แนวคิด "การปั้นเด็กไทยให้มีคุณภาพด้วยมือของชุมชนท้องถิ่น" กำลังกลายเป็นอีกหนึ่ง Mission Possible ที่ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ หรือ สสส. พยายามผลักดัน หนุนเสริมท้องถิ่นเพื่อให้เข้ามาเป็นผู้จัดการระบบการดูแลเด็กปฐมวัย และมีส่วนร่วมใน "การดีไซน์" อนาคตของเด็กในชุมชนด้วยตัวเอง ซึ่งมีโจทย์คิดแบบ Child Center แท้จริง
จากเรื่องที่ใคร ๆ เคยมองว่าเป็นไปไม่ได้ ล่าสุดในการจัดงาน "เวทีสานพลัง สร้างปัญญา พัฒนาเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา" สสส.ยังดึงหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม ทั้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย มูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่ายคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 9 แห่ง ในการจัดการความรู้ระบบการดูแลเด็กปฐมวัยและประถมศึกษาโดยชุมชนท้องถิ่น นี่อาจเป็นจุดเริ่มในการเตรียมดินและปุ๋ยชั้นดี เพื่อให้เด็กปฐมวัยในชุมชนท้องถิ่นมีศักยภาพ ผ่านการเล่น และการเรียนรู้ การส่งเสริมการอ่าน พร้อมด้วยการพัฒนาระบบการดูแลเด็กซึ่งเกิดจากชุมชนท้องถิ่น
สมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า การสานพลังทุกภาคส่วนภายในชุมชนเอง ภายใต้บทบาทของเครือข่าย ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่จะเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เป้าหมายดังกล่าวนี้ประสบความสำเร็จลุล่วง โดยจะขับเคลื่อนและรณรงค์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำหน้าที่เป็นกลไกกลางในการพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัย การเรียนรู้เสริมสร้างสติปัญญาด้วยสนามเด็กเล่น และมีการจัดการความรู้ทักษะชีวิตและความรอบรู้ทางด้านสุขภาพของเด็กประถมศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีตำบลต้นแบบที่สามารถเป็นตัวอย่างด้านการอ่านถึง 200 โรงเรียน 51 พื้นที่ และสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาต้นแบบ 12 แห่ง และ ศูนย์ต้นแบบประจำจังหวัด ทุกจังหวัด ๆ ละ 1 แห่ง รวม 76 แห่ง
ครั้งนี้มีข้อเสนอให้มีการปรับเพิ่มบทบาทหน้าที่ของ 4 ฝ่ายปฏิบัติการในชุมชนท้องถิ่น คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ศูนย์พัฒนาครอบครัว (ศพค.) และผู้นำชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) โดยผู้รับผิดชอบงานด้านการศึกษาของ อปท. ทำหน้าที่เป็น "ผู้จัดการระบบการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น" ในบทบาทของจัดทำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ ขับเคลื่อนการดำเนินงานและยืนยันว่าเด็กได้รับการดูแลครอบคลุมทั้งหมด
"ท้องถิ่นเป็นองค์กรระดับฐานล่างสุดที่เป็นโครงสร้างบริหารประเทศ ซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายสำคัญประการหนึ่งคือ ต้องรับผิดชอบคนในพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบตั้งแต่เกิดจนตาย จึงต้องมีบทบาทสานพลัง แต่พลังภายในอาจไม่เพียงพอ ก็จำเป็นที่ต้องสานพลังกับภายนอกด้วย"
สำหรับบทบาทและข้อเสนอที่ สสส.และภาคีจะหนุนให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกัน ในครั้งนี้ รศ.ดร. ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชี้แจงว่า ทั้ง 4 ฝ่ายที่เป็นเจ้าภาพร่วม ต่างมีบทบาทสำคัญของตนเองชัดเจนโดยเฉพาะ ศพด. ในสังกัดของ อปท. ต้องเปลี่ยน 4 เปลี่ยน คือ 1.เปลี่ยนจากการสอนเป็น COACH ให้เด็กเล่นและเรียนรู้อย่างอิสระ ที่อยู่ในกติกาและมีวินัย 2.เป็นบุคคลต้นแบบให้เด็กได้เลียนแบบและเรียนรู้ผ่านลีลาชีวิตของครู 3.เปลี่ยนจากการวัดพัฒนาการ มาเป็น "การประเมินพัฒนาการของเด็กและครูทำหน้าที่เป็น COACH ส่วนตัวของเด็กและครอบครัว และ 4. จัดอาหารสำหรับเด็กทุกคนตามความเหมาะสมและตามภาวะโภชนาการของเด็กแต่ละคนเช่น เด็กอ้วน เด็กเป็นโรคภูมิแพ้ เป็นต้น ขณะที่ ศพค. ทำหน้าที่ดึงจิตอาสาและ ทุนทางสังคมมารวมตัวกัน
"จากประสบการณ์ของเราพบว่า การทำหน้าที่ของ ศพด.แบบเดิมไม่พอ วันนี้อาจต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นโค้ช (Coach) แทน เมื่อก่อนครูอาจเป็นเพียงผู้สอนแต่ไม่ได้ เป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็ก ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถ เป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้ปกครองด้วย ในด้านการวัดพัฒนาการก็ไม่เพียงพอแล้ว จะต้องมีการติดตามเด็กต่อเนื่องแบบรายบุคคลทั้งที่บ้านและโรงเรียน เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลออกแบบการส่งเสริมพัฒนาการให้เหมาะสม กับเด็กแต่ละคน ขณะที่ รพ.สต. จริง ๆ แล้วเขามีภารกิจเพื่อแม่และเด็กอยู่ แต่เป็นในด้านบริการดูแลเมื่อเจ็บป่วย วัคซีนป้องกันโรค หากสิ่งที่เราหวังมากขึ้น คือการให้ รพ.สต.ทำงานร่วมกับพ่อแม่เด็กและชุมชน เพื่อป้องกันปัญหาหรือโรคภัยที่อาจเกิดกับเด็ก ขณะที่ ศพค. จะเป็นกลไกช่วยในการรับบทบาทช่วยเหลือกรณีที่เกินกว่าที่หน่วยอื่น ๆ จะรับมือได้ เปรียบเสมือนหน่วยฉุกเฉิน ช่วยเหลือ อาทิ กรณีความรุนแรงกับเด็ก หรือเมื่อพ่อแม่เด็กเสียชีวิตควรจะดำเนินการเช่นไรต่อ ดังนั้น ถ้าหลายแห่งไม่มีควรรีบจัดตั้งเสีย"
ด้าน ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สสส.) เอ่ยถึงที่มาของการที่ชักชวนท้องถิ่นลุกขึ้นมาปรับกระบวนทัศน์ชนิดยกเครื่องครั้งนี้ว่า เพราะระบบการศึกษาไทยถูกมองแบบภาพรวมมานาน ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับบริบทของยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนไปในขณะนี้ มองว่าการเรียนรู้และการพัฒนาของเด็กในแต่ละชุมชนควรต้องเริ่มและทำโดยชุมชนเอง และส่งเสริมในรายบุคคล จึงจะเกิดประสิทธิผลและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาศักยภาพ
"ในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่เองก็มีการทำเรื่องนี้มาบางส่วนแล้ว กว่าสองปีที่ผ่านมา ซึ่งจากประสบการณ์ทำงานเรามองว่านี่เป็นต้นทุนสำคัญ และเราพบว่าในช่วง 5-10 ปีนี้ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มันจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบางอย่างที่เราไม่เคยได้ ปรับเปลี่ยนมานานแล้ว"
เสริมด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "ตอนนี้สังคมไทยเราต้องการความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเปลี่ยนจากกระบวนการเดิมที่เราเคยใช้กันมา ที่ทุกอย่างเป็นไปตามกฎเกณฑ์หรือกรอบ มาเป็นวิธีการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของประเทศชาติและโลก"
ในความเป็นจริง เด็กทุกคนต้องมีอิสระทางความคิด มีจินตนาการซึ่งเป็นบ่อเกิดสำคัญของการเรียนรู้และมีความรู้ โดยความคิดจากการเล่นจะพัฒนากลายเป็นความรู้ที่สร้างการค้นพบตัวเองของเด็ก ๆ ในหลากหลายมิติ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคม มานุษยวิทยา หรือภาษา
"การพัฒนามนุษย์ที่ดีที่สุดจะต้องพัฒนาตามสิ่งที่มนุษย์มีพื้นฐานอยู่แล้ว อย่าพัฒนาแบบองค์รวม เพราะเราไม่ใช่หุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์ ผมจึงพัฒนาการเล่นสร้างปัญญาขึ้น ที่ไม่เพียงจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการเท่านั้น แต่ยังสร้างความร่วมมือและความสามัคคีให้เกิดขึ้นในสังคม เพราะเด็กต้องเล่น ต้องได้รับความรักความอบอุ่น มีเวลาที่เขาได้รับความสุขเพื่อให้เป็นรากฐานของปัญญาและพัฒนาการไปตามธรรมชาติจากการเชื่อมโยงจากสิ่งรอบตัว ธรรมชาติเป็นของเล่นได้หมดโดยใช้จินตนาการ ซึ่งเมื่อเขาเป็นตัวของตัวเอง พอเขาอายุ 8 ขวบ ก็จะค้นพบตัวเองว่าเป็นใคร ต้องการอะไร" อาจารย์ดิสสกร กล่าว
สำหรับภาคีที่เข้ามาช่วยเติมองค์ความรู้ด้านพัฒนาการเด็กให้กับชุมชนอีกราย อย่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏ เผยผลงานว่า จากการดำเนินงานร่วมกันของโรงเรียน จำนวน 200 แห่ง และมหาวิทยาลัยราชภัฏ 9 แห่ง โดยใช้กลยุทธ์ของการส่งเสริมการอ่านและการเขียนของเด็กชั้นประถมศึกษาที่มีการสอดแทรกข้อมูลความรู้ทางด้านสุขภาพ จากการประเมินโดยคุณครูและนักวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ผลการประเมินด้านการอ่านออกเขียนได้โดยภาพรวมดีขึ้น
"กว่า 150 โรงเรียนที่เราทำงานด้วย พบว่าสามารถส่งผลเรื่องความรอบรู้อ่านออกเขียนได้สูงขึ้น แต่สำหรับด้านความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) อาจไม่เด่นชัด เราจึงอยากให้ท้องถิ่นมาร่วมมือกัน ช่วยการส่งเสริมระบบสุขภาวะ" ผศ.ดร.จรีรัตน์ สุวรรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวในฐานะตัวแทน
หนึ่งเสียงสะท้อนของคนที่ต้องรับบทบาท "ผู้จัดการระบบการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น" สมาน วังแสง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเจดีย์ชัย อำเภอปัว จังหวัดน่าน เอ่ยว่า ปัจจุบันมีเด็กแรกเกิดถึง 5 ปีที่ต้องดูแลในชุมชนประมาณ 120 คน ซึ่งตามกฎหมาย หน้าที่ของท้องถิ่นอาจคือการส่งเสริมเฉพาะการศึกษาและคุณภาพชีวิต แต่ถ้ามองดูในมิติลึกกว่าแล้ว สิ่งนี้คือ สำนึกร่วมของสังคม
"เพราะเด็กคือทรัพยากรสำคัญของสังคมเรา เป็นของขวัญที่เราต้องทำให้เขาให้ดี ถ้าอยากได้สังคมดีต้องช่วยกัน ร่วมสร้าง ถ้าทุกคนไม่ทำ สุดท้ายก็ต้องกลับมาแก้ปัญหาที่ลุกลามขึ้น ไม่คุ้ม ยิ่งกว่าเดิม" สมาน เอ่ย
แม้ปัจจุบันอัตราการเกิดในชุมชนจะลดมีน้อยลง โดยมีเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 15 ปี เพียงแค่ 14% ตรงข้ามกับอัตราผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นถึง 17% แซงหน้าอัตราเกิดไปเรียบร้อยแล้ว แต่สาเหตุที่คนเจดีย์ชัยหันมาใส่ใจเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการและระบบการดูแลเด็กในชุมชนท้องถิ่น สมาน เผยว่า
"เราเชื่อว่าเป็นการลงทุนที่ดีและคุ้มค่านะ เด็กออกมาจะได้ไม่เป็นปัญหาในสังคม ลองคิดดูว่าหากชุมชนเราได้เด็กเกเรมาคนหนึ่ง เราจะต้องใช้การลงทุนแก้ปัญหานี้แค่ไหน ถ้าคิดเป็นเงินแค่หมื่นหนึ่งคงไม่พอ แต่ถ้าเราเริ่มตั้งแต่แรก ใช้เงินมาลงทุนกับเขาตั้งแต่ยังยังอยู่ในท้อง ส่งเสริมระบบที่สร้างพัฒนาการที่ดี ผมว่าหมื่นเดียวพอนะ และคุ้มกว่า เพราะเราไม่ต้องเจอปัญหาแม่วัยใส เด็กติดยาหรือปัญหาอาชญากรที่ตามมา ฉะนั้นถ้าถามว่า เราได้ประโยชน์อะไรน่ะหรือ เราเชื่อว่าเราได้สังคมที่ดีอย่างแน่นอน" เขากล่าวทิ้งท้าย