ยกระดับโมเดลสุขภาวะแรงงานข้ามชาติ ด้วยพลังจิตอาสา

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ยกระดับโมเดลสุขภาวะแรงงานข้ามชาติ ด้วยพลังจิตอาสา thaihealth


แฟ้มภาพ


จากสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประชากรกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาวะเทียบเท่ากับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19


โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับ มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจสถานการณ์ทางสุขภาพของแรงงานข้ามชาติที่วัดจากเครื่องมือวัดระดับความรอบรู้ ด้านสุขภาพ 3 อ. 2 ส. พบแรงงานข้ามชาติ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพอยู่ในระดับไม่ดี ร้อยละ 92.71 และเข้าไม่ถึงการรักษา ในโรงพยาบาล


ในเรื่องนี้ ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. เผยข้อมูลในช่วงของการลงพื้นที่ มอบชุด Home Isolation เพื่อนกันวันติดโควิด 850 ชุด ให้แก่ตัวแทนอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.) เพื่อนำไปส่งต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ขาดโอกาสเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันจำเป็นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนเทียนทะเล 26 ว่า จากการขับเคลื่อน ประเด็นสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่เป็นการทำมาต่อเนื่องกับแรงงานในพื้นที่ 13 จังหวัดทั่วประเทศ สสส.พยายามที่ส่งเสริมและสื่อสาร ให้แรงงานเข้าใจในเรื่องสุขภาวะ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแกนนำสุขภาพ ส่งเสริมให้โอกาสการส่งเสริมความรู้สุขภาพ เป็นต้น


แรงงานข้ามชาติต้องรู้ข้อมูลสุขภาพเท่าคนไทย


"จริง ๆ สสส.เคารพวัฒนธรรม และ วิถีชีวิตที่แตกต่าง เราเข้าใจดีว่าพี่น้องแรงงานข้ามชาติเองก็มีวิถีของตัวเอง  แต่หลายเรื่องด้านสุขภาพยังจำเป็นต้องปรับปรุง หรือปรับสู่การดูแลสุขภาพที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น สสส. จึงพยายามส่งเสริม เช่น การเลือกรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง วิธีการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องรวมถึงการป้องกันโรค ซึ่ง สสส. มีการดำเนินงานต่อเนื่องมากว่าสิบปีแล้ว เพราะมองว่าหากจะมาเริ่มทำตอนระบาดหรือวิกฤติคงไม่ทันการณ์"


สำหรับบางขุนเทียนเป็นอีกพื้นที่นำร่องที่ สสส. ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะใกล้กรุงเทพฯ สะดวกในการประสานงาน ซึ่งในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 สสส.จึงมีการการประสานเร่งด่วน กับภาคีในพื้นที่และเครือข่ายในการจัดตั้งศูนย์พักคอยฯ นำยาเวชภัณฑ์ รวมถึงการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการดูแลป้องกันตัวเองสำหรับพี่น้องแรงงานข้ามชาติ


ภรณีเอ่ยต่อถึงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่บางขุนเทียนว่า   มีแรงงานข้ามชาติประมาณห้าพันคน โดยจากการตรวจเชื้อพบประมาณสี่ร้อยคน แต่คาดว่ามีผู้ติดเชื้อมากกว่านั้น ซึ่งปัญหาคือแรงงานข้ามชาติยังมีความกลัวในการเข้ารับบริการภาครัฐอยู่ และศูนย์ดูแลอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น การกักตัวที่บ้านเป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจเหมาะกับวิถีชีวิตของพวกเขา


"ฉะนั้นสิ่งสำคัญอย่างมากคือให้ความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันและรักษา สสส.จึงพัฒนาคู่มือดูแลตัวเอง ในสถานการณ์โควิด-19 เป็นภาษาต่างชาติซึ่งรวมทั้งภาษาพม่าและภาษาชาติพันธุ์อื่นๆ กว่าสิบภาษา เนื่องจากเรามองว่าสื่อสุขภาพมีความสำคัญ ถ้าเราทำสื่อให้คนไทยว่าต้องรู้อะไร แรงงานข้ามชาติก็ต้องรู้ข้อมูลที่เหมือนกัน" ภรณี กล่าว


ลุย 3 มาตรการเชิงรุก พัฒนา Home Community Isolation


เสียงสะท้อนจากคนทำงานในพื้นที่ สำเริง สิงห์ผงาด เจ้าหน้าที่ภาคสนาม มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เล่าการทำหน้าที่ช่วยแรงงานข้ามชาติว่า ชุมชนเทียนทะเล ซอย 26 เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรม มีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่ในสถานประกอบการถึงร้อยละ 90 ที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชนมีความรุนแรงส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่มูลนิธิศุภนิมิตฯ ร่วมกับ สสส. และสถานประกอบการเร่งเฝ้าระวังอัตราการป่วยและเสียชีวิตเพิ่มในพื้นที่ โดยผลักดันมาตรการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ผ่านการทำงานของ อสต. โดยมีแนวทางการทำงาน 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1.จัดตั้งจุดตรวจคัดกรองคนเข้า-ออกพื้นที่ 2.ลงพื้นที่ตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกโดยใช้ชุดตรวจการติดเชื้อโควิด-19 หรือ Antigen test kit (ATK) และ 3.มาตรการกักตัวผู้ติดเชื้อ ด้วยระบบ Home Community Isolation พร้อมติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อแยก ผู้ติดเชื้อออกจากสมาชิกในครอบครัวหยุดการแพร่ระบาดในชุมชนวงกว้าง เพื่อช่วยเหลือให้ชุมชนมีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด


ด้านลัดดาวัลย์ หลักแก้ว มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท อีกหนึ่งภาคีที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. บอกถึงปัญหาที่ทับซ้อนในช่วงโควิด-19 ว่า สถานการณ์ตอนนี้มีความผ่อนคลายลงมากกว่าเมื่อสองเดือนก่อน เช่นเดียวกับสถานการณ์ระดับประเทศ แต่หากเป็นช่วงสองเดือนก่อนหน้าชุมชนตรงนี้แทบเหมือนพื้นที่ร้าง


"เรียกว่าแทบจะติดกันทุกครอบครัวทุกคนก็กักตัวอยู่บ้านใครบ้านมัน แต่วันนี้เริ่มมีคนมาจับจ่ายใช้สอย สถานประกอบการต่างๆ ก็เริ่มเปิด แต่ก่อนที่จะเปิดเรามีการเตรียมตัวเองกัน อาทิ การลงพื้นที่ตรวจเชิงรุก ก่อนที่ทุกคนจะเริ่มออกมาใช้ชีวิตตามปกติและไปทำงาน โดยหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ก็มีการคัดกรองเป็นระยะ" ลัดดาวัลย์ กล่าวต่อว่า   ส่วนใหญ่แรงงานเป็นคนแข็งแรง เมื่อป่วยก็ไม่มีอาการหนักมากหรืออยู่ในระดับสีเขียวที่ดูแลตัวเองได้


"แต่บริบทของเขาคือกลุ่มที่มีความเสี่ยงทั้งในด้านการรับเชื้อและแพร่เชื้อ เพราะเขาไม่รู้ภาษาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และที่พักอาศัยมีลักษณะค่อนข้างแออัด และยังมีพี่น้องบางส่วนที่ยังมีความยากลำบากมาก ไม่เข้าถึงอะไรเลย ทำให้มีความยากลำบากในการที่จะกลับเข้าไปทำงาน เพราะนายจ้างก็มองความเสี่ยงว่าจะนำไปติดเพื่อนในที่ทำงาน"


"สิ่งสำคัญคือการป้องกัน" ปัจจุบันสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ จะมีการคัดกรองทุกสองสัปดาห์หรือหนึ่งเดือน ส่วนขนาดเล็กๆ  หรือร้านค้าต่างๆ ยังมีปัญหาเรื่องการตรวจคัดกรองพอสมควร


"แต่เนื่องจากโซนนี้จะเป็นสถานประกอบการขนาดเล็กค่อนข้างเยอะและมีสภาพแออัด ดังนั้นในที่ทำงานเองยังลำบากที่จะเว้นระยะห่าง ซึ่งเราพยายามเข้าไปดำเนินการประสานกับนายจ้างเพื่อทำอย่างไรไม่ให้เกิดการระบาดในที่ทำงาน และลุกลามเข้ามาในชุมชน นั่นคือการสร้างกลไก สร้างแกนนำที่ช่วยเป็นผู้ที่เฝ้าระวังและป้องกัน โดยเฉพาะการพยายามสื่อสารแนวทางป้องกันตนเองให้กับพนักงานและสถานประกอบการจากการแพร่ระบาด ที่ผ่านมาก็มีโกลาหลบ้างช่วงแรก แต่อีกมุมหนึ่งทุกฝ่ายก็เรียนรู้และเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ว่าสิ่งสำคัญคือการป้องกัน ไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อว่าเขาต้องสกัดกั้นให้ทันให้ไว" ลัดดาวัลย์เอ่ย


ส่วนในเรื่องวัคซีนยังมีทั้งผู้ได้รับแล้วและยังไม่ได้รับ เพราะขึ้นอยู่กับการรับสิทธิทางสุขภาพส่วนบุคคล และสถานประกอบการ หากเป็นสถานประกอบการที่มีระบบ ก็จะมีสิทธิประกันสุขภาพให้พนักงาน แต่แรงงานอีกส่วนที่นายจ้างเอง ยังไม่สามารถประสานให้ตัวเองและพนักงานเข้าถึงวัคซีนก็มีไม่น้อย บางรายอาจยินดีที่จะเป็นผู้ออกค่าวัคซีนให้พนักงาน บางคนมีน้อยก็คนละครึ่ง แต่ก็มีบางรายอาจไม่มีศักยภาพหรือกำลังพอบ้างก็ผลักภาระให้แรงงานไปหาฉีดวัคซีนเองก่อนจะมาทำงาน ตัวแรงงานบางส่วนมีปัญหาเรื่องการทำเอกสารที่ยากเข้าถึงตั้งแต่การลงทะเบียน เพราะไม่เข้าใจภาษา


"เดิมแรงงานอาจมีทัศนคติไม่อยากรับวัคซีนจากความเชื่อบางอย่าง แต่หลังจากมีการสื่อสารมากขึ้น เขาก็เปิดรับและเข้าใจมากขึ้นว่าวัคซีนมีความสำคัญ และทำให้ มีความต้องการวัคซีน แต่ปัญหาตรงนี้อยู่ที่การเข้าถึงวัคซีนแล้ว" ลัดดาวัลย์สะท้อนภาพจริงจากพื้นที่


ไม่รู้ = ไม่เข้าใจ เปลี่ยนทัศนคติสุขภาพ ด้วย อสต.


ความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนเชื้อชาติเดียวกันทำให้พี่น้องแรงงานข้ามชาติ เปิดใจที่จะสื่อสาร ซึ่งในพื้นที่บางขุนเทียนนี้ ยังมีแกนนำอย่างเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว หรือ อสต.ขับเคลื่อนบทบาทดังกล่าว


นนท์ ประฮิต๊ะ เล่าถึงแรงบันดาลใจกับการก้าวเข้ามาเป็น อสต.ของเขาว่า  หลังได้เห็นว่าพี่น้องแรงงานส่วนใหญ่ต้องเผชิญปัญหาทั้งตกงาน ทั้งป่วยแล้วจะหาที่รักษาตัวเองยาก บางคนก็สื่อสารไม่ได้พูดไทยไม่ได้ อ่านไม่ได้หลายปัญหา แล้วส่งผลกระทบต่อชีวิตและเศรษฐกิจ จึงตัดสินใจทำงานอาสาสมัครเต็มตัว


"เดิมทีผมเป็นอาสาสมัครชุมชนทีนี้พอทางเจ้าหน้าที่ศุภนิมิตมาชวน เพราะผมอ่านภาษาไทยได้ก็เลยสมัครใจมา เขาอบรมให้เราซึ่งหน้าที่เราคือการเข้าไปคุยกับแรงงานว่ามีปัญหาอะไร บางคนตกงาน มีปัญหาสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ลำบาก เราก็ประสานเจ้าหน้าที่ต่างๆ ไป และให้ข้อมูลด้านสุขภาพแก่เขาบ้าง เช่น วิธีการป้องกันทำอย่างไรไม่ให้ติด บางกลุ่มก็พอทราบ แต่บางคนเองก็ไม่มีความรู้เลย ถามว่าเขาให้ความร่วมมือเราดีไหม คนที่รู้จักจะให้ความร่วมมือเราดี แต่บางคน ก็กลัวไม่กล้าพูดคุยก็มี เราเองใช้เวลาหลายครั้งกว่าเขาจะยอมรับ"


เกตี เป็นเสียงของตัวแทนฝั่งแรงงานข้ามชาติ ที่มาเล่าถึงประสบการณ์ที่ตนเองติดโควิด-19 ว่า ในตอนแรกก็ไม่รู้โควิด-19 คืออะไร แต่ได้ยินชื่อก็กลัวเหมือนกันเพราะไม่รู้จัก


"แต่พอเริ่มรู้มันก็ลามไปทั่วแล้ว ตอนเป็นก็รู้สึกปวดหัวเจ้าหน้าที่เขามาตรวจให้เลยรู้ว่าเป็น ก็พยายามอยู่ห้องกักตัวแต่หนูไม่เครียดนะใช้ใจสู้ กินยา ลดไข้ ต้มยาสมุนไพร พอ 14 วันก็ดีขึ้น แต่ตอนนี้เราเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าต้องป้องกัน เราใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือทุกครั้ง มีแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค เดี๋ยวนี้เวลากินข้าวก็แยกกันกินแล้ว ป้องกันไว้ก่อน เพราะเวลาติดไม่ใช่เราคนเดียวที่เดือดร้อน"


ด้านภาสวรรณ สังฆสุบรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์กิจการสร้างสุข สสส. กล่าวว่า ศูนย์กิจการสร้างสุขเป็นหน่วยงาน พิเศษที่ สสส.ตั้งมาเพื่อรับผิดชอบด้านยุทธศาสตร์เชิงรุกของสำนักต่างๆ ในการดูแลสุขภาวะคนไทย


"เชื่อว่าโควิด-19 ยังคงจะอยู่กับเราคนไทยไปอีกพักหนึ่ง ดังนั้นเพื่อสนับสนุนสำนักต่างๆ ไม่ได้มองแค่การจัดชุด Home Isolation เรายังมีการจัดชุดตรวจเชิงรุก ซึ่งขณะนี้เรายังเล็งที่จะกระจายสู่กลุ่มเปราะบาง 3,700 ชุดทั่วประเทศอีกด้วย" ภาสวรรณ เอ่ยทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code