ยกอันดับขีดความสามารถ ด้านการศึกษาของไทย

ที่มา : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล


ศธ.เล็งทบทวนตัวชี้วัด 7 ด้าน พร้อมจัดระบบข้อมูลเชื่อมโยงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หวังยกอันดับความสามารถด้านการศึกษาเทียบเพื่อนบ้านเอเชีย


ยกอันดับขีดความสามารถ ด้านการศึกษาของไทย thaihealth


ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยกอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทย ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ว่า เรื่องของความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทุกอย่าง


ขณะนี้ประเทศไทยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการยกอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้สูงขึ้น โดยการจัดอันดับของสถาบัน World Economic Forum (WEF) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเรื่องของการศึกษาก็เป็นตัวชี้วัดหนึ่งของการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย (Global Competitiveness Index) ที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องรายงานการดำเนินงานไปยังสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD (International Institute for Management Development) เพื่อรวบรวมสรุปจัดทำเป็นรายงานการจัดอันดับ (Global Competitiveness Report) ต่อไป


ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า รายงานนี้เองที่จะส่งผลต่อการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตาม ต้องพิจารณาถึงศักยภาพในมิติต่าง ๆ รวมถึงการศึกษาด้วยว่า สามารถพัฒนาศักยภาพคุณภาพของกำลังคน ตลอดจนทักษะ ความรู้ความสามารถรองรับการทำงานได้มากน้อยเพียงใด


ซึ่งต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาของไทยในภาพรวม ยังอยู่ในอันดับที่ไม่น่าพึงพอใจมากนัก ในขณะที่อันดับของประเทศเอเชียมักติดอยู่เป็น 1 ใน 7 อันดับแรกในหลาย ๆ ตัวชี้วัด ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น นั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศในเอเชียมีศักยภาพมาก ดังนั้น ศธ.เองจะนิ่งนอนใจไม่ได้ กลับยิ่งต้องทบทวนการดำเนินงานเพื่อเร่งพัฒนาขีดความสามารถรวมทั้งการจัดอันดับให้ดีขึ้น


โดยที่ประชุมได้มีการหารือเพื่อปรับระบบการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องของข้อมูลด้านการศึกษาให้มีความครบถ้วนมากขึ้น มีความเชื่อมโยงตลอดจนการบูรณาการข้อมูลระหว่างองค์กรหลักที่เกี่ยวข้อง อย่างสอดคล้องกลมกลืน พร้อมเตรียมตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน และมีผู้แทนจากองค์กรหลักตลอดจนผู้เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เพื่อทำหน้าที่บูรณาการและปรับปรุงข้อมูลภายในระหว่างองค์กรหลักให้มีความถูกต้องครบถ้วน ก่อนที่ สกศ.จะรวบรวมส่งต่อข้อมูลเชื่อมโยงไปยัง IMD และ UNESCO อันจะทำให้ข้อมูลด้านการศึกษาของไทยมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์การแข่งขันระดับนานาชาติได้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา


นอกจากนี้ ได้มีการทบทวนตัวชี้วัดในความรับผิดชอบหลักของ ศธ. จำนวน 7 ตัวชี้วัด ให้สามารถตอบคำถามได้ตรงจุดถูกประเด็นมากที่สุด ได้แก่ 1) ร้อยละของนักเรียนมัธยมศึกษาต่อประชากรในวัยเรียน 2) ผลการทดสอบ PISA 3) การศึกษาระดับอุดมศึกษาที่สามารถตอบสนองความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ 4) ทักษะทางภาษาที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ 5) ระบบการศึกษาของประเทศที่สามารถตอบสนองความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ 6) การให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน และ 7) อัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจร่วมกัน ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถรวบรวมข้อมูลตอบโจทย์ตัวชี้วัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อคะแนนและอันดับความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น และในอนาคตหากมีการวางแผนการทำงานให้มีความต่อเนื่อง ก็จะทำให้อันดับความสามารถสูงขึ้นได้อย่างแท้จริง


นายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ. ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามตัวชี้วัดด้านผลการทดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) โดยได้จัดตั้งศูนย์ PISA ในกำกับสำนักทดสอบทางการศึกษาขึ้น เพื่อเตรียมการสำหรับการร่วมประเมิน PISA ประจำปี 2018 โดยได้จัดกิจกรรมต่อเนื่องมากว่า 2 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ผลการทดสอบที่ผ่านมาเพื่อการปรับปรุง การพัฒนาโรงเรียนในเรื่องเนื้อหาสาระการทดสอบทั้ง 3 ด้าน ตลอดจนจัดหาวิทยากรเพื่ออบรมและเตรียมการสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนเป้าหมายทั้ง 145 แห่ง ในส่วนการสนับสนุนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน ได้ดำเนินขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องใน 3 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการนักวิทยาศาสตร์น้อย, โครงการส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย และครูวิทยาศาสตร์ ทั้งครูประจำการและจัดสรรอัตราครูวิทยาศาสตร์แก่โรงเรียนขาดแคลนกว่า 3,000 อัตราต่อปี


นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เพื่อให้การนำเสนอข้อมูลด้านการศึกษาที่มีอยู่อย่างมากมายได้อย่างครบถ้วนและตอบได้ตรงคำถาม ที่ประชุมจึงเสนอให้มีการตั้งทีมข้อมูลด้านการศึกษาของไทย โดยมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา มิใช่ ศธ.เพียงอย่างเดียว อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน เชื่อมโยงกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาบูรณาการร่วมกัน พร้อมวิเคราะห์ผลการจัดอันดับที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงจุดอ่อนและพัฒนาจุดแข็งให้สามารถตอบคำถามตัวชี้วัดได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะส่งผลต่ออันดับที่สูงขึ้นบนฐานข้อมูลที่เป็นจริงและเป็นปัจจุบันมากที่สุด

Shares:
QR Code :
QR Code