ยกระดับมาตรฐานแหล่งทรัพยากรธรรมชาติไทย
ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เดินหน้ายกระดับมาตรฐานแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยสู่ UNESCO’s Triple Crown หรือ ดินแดนแห่ง 3 มงกุฎ
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนยกระดับความยั่งยืนด้านมาตรฐานคุณภาพตามแนวทางของ องค์การยูเนสโก ของแหล่งมรดกโลก พื้นที่สงวนชีวมณฑล และอุทยานธรณีในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อนำสู่คุณค่าระดับผู้นำโลกในลักษณะดินแดนแห่ง 3 มงกุฎ หรือ UNESCO’s Triple Crown ในอนาคต ถือเป็นการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับทุกภาคส่วน พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน และทำกิจกรรมพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช และพื้นที่อุทยานธรณีโคราช
สำหรับรูปแบบ UNESCO’s Triple Crown คือ รูปแบบการอนุรักษ์พื้นที่ตามโปรแกรมงานของยูเนสโก 3 โปรแกรม ประกอบด้วย มรดกโลก (World Heritage) พื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve Area) และอุทยานธรณีโลก(Geopark) ซึ่งปัจจุบันมีประเทศที่มีพื้นที่ได้รับการรับรองการอนุรักษ์พื้นที่ตามโปรแกรมงานดังกล่าวแล้ว คือ เกาหลีใต้ อิตาลี และจีน ส่วนพื้นที่จังหวัดนครราชสีมามีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับการรับรองแล้ว 2 โปรแกรม คือ พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช ได้การรับรองปี 2519 และมรดกโลกทางธรรมชาติ กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ได้การรับรองปี 2548 โดย 2 พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่มีคุณค่าและความโดดเด่นทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากอุทยานธรณีโคราชได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลก ส่งผลให้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 4 ที่มีพื้นที่ที่มีรูปแบบการอนุรักษ์แบบ UNESCO’s Triple Crown โดยสมบูรณ์
รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวย้ำว่า รูปแบบการอนุรักษ์ของอุทยานธรณีโลก เป็นรูปแบบการอนุรักษ์ใหม่โดยใช้ธรณีวิทยาในการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชน ด้วยการเชื่อมโยงส่วนประกอบต่างๆเข้าด้วยกัน เช่น วิถีชุมชน วัฒนธรรม โบราณคดี การท่องเที่ยว ขณะเดียวกันอุทยานธรณีโคราชน มีพื้นที่ 5 อำเภอ คือ สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมา และเฉลิมพระเกียรติ มีความโดดเด่นด้านธรณีวิทยา อย่างหินประเภทต่างๆ ภูเขา หน้าผา น้ำตก ซากดึกดำบรรพ์ แหล่งท่องเที่ยวทางเชิงวัฒนธรรม ดังนั้น ภาคส่วนต่างๆ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการเสนออุทยานธรณีโคราชเป็นอุทยานธรณีโลก เพื่อนำไปสู่การรับรองจังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ที่มีรูปแบบการอนุรักษ์ในแบบ UNESCO’s Triple Crown แล้วทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามระดับสากล