ม.อุบลผนึก สสส.จัดโรงเรียนเฮ็ดดีมีสุข

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด 


ม.อุบลผนึก สสส.จัดโรงเรียนเฮ็ดดีมีสุข  thaihealth


ม.อุบลผนึก สสส.จัดโรงเรียนเฮ็ดดีมีสุข ยกระดับการศึกษา สุขภาพครบ 5 องค์ประกอบ


ดร.ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะหัวหน้าโครงการการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนสุขภาวะภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะศิลปศาสตร์ กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า จากรายงานดัชนีความก้าวหน้าของคนปี 2558 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) ในภาพรวมระดับภาค พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความล้าหลังด้านการศึกษามากกว่าทุกภาค เมื่อเปรียบเทียบ ความก้าวหน้าของคนด้านการศึกษาเฉพาะจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด 20 จังหวัด โดยใช้ดัชนีด้านการศึกษาเป็นเกณฑ์ในการประเมิน พบว่า 5 จังหวัดที่มีความล้าหลังด้านการศึกษามากที่สุดคือ หนองบัวลำภู บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ และร้อยเอ็ด ส่วนด้านสุขภาพ 5 จังหวัดที่มีความล้าหลังมากที่สุดคือ เลย ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์ ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าภาคอีสานโดยเฉพาะในเขตอีสานตอนล่างยังต้องการ การพัฒนาทั้งด้านการศึกษาและสุขภาพ


ม.อุบลผนึก สสส.จัดโรงเรียนเฮ็ดดีมีสุข  thaihealth


ดร.ปิ่นวดี กล่าวต่อว่า จากข้อมูลดังกล่าว ม.อุบลฯ ในบทบาทของมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น เล็งเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนภาคอีสาน จึงได้จัดทำโครงการการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนสุขภาวะภาคอีสานตอนล่าง มีชื่อเรียกว่า "โรงเรียนเฮ็ดดี มีสุข" โดยมีสถานศึกษาใน จ.ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เข้าร่วมจำนวน 49 โรงเรียน ขณะที่มหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่สนับสนุนให้มีการบริหารจัดการและจัดกระบวนการกิจกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียนที่ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการพัฒนา บูรณาการแนวทางเรียนรู้โดยใช้โครงการเป็นฐาน ลดพฤติกรรมเสี่ยงและเพิ่มพฤติกรรมสุขภาพทั้งด้านกาย จิต สังคม และสติปัญญา เพื่อสร้างโรงเรียนสุขภาวะที่มีองค์ประกอบครบทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ผู้เรียนเป็นสุข ครอบครัวเป็นสุข โรงเรียนเป็นสุข ชุมชนเป็นสุข และสภาพแวดล้อมเป็นสุข


ทั้งนี้ โครงการการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนสุขภาวะภาคอีสานตอนล่าง จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดโรงเรียนสุขภาวะที่มี 5 องค์ประกอบดังกล่าว สร้างชุมชน แห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูและผู้บริหารโรงเรียน โดยมุ่งพัฒนาครูที่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งใช้กระบวนการเรียนรู้เชิงรุกเป็นเครื่องมือพัฒนาเด็กและเยาวชนในโรงเรียนให้กลายเป็นผู้เรียนที่เป็นสุข และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชนและพัฒนาหลักสูตรตลอดจนคู่มือส่งเสริมการบริหารงานและจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนสุขภาวะ

Shares:
QR Code :
QR Code